In Focusอวสาน “นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์" เนื้อร้ายที่ถูกตัดทิ้งเพื่อยื้อชีวิต

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 13, 2011 14:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

“Thank You & Goodbye" คือสองคำสุดท้ายที่ “นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์" หนังสือพิมพ์ซึ่งอยู่คู่กับแผงหนังสือของอังกฤษมาอย่างยาวนานถึง 168 ปี กล่าวอำลาผู้อ่านในหน้าแรกของฉบับวางแผงเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย ก่อนที่จะต้องปิดตัวลงตลอดกาล พร้อมด้วยพนักงานกว่า 200 คนที่ต้องตกงาน

... เป็นตอนจบที่ห่างไกลกับคำว่า Happy Ending

เหตุใดจึงทำให้หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่มีผู้อ่านถึงราว 7.5 ล้านคน และมียอดขายกว่า 2.5 ล้านฉบับต่อสัปดาห์ ภายใต้หัวเรือใหญ่อย่างเจ้าพ่อสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ดอค ต้องเดินทางมาถึงจุดจบเช่นนี้

จากจุดเริ่มต้นถึงตอนอวสาน

นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ถือกำเนิดโดย จอห์น บราวน์ เบลล์ โดยหนังสือพิมพ์ฉบับแรกตีพิมพ์ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2386 (ค.ศ.1843) ในรูปแบบหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ (broadsheet) ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับคำแถลงว่า “เรายึดถือความจริงเป็นคติ และตีแผ่ความจริงอย่างไม่หวาดหวั่น"

จากนั้นในปีพ.ศ. 2434 (ค.ศ.1891) นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ถูกซื้อกิจการโดยกลุ่มสมาคม ภายใต้การนำของตระกูลคารร์ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ พร้อมกับขึ้นแท่นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ขายดีที่สุดในโลก ด้วยยอดจำหน่ายเฉลี่ย 8,441,966 ฉบับในปีพ.ศ. 2493 (ค.ศ.1950) ต่อมาในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2503 (ค.ศ.1960) นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ได้ถูกควบรวมกับ ดิ เอมไพร์ นิวส์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์วางแผงวันอาทิตย์สำหรับพลเมืองในเครือจักรภพอังกฤษ ด้วยยอดขายมากกว่า 2.5 ล้านฉบับ

และแล้วในปีพ.ศ.2512 (ค.ศ.1969) รูเพิร์ต เมอร์ดอค เศรษฐีนักลงทุนชาวออสเตรเลีย ได้เข้าซื้อ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ส่งผลให้นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ เป็นส่วนหนึ่งของ นิวส์ กรุ๊ป นิวส์เพเพอร์ บริษัทในเครือ นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ภายใต้ชายคาบ้านใหญ่คือ กลุ่มบริษัทนิวส์ คอร์ปอเรชั่น ของเมอร์ดอค

นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ เปลี่ยนจากรูปแบบหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่มาเป็นขนาดเล็ก หรือ แท็บลอยด์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (ค.ศ.1984)

นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่เน้นขายข่าวซุบซิบ ประเภทรู้ลึก รู้จริง ซึ่งก็ช่วยดันให้หนังสือพิมพ์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่แฉเรื่องของคนอื่นมานาน นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ก็ตกเป็นข่าวฉาวเสียเอง ท่ามกลางข้อกล่าวหาที่มีออกมาอย่างต่อเนื่องว่า นักข่าวหรือนักสืบเอกชนที่ถูกหนังสือพิมพ์จ้างมา ได้ดักฟังโทรศัพท์ หรือข้อความเสียงที่ฝากไว้ในโทรศัพท์ หรือ วอยซ์เมล ของบรรดาคนดัง ทั้งนักการเมือง ดารา นักกีฬา บุคคลในแวดวงสังคมชั้นสูง หรือไม่เว้นแม้แต่สมาชิกราชวงศ์ ซึ่งตำรวจเผยว่ามีผู้ตกเป็นเหยื่อการดักฟังถึงกว่า 4,000 รายเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีการเปิดโปงถึงการจ่ายเงินสินบนให้แก่ตำรวจเพื่อแลกกับข่าววงใน

