In Focus“ไมโครซอฟท์" ทุ่ม 8.5 พันล้านดอลล์รุกซื้อกิจการ “สไกป์"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 11, 2011 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ขึ้นชื่อว่าเป็น Deal of the Day กันเลยทีเดียวสำหรับการทุ่มเงิน 8.5 พันล้านดอลลาร์โดยไมโครซอฟท์ เพื่อซื้อกิจการของ สไกป์ เทคโนโลยีส์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมระดับโลก อีกทั้งยังเป็นข้อตกลงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 36 ปีของไมโครซอฟท์ บดบังรัศมีการซื้อบริการโฆษณาออนไลน์ เอควอนทีฟ มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2550

การเทคโอเวอร์ครั้งนี้ อาจจะช่วยให้ สตีฟ บอลเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไมโครซอฟท์ ดึงกลุ่มผู้ใช้บริการเว็บเข้าสังกัด และเทียบชั้นกูเกิลในธุรกิจโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต หลังจากที่บริษัทต้องคว้าน้ำเหลวในด้านนี้มาก่อน

บอลเมอร์กล่าวว่า สไกป์เป็นบริการที่ถือเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ ซึ่งผู้คนหลายล้านทั่วโลกชื่นชอบ เมื่อรวมเข้ากับไมโครซอฟท์แล้ว จะก่อให้เกิดอนาคตของการสื่อสารแบบเรียลไทม์ที่ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับครอบครัว เพื่อนฝูง ลูกค้า และเพื่อนร่วมงานได้ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลก

สไกป์จะกลายเป็นแผนกธุรกิจแผนกหนึ่งในไมโครซอฟท์ โดยที่โทนี่ เบทส์ ซีอีโอของสไกป์ จะทำหน้าที่ประธานของแผนกไมโครซอฟท์ สไกป์ โดยขึ้นตรงกับบอลเมอร์ ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าสไกป์จะสนับสนุนอุปกรณ์ของไมโครซอฟท์อย่างเกมคอนโซล เอ็กซ์บ็อกซ์ และซอฟต์แวร์มือถือ วินโดวส์ โฟน เป็นต้น ส่วนไมโครซอฟท์จะสนับสนุนลูกค้าสไกป์บนแพลทฟอร์มที่ไม่ใช่ไมโครซอฟท์ด้วย

โทนี่ เบทส์ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์และสไกป์มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนานวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์และผลิตภัณฑ์ เมื่อรวมกันแล้ว เราจะสามารถผลักดันแผนการขยายกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีอยู่ทั่วโลกและให้บริการใหม่ๆ

ไม่ถึง 10 ปีกับการขึ้นเป็นหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีของ “สไกป์ เทคโนโลยีส์"

สไกป์ เทคโนโลยีส์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 โดยนิคลาส เซนน์สตรอม และเจนัส ฟริส โดยมีผู้ร่วมทุนรายอื่นๆผลัดกันเปลี่ยนหน้าเข้ามาตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป แต่ในเวลาต่อมาเซนน์สตรอมและฟริสได้ขายบริษัทให้กับอีเบย์ไปในมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ โดยหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดก่อนที่ไมโครซอฟท์จะเข้ามาซื้อกิจการคือ กลุ่มซิลเวอร์ เลค

สไกป์เป็นซอฟต์แวร์สื่อสารที่มีเป้าหมายที่จะทลายกำแพงที่เป็นอุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งช่วยให้ญาติสนิท มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงานสามารถคุยกันได้ผ่านทางบริการรับ-ส่งข้อความ บริการเสียง และภาพผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และยังสามารถโทรไปยังโทรศัพท์พื้นฐานหรือมือถือที่ใดก็ได้ในโลกด้วยราคาที่ต่ำ โดยผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดสไกป์ลงบนคอมพิวเตอร์ มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆได้โดยไม่ต้องเสียค่าบริการ

