In Focus"แลร์รี เพจ" รีเทิร์น กูเกิลผลัดใบในซิลิคอน วัลเลย์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 26, 2011 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หากปลายพุทธศักราช 2553 หนุ่มวัย 26 ปีที่ชื่อ "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์อันลือลั่นอย่าง "เฟซบุ๊ก" คือบุคคลสำคัญที่สร้างสีสันให้กับแวดวงไอที จนได้รับตำแหน่งการันตีให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์

ต้นศักราช 2554 ชายวัย 38 ปีที่ชื่อ "แลร์รี เพจ" ผู้ร่วมก่อตั้งเสิร์ชเอนจิ้นบรรลือโลกอย่าง "กูเกิล" กำลังจะก้าวขึ้นเป็นบุคคลที่ถูกทั่วโลกจับตามองมากที่สุด ในฐานะว่าที่ซีอีโอคนใหม่ซึ่งหวนกลับมารับตำแหน่งเดิมอีกครั้ง หลังจากที่เจ้าตัวเคยนั่งเก้าอี้นี้ในช่วงแรกก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2541-2544

การประกาศเปลี่ยนหัวเรือใหญ่ของกูเกิลถือเป็นข่าวสะท้านวงการไอที ที่สะท้อนถึงวัฎจักรแห่งการผลัดใบในซิลิคอน วัลเลย์ หลังจากที่กว่าทศวรรษที่ผ่านมา กูเกิลเติบโตขึ้นมาอย่างสง่างามจากความสามารถด้านการบริหารงานของอีริค ชมิดท์ (Eric Schmidt) และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา In Focus ครั้งนี้จึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวน่ารู้ของว่าที่ซีอีโอผู้นี้ ก่อนที่จะกลับไปทำงานท่องเน็ต และเข้าเว็บกูเกิลเพื่อหาค้นข้อมูลอย่างไร้ขีดจำกัดกันต่อไป

แลร์รี เพจ และเซอร์เก บริน...สองเกลอแห่งกูเกิล

นับตั้งแต่โจฮัน กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมนีได้คิดค้นเครื่องพิมพ์โลหะเพื่อให้มนุษย์ได้เพลิดเพลินกับการอ่านตัวอักษรในหนังสือเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนเป็นจุดเริ่มต้นของ "การปฏิวัติภูมิปัญญา" ของชาติตะวันตกอย่างแท้จริงนั้น ยังไม่มีสื่อใดที่ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลบนโลกไซเบอร์ได้อย่างง่ายดายจวบจนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อกูเกิลแจ้งเกิดและกลายเป็นที่จดจำมาจนถึงทุกวันนี้

ใคร: แลร์รี เพจ (Larry Page) และ เซอร์เก บริน (Sergey Brin) คู่ควรอย่างยิ่งกับตำแหน่งบิดาแห่งเสิร์ชเอนจิ้น ในฐานะที่ทั้งคู่ร่วมก่อตั้งบริษัทกูเกิลขึ้นมา ซึ่ง ณ เวลานั้นทั้งสองเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่กำลังหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์

อะไร: ความยุ่งยากและวุ่นวายในการหาข้อมูลในสมัยก่อนคือจุดเริ่มต้นของเว็บไซต์ที่กลายเป็นผู้ช่วยในการสืบค้นข้อมูลที่มีชื่อว่า กูเกิล อันกลั่นกรองจากมันสมองและสองมือของเพจซึ่งมีความสนใจเรื่องอินเทอร์เน็ต ขณะที่เซอร์เกสนใจด้านการค้นหาและการจัดการข้อมูล