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ นำเสนอข่าวเจ้าชายวิลเลียมได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังแจ้งความตำรวจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ว่ามีการดักฟังบันทึกข้อความเสียง จากนั้นในเดือนมกราคม 2550 ไคลฟ์ กู๊ดแมน บรรณาธิการโต๊ะข่าวราชสำนักของนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ และเกลนน์ มัลแคร์ นักสืบเอกชน ถูกตัดสินจำคุกฐานดักฟังข้อความเสียงทางโทรศัพท์ของสมาชิกราชวงศ์ ขณะที่แอนดี้ โคลสัน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น อ้างว่าไม่รู้เรื่อง แต่ก็ยอมลาออก ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2550 กู๊ดแมน และ มัลแคร์ ฟ้องนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ด้วยข้อหาที่ว่าถูกให้ออกจากงานโดยมิชอบ ผลคือกู๊ดแมนได้รับเงิน 80,000 ปอนด์ และมัลแคร์ได้รับเงินในจำนวนที่ไม่เปิดเผย

หลังจากนั้นได้มีการจ่ายเงินเพื่อให้เรื่องจบอีกหลายครั้ง อาทิ มิถุนายน 2551 นิวส์ กรุ๊ป นิวส์เพเพอร์ จ่าย 700,000 ปอนด์ เป็นค่ายอมความให้แก่ กอร์ดอน เทย์เลอร์ ประธานบริหารสมาคมนักฟุตบอลอาชีพอังกฤษ ซึ่งถูกมัลแคร์ดักฟังโทรศัพท์

พฤศจิกายน 2552 คณะกรรมาธิการับเรื่องร้องเรียนของหนังสือพิมพ์ (Press Complaints Commission) ของอังกฤษเปิดเผยรายงานสรุปว่า ไม่มีหลักฐานว่ามีการดักฟังโทรศัพท์อีก ต่อมาในเดือนมีนาคม 2553 ตัวแทนประชาสัมพันธ์คนดังคนหนึ่งได้ตกลงถอนฟ้องต่อนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ด้วยจำนวนเงินมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านปอนด์

พฤษภาคม 2553 โคลสันได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของพรรคอนุรักษ์นิยม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือโฆษกของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในเดือนกันยายน 2553 ฌอน ฮอร์ อดีตนักข่าวของนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ แฉว่า การดักฟังโทรศัพท์ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนักข่าวในสังกัดนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ และการกระทำดังกล่าวได้รับการสนับสนุนโดยโคลสัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อกล่าวหาที่ตีพิมพ์ในนิวยอร์ก ไทมส์ ว่า นักข่าวของนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ พยายามดังฟังโทรศัพท์กันเป็นกิจวัตร ซึ่งข่าวอื้อฉาวนี้ได้บีบให้โคลสันลาออกจากตำแหน่งโฆษกของนายคาเมรอน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2554

26 มกราคม 2554 ตำรวจนครบาลอังกฤษเปิดฉากการสอบสวนครั้งใหม่ เรื่องข้อกล่าวหาดักฟังข้อความเสียง 5 เมษายน 2554 เนวิลล์ เธอร์เบ็ค หัวหน้าผู้สื่อข่าว และเอียน เอดมอนสัน อดีตบรรณาธิการ ถูกจับเหตุต้องสงสัยสมคบกันวางแผนดักฟังวอยซ์เมล

10 เมษายน 2554 นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการต่อเหตุการณ์ดักฟังโทรศัพท์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2547 — 2549 และได้จัดทำระบบชดเชยค่าเสียหายสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหลายราย ในวันที่ 7 มิถุนายน 2554 นักแสดงสาว เซียนนา มิลเลอร์ ตกลงยอมความกับนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ด้วยค่าเสียหายและค่าทนาย 100,000 ปอนด์

อย่างไรก็ตาม ข่าวฉาวเรื่องการดักฟังโทรศัพท์ก็ยังคงถูกเปิดโปงออกมาอย่างต่อเนื่อง และนักข่าวนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ก็ยังคงถูกจับกุมด้วยเหตุต้องสงสัยมีส่วนพัวพันกับการกระทำเยี่ยงอาชญากรดังกล่าว ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึง เทเรเนีย ทาราส นักข่าวอิสระที่เคยหาข่าวให้นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์

