บริษัทวิจัยตลาดการ์ทเนอร์รายงานว่า สมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลครองส่วนแบ่งมากถึง 52.5% ในตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว
"แอนดรอยด์ได้ประโยชน์จากตลาดที่กว้างกว่าเดิม สภาพการแข่งขันที่ไม่ดุเดือดเท่าเดิม และการที่ระบบปฏิบัติการอื่นอย่าง Windows Phone 7 และ RIM ไม่มีสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆวางตลาด" โรเบอร์ตา คอซซ่า หัวหน้านักวิเคราะห์วิจัยจากการ์ทเนอร์ กล่าว
"นอกจากนั้น ลูกค้ายังชะลอการซื้อสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ iOS ของแอปเปิล เนื่องจากรอ iPhone รุ่นใหม่" เธอกล่าว
ยอดส่งมอบสมาร์ทโฟนของแอปเปิลเพิ่มขึ้น 21% ในไตรมาส 3 ของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่ร่วงลงเกือบ 3 ล้านเครื่องเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 เนื่องจากบริษัทประกาศเปิดตัว iPhone 4S ในเดือนตุลาคม ลูกค้าจึงรอซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่นี้
การ์ทเนอร์เชื่อว่ายอดขายของแอปเปิลจะดีดตัวอีกครั้งในไตรมาส 4 ขณะที่ตลาดอย่างบราซิล เม็กซิโก รัสเซีย และจีน กำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ส่วนแบ่งในตลาดของ Blackberry ซึ่งผลิตโดย RIM กลับร่วงลงต่ำสุดในตลาดสหรัฐ
รายงานระบุว่า ยอดขายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกอยู่ที่ 440.5 ล้านเครื่องในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพิ่มขึ้น 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยยอดขายสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 115 ล้านเครื่อง คิดเป็นสัดส่วน 26% ของยอดขายมือถือทั้งหมด และเพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่อัตราการขยายตัวยังถือว่าต่ำกว่าไตรมาส 2
นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์กล่าวว่า การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของสมาร์ทโฟนในจีนและรัสเซียช่วยให้ยอดขายมือถือโดยรวมเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ขณะที่ความต้องการสมาร์ทโฟนในละตินอเมริกา ตะวันออกกลาง แอฟริกา รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา อยู่ในภาวะชะงักงัน
ทั้งนี้ ซัมซุง ครองตำแหน่งผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy ได้รับความนิยมอย่างสูง ส่วนโนเกีย ยังคงครองตำแหน่งผู้ผลิตมือถือโดยรวมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยครองส่วนแบ่ง 23.9% ของยอดขายทั่วโลก สำนักข่าวซินหัวรายงาน