สไกป์ เทคโนโลยีส์ ใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี ในการก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านไอทีด้วยการพัฒนาบริการต่างๆ จนเป็นที่ต้องการของผู้ใช้บริการหลายกลุ่ม สไกป์ ได้พัฒนาช่องทางการสื่อสารออนไลน์แบบที่ไม่ต้องเสียค่าบริการขึ้น และอยู่ในระหว่างการพัฒนาบริการระดับพรีเมียม เช่น กรุ๊ป วิดีโอ คอลลิ่ง โดยคู่แข่งของสไกป์นั้นมีทั้งบริการ กูเกิล วอยซ์ และวิดีโอแชท อย่าง Fring

บริการโทรศัพท์สไกป์-สไกป์นั้น สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้เป็นจำนวนมหาศาล และยังเป็นบริการที่ต้องเสียค่าบริการที่ทำให้ สไกป์ก้าวขึ้นมาแซงหน้าเอ็มเอสเอ็นและยาฮู จากบริการโทรศัพท์พื้นฐานนั้น สไกป์ได้พัฒนาบริการให้ผู้ใช้บริการสามารถโทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก และต่อมาบริการคอนเฟอเรนซ์ คอลล์ ก็เป็นที่ต้องการของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก

สไกป์ยังพัฒนาธุรกิจต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน แม้ว่าเมื่อเดือนก.ย. 2547 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่แอพพลิเคชั่นของแอปเปิลจะโด่งดังนั้น บริการไร้สายสำหรับพีดีเอที่ใช้งานอยู่บนไมโครซอฟท์ พ็อคเก็ต พีซี 2003 และใช้ Wi-Fi นั้น ยังถือเป็นบริการที่หาได้ยาก

เพียง 1 ปี หลังจากนั้น อีเบย์ก็ได้เข้ามาซื้อกิจการด้วยข้อตกลงมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ โดยที่ผู้ก่อตั้งสไกป์ยังคงเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่สนับสนุนบริการสไกป์อยู่ โดยอีเบย์มองว่า การผนวกรวมสไกป์เข้ามาในอาณาจักรแห่งธุรกิจการประมูล จะช่วยให้กลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายคุยกันได้สะดวกรวดเร็วทันใจ

เมื่อมาควงคู่อยู่กับอีเบย์ การเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆของสไกป์ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว บริการวิดีโอ คอลลิ่ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40% ของบริการโทรศัพท์ของสไกป์ทั้งหมดนั้น ได้เปิดตัวขึ้นเมื่อปลายปี 2548 และในช่วงต้นปี 2549 สไกป์ก็ก้าวกระโดดไปผนึกรวมตัวกับผู้ให้บริการมือถือ เพื่อที่ผู้ใช้บริการจะสามารถใช้บริการโทรศัพท์ของสไกป์ได้บนเครือข่าย 3G

แต่แล้วความสัมพันธ์ระหว่างสไกป์และอีเบย์ก็จืดจางลง เมื่ออีเบย์ออกมายอมรับว่า บริษัทได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนในสไกป์มากเกินไป

อีเบย์ ตัดสินใจขายสไกป์ในเดือนเม.ย. 2552 โดยมีการขายหุ้น 65% ในสไกป์ให้กับกลุ่มบริษัทด้านการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งรวมถึงมาร์ค แอนเดรียเซน ผู้ร่วมก่อตั้งเน็ทสเคป ในเวลา 2 ปีต่อมา ผู้ก่อตั้งสไกป์ก็กลับมา และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน สไกป์ต้องเผชิญกับปัญหาบั๊กในซอฟต์แวร์ แต่สไกป์ก็กลับมายืนหยัดเป็นหนึ่งในบริษัทอินเทอร์เน็ตที่ร้อนแรงที่สุดได้

ยิ่งไปกว่านั้น การที่แอพพลิเคชั่นสุดฮ็อตของไอโฟนและแอนดรอยด์ทำให้สไกป์เป็นที่ต้องตาต้องใจของกลุ่มผู้ใช้บริการกลุ่มใหม่ ไมโครซอฟท์จึงเห็นลู่ทางที่จะผนวกรวมสไกป์เข้ากับอุปกรณ์สื่อสารของบริษัท