ที่ไหน: จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า โรงจอดรถชั่วคราวแห่งหนึ่ง คือ ต้นกำเนิดของ "กูเกิลเพล็กซ์" ออฟฟิศสุดเก๋ที่คนทำงานทั่วโลกใฝ่ฝันจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน และยังเป็นต้นแบบของสมาร์ทออฟฟิศที่เต็มไปด้วยของใช้ไฮเทคที่กูเกิลประเคนให้กับพนักงาน รวมถึงสวัสดิการระดับ 5 ดาว ทั้งอาหารมื้อหรูที่สามารถสั่งทานได้ทุกเมื่อเพื่อให้เหล่า "กูเกลอร์ส" (googlers) มีประสิทธิภาพการทำงานที่ยอดเยี่ยมพร้อมปลดปล่อยไอเดียสุดบรรเจิดเพื่อผลลัพธ์สุดเจ๋งอย่างที่เป็นอยู่

อย่างไร: ในช่วงที่กูเกิลยังอยู่ในวัยตั้งไข่ แลร์รี เพจได้ทำหน้าที่ซีอีโอเป็นคนแรก จนกระทั่งผู้สนับสนุนเงินทุนแก่กูเกิลยืนยันให้ดึงคนนอกมาทำหน้าที่ซีอีโอมาร่วมสร้างภาพลักษณ์ความรับผิดชอบที่แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะที่สูงพอ ทั้งสองได้จ้างนายชมิดท์ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทซัน ไมโคร ซิสเตมส์ และซีอีโอบริษัทโนเวลล์ เข้ามา "เติมเต็ม" ความเป็น "ตัวตน" ของกูเกิลจนทำให้โลกแห่งข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบันก้าวพ้นขีดจำกัดด้านเวลาและสถานที่ได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้ว

เมื่อไร: สำหรับวันแรกที่กูเกิลลืมตาดูโลกตามที่หลายคนอาจทราบนั้นตรงกับวันที่ 7 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่กูเกิลจดทะเบียนบริษัท ทว่าหากคุณเข้าเว็บไซต์กูเกิลในวันที่ 27 กันยายนคุณจะได้พบกับเค้กฉลองวันคล้ายวันเกิดของกูเกิล ซึ่งนี่คือวิธีที่กูเกิลแสดงออกเพื่อแบ่งปันเค้กวันเกิดให้แก่ผู้ใช้กูเกิลหลายล้านคนทั่วโลก และเปรียบประหนึ่งเป็นการประกาศให้โลกรับรู้ว่า นี่คือวันคล้ายวันเกิดอย่างเป็นทางการ

อีริค ชมิดท์...ซีอีโอหนึ่งทศวรรษ

จากวันนั้นถึงวันนี้ วันที่โรงรถเล็กๆ ที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คนสามารถเติบโตมาเป็นกูเกิลเพล็กซ์สุดล้ำที่มีพนักงานมากถึง 24,000 คนได้นั้น กูเกิลพัฒนาวัตกรรมและเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้การคุมบังเหียนของอีริค ชมิดท์

ใคร: อีริค ชมิดท์ ในวัย 55 ปี ซึ่งนั่งเก้าอี้ซีอีโอให้กับกูเกิลมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2544 ตัดสินใจย้ายไปรับตำแหน่งประธานบริหารที่เน้นการดูแลด้านข้อตกลงและเป็นที่ปรึกษาให้แก่สองเกลอแห่งกูเกิล ชมิดท์ให้สัมภาษณ์อย่างค่อนข้างมั่นใจว่า การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหน้าที่ในครั้งนี้จะส่งผลดีกับบริษัท ซึ่งจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้น