โดยพฤติกรรมฉาวโฉ่ที่สร้างความเดือดดาลให้แก่ชาวอังกฤษมากที่สุดจนกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายก็คือ เมื่อนสพ.เดอะ การ์เดียน รายงานเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ว่า นักสืบเอกชนและนักข่าวหลายคนของนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ได้ดักฟังข้อความเสียงที่พ่อแม่และเพื่อนๆ ของมิลลี ดาวเลอร์ เด็กสาววัย 13 ขวบซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2545 ฝากไว้ในโทรศัพท์ของเธอในช่วงที่ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมเด็กสาวผู้นี้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร นอกจากพฤติกรรมดักฟังวอยซ์เมลในโทรศัพท์ของดาวเลอร์แล้ว นักข่าวนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ยังถือวิสาสะเข้าไปลบข้อความเสียงเก่าทิ้งหลังจากกล่องบันทึกข้อความของดาวเลอร์เต็ม เพื่อให้มีการฝากข้อความใหม่เข้ามาได้อีกด้วย การกระทำดังกล่าวทำให้ครอบครัวของดาวเลอร์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าใจผิดว่า เธอยังมีชีวิตอยู่ และยังส่งผลกระทบต่อการสืบหาเบาะแสของตำรวจอีกด้วย ข่าวการหายตัวของมิลเลอร์ถือเป็นข่าวใหญ่ทั่วเกาะอังกฤษ ข่าวนี้ทำให้คนอังกฤษทั้งประเทศตื่นตัวช่วยกันตามหาเธอ อย่างไรก็ตาม มีคนพบศพของเธอถูกฝังอยู่ในป่าเมื่อวันที่ 18 กันยายน ปีเดียวกันนั้นเอง และเมื่อเดือนที่ผ่านมา ศาลเพิ่งพิพากษาลงโทษจำคุก ลีไว เบลล์ฟีลด์ ยามเฝ้าไนท์คลับแห่งหนึ่ง ตลอดชีวิตฐานฆาตกรรมเด็กสาวรายนี้

พร้อมกันนี้ ยังมีการเปิดโปงว่านอกจากเป้าหมายการดักฟังโทรศัพท์ของนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ จะเป็นคนดังแล้ว ประชาชนคนธรรมดาก็ไม่เป็นข้อยกเว้น โดยมีการสืบพบหลักฐานว่า แท็บลอยด์รายนี้ดักฟังโทรศัพท์ประชาชนหลายพันคน ตั้งแต่เหยื่อฆาตกรรม ผู้ประสบเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2548 ไปจนถึงสมาชิกในครอบครัวของทหารอังกฤษที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการในอิรักและอัฟกานิสถาน

6 กรกฎาคม 2554 รูเพิร์ต เมอร์ดอค ซีอีโอของนิวส์ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของนิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือในการสอบสวนอย่างเต็มที่ และระบุว่าข้อกล่าวหาต่างๆที่มีชื่อ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ เข้าไปพัวพันนั้น เป็นเรื่องที่ "น่าตำหนิและยอมรับไม่ได้"

จนกระทั่งในที่สุด วันที่ 7 กรกฎาคม นิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกมาประกาศยุติการจำหน่าย นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ โดยฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม จะถือเป็นฉบับสุดท้ายที่วางแผง

ตัดเนื้อร้ายเพื่อรักษาชีวิต

การประกาศปิดหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายสูงสุดของอังกฤษ ด้วยการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเพียงสามวัน ท่ามกลางข่าวอื้อฉาวที่รุมเร้านิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ อยู่นั้น อาจจะดูเหมือนเป็นข่าวช็อกวงการ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การตัดสินใจดังกล่าวดูมีเหตุและผลอันสมควรสำหรับ รูเพิร์ต เมอร์ดอค เจ้าพ่ออาณาจักรสื่อสารมวลชนรายใหญ่ที่สุดของโลก

สตีเวน บาร์เนตต์ ศาสตราจารย์สาขานิเทศศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ กล่าวในบทความที่เผยแพร่ทางซีเอ็นเอ็น ว่า การตัดสินใจดังกล่าวอาจดูเหมือนเป็นการแสดงความสำนึกผิด ขอโทษ หรือการแสดงจรรยาบรรณของสื่อ แต่จริงๆแล้วมันเป็นเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของตนเองอย่างไม่อ้อมค้อม