ใช่ว่า ไมโครซอฟท์จะดอดคุยกับสไกป์เพียงเจ้าเดียว มีข่าวว่า เฟซบุ๊กและกูเกิลเองก็หยอดขนมจีบสไกป์ด้วยเช่นกัน แต่ท้ายที่สุด สตีฟ บอลเมอร์ ก็สามารถคว้าสไกป์ไปครอง

มุมมองนักวิเคราะห์

ปัจจุบัน สไกป์มีผู้ใช้บริการถึง 170 ล้านรายอยู่ในกำมือ การที่ไมโครซอฟท์ซื้อกิจการครั้งนี้ถือเป็นความเคลื่อนไหวแบบตั้งรับ โคลิน กิลลิส นักวิเคราะห์ของบีจีซี ไฟแนนเชียล กล่าวกับบีบีซีว่า หากไมโครซอฟท์สามารถบรรจุสไกป์ลงในวินโดวส์ 8 ได้ ก็จะทำให้บริษัทมีข้อได้เปรียบ และยังช่วยส่งเสริมตลาดแท็บเล็ต ขณะที่นักวิเคราะห์รายอื่นๆมองว่า เป้าหมายของไมโครซอฟท์ในการซื้อสไกป์ก็เพื่อปรับปรุงและยกระดับบริการและผลิตภัณฑ์แบบเรียลไทม์ที่มีอยู่เดิม

นอกจากนี้ การผนึกรวมบริการของสไกป์เข้ามายังจะเป็นการเพิ่มจุดขายให้กับวินโดวส์ โฟน ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการมือถือที่ไมโครซอฟท์กำลังผลักดันอยู่ ที่ผ่านมา คู่แข่งอย่างแอปเปิลก็มีเฟซไทม์ หรือบริการวิดีโอ แชทแล้ว แอนดรอยด์ก็มีวิดีโอ แชท เช่นกัน และขณะนี้ ไมโครซอฟท์ก็เรียกได้ว่าเข้ามาร่วมวงอยู่บนเวทีการแข่งขันกับเขาเสียที

ลีฟ โอลอฟ วาลลิน นักวิเคราะห์ด้านโทรคมนาคมของบริษัทการ์ทเนอร์ กล่าวว่า กูเกิล อาจจะเป็นคู่แข่งที่ใกล้จะเทียบรัศมีสไกป์ได้ด้วยบริการเสียง แต่ถึงกระนั้นกูเกิล ทอล์ค เซอร์วิสก็ยังไม่สามารถเทียบชั้นได้ในเรื่องของคุณภาพ นอกจากนี้ กูเกิล วอยซ์ ยังเข้ามาในตลาดทีหลัง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากพอดูที่จะไล่ตามทัน นอกจากนี้ โวนาจ โฮลดิ้งส์ คอร์ป ก็เป็นอีกคู่แข่งในสังเวียนตลาดสหรัฐ

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์จำเป็นต้องหาทางทำเงินจากสไกป์ ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยทำเงินได้ก็คือ โฆษณา แต่บริษัทก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการสไกป์ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยากพอดู

ด้านนักวิเคราะห์อีกรายมองว่า การซื้อกิจการครั้งนี้จะช่วยให้ไมโครซอฟท์ได้เปิดฉากการเดินทางในธุรกิจโทรคมนาคมได้เสียที เมื่อพูดถึงเรื่องบริการด้านเสียงแล้ว สไกป์นั้นเรียกได้ว่า วางหลักไมล์ไปไกลถึงไหนต่อไหนแล้ว

แม้ว่า มุมมองของนักวิเคราะห์จะแตกต่างกันไป แต่การที่สตีฟ บอลเมอร์ ยอมทุ่มทุน เพื่อซื้อกิจการของบริษัทที่มีอายุอานามไม่ถึง 10 ปี อีกทั้งยังไม่ได้ทำเงินจำนวนมหาศาลมาอยู่ในครอบครองนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่น่าติดตามตอนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