อะไร: ธุรกิจของกูเกิลก้าวเดินมาไกล นับตั้งแต่สมัยที่ยังคลานเตาะแตะจนกระทั่งถึงวันที่เพิ่มสปีดวิ่งอย่างเต็มที่จนใครๆ ไล่จับไม่ทัน ทั้งหมดนี้ก็ด้วยความสามารถด้านการบริหารงานของชมิดท์ โดยธุรกิจเสิร์ชเอนจิ้นของกูเกิลยังคงครองความเป็นที่หนึ่งด้วยส่วนแบ่งตลาด 66.6% ในสหรัฐเมื่อเดือนธ.ค. เมื่อเทียบกับเสิร์ชเอนจิ้น Bing ของไมโครซอฟท์ที่ยังอ่อนหัด ขณะที่การพัฒนาโปรแกรมฟรีเมลอย่างจีเมล (Gmail) ที่ให้พื้นที่เก็บข้อมูลสูงเขี่ยให้รุ่นพี่อย่างฮอตเมล (Hotmail) ต้องแพ้ทางอย่างหลุดลุ่ย และการซื้อกิจการยูทูบเพื่อมอบประสบการณ์ความบันเทิงไร้พรมแดนก็ได้ใจคนรุ่นใหม่ไปเต็มๆ มาวันนี้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์บนมือถือยังคงสร้างความภาคภูมิใจให้กูเกิลได้อกผายไหล่ผึ่ง เมื่อข้อมูลในเดือนพ.ย.ปีที่แล้วระบุว่า จำนวนผู้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แซงหน้าจำนวนผู้ใช้ไอโฟนเป็นครั้งแรกในสหรัฐ ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ระดับ 26% เมื่อเทียบกับของแอปเปิลที่ 25%

ที่ไหน: การออกรับหน้าผ่านสื่อมวลชนของตำแหน่งซีอีโอคนปัจจุบันกำลังจะจบลง ขณะที่เพจ วิศวกรซอฟต์แวร์ที่สุดแสนจะขี้อายคงกำลังนับถอยหลังรอวันที่จะเดินออกจากเงาของผู้อื่น และเตรียมปรากฏตัวต่อสาธารณชนมากขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคที่เครือข่ายสังคมกำลังมาแรงและกำลังแย่งสัดส่วนผู้ใช้งานอย่างไม่ไว้หน้าใครบนโลกไซเบอร์

อย่างไร: แดนนี ซัลลิแวน บรรณาธิการบล็อกเสิร์ชเอนจิ้นแลนด์ดอทคอม กล่าวว่า ขณะนี้ถึงเวลาของการปรับปรุงการบริหารครั้งใหญ่สำหรับกูเกิลแล้ว เพราะโครงสร้างระหว่างผู้บริหารระดับสูง 3 คนเป็นแบบเดิมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายมองว่า แม้เพจจะเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอคนแรกของกูเกิลในช่วงก่อตั้ง แต่การก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของชมิดท์ครั้งนี้ได้สร้างความกังวลว่า อาจส่งผลกระทบกับกูเกิลไม่แง่ในก็แง่หนึ่ง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทว่าหลังมีการประกาศเปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่ ราคาหุ้นของกูเกิลกลับดีดตัวขึ้นเพิ่มขึ้นทันทีถึง 2%

เมื่อไร: วันที่ 4 เดือน 4 ปี 2554 คือ วันสำคัญที่กูเกิลและคอไอทีต้องจารึกไว้ในฐานะที่เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดใบของบริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก ดังเช่นต้นไม้ใหญ่ที่สลัดใบเมื่อถึงเวลาอันสมควรเพื่อเปิดทางให้ยอดอ่อนชูช่อหล่อเลี้ยงลำต้นได้อย่างเติบใหญ่และให้ร่มเงาแก่ลูกหลานของเราในอนาคต

คิดไม่ออกบอก...อากู๋

หากใครที่รู้สึกว่าเห็นหน้าเว็บกูเกิลบ่อยกว่าหน้าพ่อแม่ของตัวเอง หรือตั้งหน้าโฮมเพจเป็นเว็บกูเกิลสำหรับการเริ่มท่องโลกอินเทอร์เน็ต อย่าปฏิเสธว่า "อากู๋" ในแบบฉบับของโลกออนไลน์ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตของคุณแม้แต่น้อย

ใคร: นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ พนักงานออฟฟิศ ผู้บริหารระดับสูง หรือแม้แต่เด็กตัวเล็กตัวน้อยต่างใช้กูเกิลเป็นเครื่องมือที่ค้นหาทุกอย่างได้ชนิดครอบจักรวาล โดยเฉพาะการหาเกมสนุกโดนใจที่ทำให้ผู้ปกครองไม่ไหวจะเคี่ยวเข็ญให้ต้องปิดคอมพ์

