ผลการสำรวจชี้ 80% ของผู้บริโภคจีนกังวลเรื่องความปลอดภัยของเครื่องดื่ม

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 20, 2011 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลการสำรวจความคิดเห็นซึ่งจัดทำโดยหนังสือพิมพ์ไชน่า ยูธ เดลี่ เผย 1 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวจีนเชื่อมั่นในคุณภาพของเครื่องดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หลายฝ่ายยังกังวลเรื่องสารปรุงแต่งที่ผิดกฏหมาย

ผลการสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ชี้ว่า ผลิตภัณฑ์นมเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคมากที่สุด โดย 67.8% ของผู้ถูกสำรวจทั้งหมด 1,290 ราย กังวลในเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์นม

ผู้ตอบรับการสำรวจมากกว่าครึ่งระบุว่า คุณภาพของน้ำผักและผลไม้เป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด ขณะที่เครื่องดื่มซึ่งผลิตโดยร้านค้าและภัตตาคาร จัดเป็นเครื่องดื่มที่น่ากังวลรองลงมาเป็นอันดับสาม

การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อนผ่านทางเว็บไซต์ www.sina.com ภายหลังการตรวจพบว่า น้ำดื่มบรรจุขวด 6 ยี่ห้อมีส่วนผสมของสารคาร์ซิโนเจนโบรเมทเกินกว่าปกติ

ผู้ตอบรับการสำรวจประมาณ 87% กังวลเกี่ยวกับสารปรุงแต่งที่ผิดกฏหมายในเครื่องดื่ม ขณะที่ 81.5% กังวลว่า เครื่องดื่มนั้นๆจะมีสารปนเปื้อนหรือสารพิษหรือไม่ สืบเนื่องมาจากการควบคุมคุณภาพที่ไม่ได้มาตรฐานระหว่างการผลิต

อย่างไรก็ตาม ความกังวลเรื่องดังกล่าวไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หวาดกลัวการซื้อเครื่องดื่มบรรจุขวด เพียงแค่ 1.3% ระบุว่า จะไม่ซื้อ ขณะที่ 36.6% ยังจะซื้อต่อไป

ผู้บริโภคส่วนใหญ่โทษหน่วยงานเฝ้าระวังคุณภาพและผู้ผลิตเครื่องดื่มในเรื่องปัญหาความปลอดภัย โดย 87.5% ระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐบกพร่องในเรื่องการควบคุมและ 79.7% เชื่อว่าผู้ผลิตเครื่องดื่มขาดจริยธรรมในการทำธุรกิจ

หนังสือพิมพ์ไชน่า ยูธ เดลี่ อ้างคำพูดจากแหล่งข่าววงในของอุตสาหกรรมว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมความปลอดภัยในอาหารยังขาดประสบการณ์การทำงานในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะระบุถึงปัญหาหรือการกระทำผิด

แหล่งข่าวกล่าวว่า บางปัญหาก็ไม่สามารถตรวจพบ เพราะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการกำกับดูแลดำเนินการเพื่อคุ้มครองสินค้าท้องถิ่นของตนเอง

นายเทียน เจียนหมิน นักวิจัยประจำศูนย์เกียรติบัตรเครื่องดื่มที่มีความปลอดภัยของจีน กล่าวว่า นอกจากเพิ่มการเฝ้าระวังแล้ว ต้องมีมาตราการหลายอย่างที่จะช่วยปรับปรุงการบริหารจัดการระหว่างการผลิต อย่างเช่น การมอบประกาศเกียรติบัตรสำหรับธุรกิจที่มีจริยธรรมทางธุรกิจ เป็นต้น สำนักข่าวซินหัวรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