ทั้งนี้ ท่ามกลางข้อครหาที่ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ เผชิญอยู่นั้น ทำให้หนังสือพิมพ์ต้องสูญเสียผู้อ่านไปเป็นจำนวนมาก ขณะที่รายได้จากโฆษณาก็หดหาย เมื่อบรรดาสปอนเซอร์รายใหญ่ อาทิ ซูเปอร์มาร็เก็ต เซนส์บิวรี, ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โอทู, บูทส์ และ โคคา-โคล่า ต่างพากันถอนโฆษณาตามแรงกดดันจากผู้บริโภค นักการเมือง และเหล่าคนดังเกือบทุกวงการที่รวมตัวกันบอยคอตแท็บลอยด์ชื่อดัง ถึงขนาดที่แผงหนังสือบางแห่งหรือผู้จัดจำหน่ายบางรายปฏิเสธขาย นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ส่วนผู้อ่านขาประจำก็เมินหนีและไม่อุดหนุนแท็บลอยด์เจ้าปัญหาอีก

สำหรับประเด็นที่ถูกพุ่งเป้าและจับตามองมากที่สุดคือ ข่าวฉาวที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ความหวังของเมอร์ดอคในการเข้าซื้อกิจการ บีสกายบี ที่ปัจจุบันนิวส์ คอร์ป ถือหุ้นอยู่ 39% นั้นต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

โดยข่าวดักฟังโทรศัพท์ที่ถาโถมเข้าใส่ นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ระลอกใหญ่นั้น มีขึ้นในขณะที่นิวส์ คอร์ป กำลังพยายามหาทางเข้าเทคโอเวอร์บริษัทเพย์-ทีวี และผู้ให้บริการโทรทัศน์ดาวเทียมของอังกฤษแห่งนี้ ด้วยการเข้าซื้อหุ้นที่เหลืออีก 61% มูลค่าประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาของนิวส์ คอร์ป เลยทีเดียว และนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการตัดสินใจยอมตัดเนื้อร้ายเพื่อรักษาชีวิต แต่การตัดสินใจดังกล่าวจะทันการณ์หรือไม่ เมื่อดูเหมือนว่าเชื้อได้เริ่มลุกลามไปแล้ว ...

เมื่อประมาณ 18 เดือนก่อน ผู้ถือหุ้นคนสำคัญคนหนึ่งของนิวส์ คอร์ป ได้พบกับ รูเพิร์ต เมอร์ดอค และเจมส์ ลูกชายของเขาซึ่งเป็นผู้บริหารของนิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อขอร้องให้สองพ่อลูกขายธุรกิจหนังสือพิมพ์ทิ้ง หลังจากที่ธุรกิจดังกล่าวเป็นตัวถ่วงราคาหุ้นของบริษัทมานาน

“น่าเสียดายที่พวกเขาไม่ฟัง" ผู้ถือหุ้นคนดังกล่าวเผย "ผมกดดันพวกเขาให้แยกหนังสือพิมพ์ออกไปตั้งเป็นบริษัทต่างหาก ซึ่งพวกเขาก็จะยังสามารถควบคุมการดำเนินงานต่อไปได้ เพียงแต่การปลดเปลื้องธุรกิจนี้ทิ้งไปจะช่วยพยุงราคาหุ้นของนิวส์ คอร์ป และช่วยให้มูลค่าสินทรัพย์อื่นๆมีความโดดเด่นขึ้นมาได้"

“พวกเขาเอาแต่พูดถึงข่าวที่อยู่ในสายเลือดของพวกเขา และคำตอบคือไม่สถานเดียว" ผู้ถือหุ้นคนสำคัญผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับรอยเตอร์ “เจมส์หัวดื้อเหมือนรูเพิร์ต หรืออาจจะยิ่งกว่าด้วยซ้ำ"

... ถ้าเมอร์ดอคฟังคำเตือนของผู้ถือหุ้นรายนั้น นิวส์ คอร์ป ก็คงอยู่ในสถานะที่ดีกว่านี้ในการจำกัดวงข่าวฉาวไม่ให้ลุกลามไปแปดเปื้อนและสร้างมลทินให้กับสื่ออื่นๆที่เหลือภายใต้ชายคาใหญ่ของนิวส์ คอร์ป รวมทั้งไม่กระทบกระเทือนแผนการซื้อกิจการบีสกายบี ที่ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมอร์ดอคจำต้องยอมตกลงให้หน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันของอังกฤษเข้ามาทบทวนข้อเสนอเทคโอเวอร์ โดยนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน กล่าวว่า นิวส์ คอร์ป จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสะสางปัญหานี้ ก่อนที่จะเอาเวลาไปคิดถึงเรื่องก้าวต่อไปของบริษัท