อะไร: เซอร์เก บริน ผู้ร่วมก่อตั้งกูเกิลได้ตอกย้ำถึงบทพิสูจน์ความสำคัญของกูเกิลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตัวเขาไว้ในหนังสือ The Google Story ว่า "เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการท่องอินเทอร์เน็ต เราเข้าไปคุ้ยมันทุกวัน ผมใช้เวลาอยู่จนถึงตีสี่ แล้วตอนเช้าผมก็เข้าไปอีกตั้งแต่เช้า มันเป็นเครื่องมือที่หาค่ามิได้ ตอนนั้นมันเป็นเหมือน "เครื่องช่วยหายใจ" สำหรับผมไปแล้ว"

ที่ไหน: ทุกที่ ทุกเวลา คือคำตอบของการก้าวพ้นขีดจำกัดเรื่องความสามารถในการหาข้อมูลบนกูเกิล เพียงแค่คุณมีคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต อะไรที่คุณต้องการจะมาอยู่ตรงหน้าในเสี้ยววินาที ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อมูลทั่วไป เบอร์โทรศัพท์หน่วยงานไหน อัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินอะไร หรือแม้แต่การบวกลบคูณหารสมการซับซ้อน อากู๋คนนี้สามารถช่วยคุณได้หากรู้จักใช้ให้เป็น

อย่างไร: จากวัตถุประสงค์ในการใช้งานในด้านต่างๆ บนกูเกิลทำให้เสิร์ชเอนจิ้นทรงอิทธิพลเจ้านี้รั้งตำแหน่งผู้ช่วยมือวางอันดับหนึ่งไปโดยปริยาย เพราะด้วยการทำงานของกูเกิลนั่นเองที่ทำให้ความรู้ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่รอยหยักในสมองหรือขนาดของชั้นวางหนังสือ หากแต่อยู่ที่ความสามารถในการใช้คำในการสืบค้นข้อมูลบนมากกว่า

เมื่อไหร่: ทุกวันนี้ กูเกิลก้าวขึ้นเป็นเสิร์ชเอนจิ้นอันดับหนึ่งของโลก มีรายได้ปีละเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.7 แสนล้านบาท) โดยผลประกอบการล่าสุดของกูเกิลในไตรมาส 4 ปี 2553 อยู่ที่ 8.440 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.53 แสนล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นถึง 26% ขณะที่ผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 2.540 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7.62 หมื่นล้านบาท) เพิ่มจากกำไรที่ระดับ 1.970 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.91 หมื่นล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปี 2552 นับเป็นกำไรรายไตรมาสที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ 12 ปีของบริษัท

ก่อนจะกลับไปเข้าเว็บกูเกิลเพื่อทำงานต่อไปนั้น ขอปิดท้าย In Focus ด้วยเกร็ดน่ารู้จากชื่อของกูเกิลที่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครระบุที่มาได้อย่างแน่ชัด โดยกระแสหนึ่งระบุว่าชื่อ google มาจาก "googol" ซึ่งหมายถึงจำนวนทางคณิตศาสตร์ที่ขึ้นต้นเลข 1 แล้วตามด้วยเลข 0 อีกหนึ่งร้อยตัว หรือ 10100 เพื่อแสดงถึงเป้าหมายของบริษัทที่จะจัดการกับข้อมูลจำนวนมหาศาล ส่วนอีกกระแสหนึ่งบอกว่าชื่อ Google มาจากความผิดพลาดในการจดโดเมนเนมตั้งแต่ช่วงก่อตั้งบริษัท

จากเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของนวัตกรรมที่กูเกิลได้สร้างความ "เปลี่ยนแปลงแก่โลก" อย่างมหาศาล ในวันนี้กูเกิลกำลังเข้าสู่ยุคผลัดใบด้วยการหันกลับมา "เปลี่ยนแปลงตนเอง" เพื่อที่จะเติบโตขึ้นอย่างงดงามบนสมรภูมิรบซึ่งคุกรุ่นด้วยไฟสงครามทางไอทีที่ทั่วโลกต้องจับตามอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