นอกจากนี้ หุ้นของนิวส์ คอร์ป ยังร่วงลงอย่างต่อเนื่องถึงสิบกว่าเปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่ข่าวฉาวนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ถูกเปิดโปง คิดเป็นมูลค่าเงินที่สูญเสียไปราว 5 พันล้านดอลลาร์

คริส มารังจี ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนจากกาเบลลี มัลติมีเดีย ฟันด์ส ซึ่งถือหุ้นนิวส์ คอร์ป แสดงความเห็นว่า นักลงทุนคงจะยินดี ถ้าเมอร์ดอคตัดใจขายนิวส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งนอกจากเป็นเจ้าของนิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์ ที่เพิ่งปิดตัวลงแล้ว ยังเป็นผู้บริหารหนังสือพิมพ์อีกสามฉบับในอังกฤษ ได้แก่ เดอะ ไทมส์, เดอะ ซัน และซันเดย์ ไทมส์ ซึ่งฉบับหลังนี้กำลังถูกกล่าวหาว่าอาจใช้วิธีการผิดกฎหมายเพื่อลักลอบเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของนายกอร์ดอน บราวน์ เป็นเวลานานกว่า 10 ปี ขณะที่เขายังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังจนก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ในสายตาของนักลงทุน การขายธุรกิจหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ ซึ่งทำรายได้ให้กับนิวส์ คอร์ป เพียงแค่ราว 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 5% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท อาจคุ้มค่าเพื่อแลกกับการได้ข้อตกลงบีสกายบีมาแทน

ขณะเดียวกัน เริ่มมีการตั้งคำถามด้วยความปริวิตกแล้วว่า วิธีการสกปรกที่นักข่าวในอังกฤษใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งข่าวนั้น จะส่งผลให้อาณาจักรสื่อในต่างประเทศของนายรูเพิร์ต เมอร์ดอค ต้องได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

รูเพิร์ต เมอร์ดอค เป็นชาวออสเตรเลียโดยกำเนิด ก่อนที่จะได้รับสัญชาติอเมริกันในเวลาต่อมา โดยอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดวัย 80 ปีผู้นี้ ก่อตั้งบริษัท นิวส์ คอร์ป มาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง จนกลายเป็นกลุ่มบริษัทข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ซึ่งสื่อในเครือในสหรัฐ ได้แก่ วอลล์สตรีท เจอร์นัล, นิวยอร์ก โพสต์, สำนักข่าวดาวโจนส์ และนสพ.เดอะ เดลี่ สำหรับไอแพด ยังไม่นับรวมถึงธุรกิจต่างๆในยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชียที่เขาเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นอยู่

นอกเหนือจากวงการข่าวและหนังสือพิมพ์แล้ว กิจการของนิวส์ คอร์ป ครอบคลุมตั้งแต่วงการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และโฆษณา โดยธุรกิจส่วนใหญ่ของเมอร์ดอคอยู่ในสหรัฐ และกำไรมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากธุรกิจ ฟอกซ์ เทเลวิชั่น ซึ่งผลิตรายการยอดนิยมอย่าง “อเมริกัน ไอดอล" ขณะที่ช่องข่าวฟอกซ์ นิวส์ ออกอากาศให้ชาวอเมริกันกว่า 100 ล้านครัวเรือนได้รับชม

เมอร์ดอคยังมีอิทธิพลในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกด้วย ผ่านทางค่ายหนังฮอลลีวูดแถวหน้าอย่าง ทเวนตี้ เซนจูรี่ ฟอกซ์ ที่เขาถือหุ้นอยู่ เมอร์ดอคได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์บส์ให้เป็นบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลกในปี 2553 และเป็นบุคคลที่รวยที่สุดอันดับ 17 ด้วยสินทรัพย์สุทธิกว่า 6 พันล้านดอลลาร์

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า การตัดเนื้อร้ายอย่าง "นิวส์ ออฟ เดอะ เวิลด์" จะสามารถช่วยพยุงและหล่อเลี้ยงอาณาจักร "นิวส์ คอร์ป" ที่แผ่ไพศาลภายใต้การคุมบังเหียนของ รูเพิร์ต เมอร์ดอค ให้แข็งแกร่งขึ้นได้สักเพียงใด หรือวิธีการรักษานี้จะให้ผลในทางตรงกันข้าม


แท็ก In Focus:   อังกฤษ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