In Focusพิษน้ำท่วมซ้ำเติมไทยล้าหลังเพื่อนบ้าน แต่ใช่ว่าจะสิ้นหวัง!

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 16, 2011 13:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า วิกฤติน้ำท่วมจะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้อ่อนแอกว่าประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นการซ้ำเติมหลังจากที่ไทยไม่ได้มีผลงานทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

ประเทศไทยเคยมีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยเฉพาะในช่วงปี 2523-2532 และ 2533-2542 แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยกลับไม่มีผลงานที่น่าประทับใจ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ประเทศอื่นๆในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน, สิงคโปร์, เวียดนาม และล่าสุด อินโดนีเซีย ซึ่งกลับมาแรงจนน่าจับตา

เมื่อดูจากตัวเลขการลงทุนของต่างชาติแล้ว ในปี 2553 ไทยดึงดูดการลงทุนของต่างชาติได้ 5.800 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่อินโดนีเซียคว้ามาได้ 1.33 หมื่นล้านดอลลาร์

นักเศรษฐศาสตร์มองว่า ปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ได้แก่ มรสุมต่างๆที่กระหน่ำไทยในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกัน ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติและความไม่สงบทางการเมือง เช่น ในปี 2547 เกิดสึนามิ, ปี 2549 เกิดการปฏิวัติ, ปี 2551 เกิดการประท้วงจนถึงขั้นปิดสนามบิน, ปี 2553 เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ปัญหาเหล่านี้ผนวกเข้ากับวิกฤติน้ำท่วมหนักในปีนี้ ทำให้นักลงทุนขยาดที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ประกอบกับทางการก็ยังจับทิศทางการพัฒนาได้ไม่ถูกจุดที่จะดึงดูดเงินทุนต่างชาติ

นายเฟรเดอริค นิวแมน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคของเอชเอสบีซีในฮ่องกง กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ๆหลีกเลี่ยงประเทศไทย ขณะที่นักลงทุนที่อยู่ในประเทศอยู่แล้วก็ยังต้องประเมินสถานการณ์ตั้งรับกันใหม่ เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงที่ไทยอาจจะไม่สามารถรับมือกับปัญหาใหญ่ๆได้ เพราะการวางแผน, การประเมินสภาวการณ์ต่างๆยังไม่ดี ซึ่งส่งผลให้แม้เต่กรุงเทพซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์รวมทุกอย่าง ก็ยังไม่สามารถได้รับการปกป้องให้พ้นภัยพิบัติได้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ความเสียหายทั้งหมดอาจสูงถึง 3 แสนล้านบาท ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมสำคัญกว่า 5 แห่งถูกน้ำท่วม

ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2554 เหลือ 2.6% จาก 4.1% ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะโต 5.4% และจีนจะมีการขยายตัวประมาณ 9%

นายทิม คอนดอน นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจีในสิงคโปร์กล่าวว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติในประเทศไทย คนส่วนหนึ่งจะตกจากชนชั้นกลาง ซึ่งหากเศรษฐกิจไม่สามารถกลับมาเติบโตในอัตราก่อนเกิดวิกฤติการเงินเอเชีย ซึ่งจีดีพีโตเฉลี่ย 7% คนจำนวนมากที่ตกจากชนชั้นกลางก็จะยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้เช่นกัน

ฟ้าหลังฝน — ภาวะหลังน้ำลด

คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า เมื่อรัฐบาลใช้งบในการฟื้นฟูประเทศอย่างมหาศาล ประกอบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น โตโยต้า และฮอนด้า จะเร่งเครื่องเดินหน้าการผลิตอีกครั้ง

เจ้าหน้าที่ไทยเองก็มุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันวิกฤติไปให้ได้ โดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณเบื้องต้น 8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือชาวนา, ผู้ประกอบธุรกิจ, ประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม รวมทั้งเพื่อการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต

มาตรการหลังน้ำลดจะเป็นจุดที่สามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ ถ้าไทยมุ่งมั่นจริงจังที่จะปฏิรูปและสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งทำให้ยังมีโอกาสดึงดูดเงินลงทุนของต่างชาติได้ต่อไป แต่ถ้าการแก้ไขยังไม่ถูกจุด การฟื้นตัวยังไม่เป็นตามคาด, รัฐใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือย และมุ่งเน้นแค่นโยบายระยะสั้น นั่นหมายความว่า ชาวต่างชาติอาจจะเมินหน้าหนี และโอกาสที่ไทยจะฟื้นตัวขึ้นมาทัดเทียมกับประเทศอื่นๆย่อมน้อยลง และอาจจะทำให้ไทยต้องก้มหน้ายอมรับความพ่ายแพ้ต่อประเทศเพื่อนบ้านไปโดยปริยาย

ความหวังในเศรษฐกิจไทย

ความหวังคงอยู่ที่การฟื้นฟูประเทศ, การกระตุ้นการใช้จ่าย, การเยียวยาในหลายภาคส่วน เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อีกครั้ง ซึ่งจากวิกฤติครั้งนี้ จะมีภาคธุรกิจบางภาคที่รุ่งโรจน์ขึ้นมา ซึ่งก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับของใช้ในชีวิตประจำวัน, ที่อยู่อาศัย, การซ่อมแซม, การก่อสร้าง ที่คงเรียกได้ว่า ถึงคราวส้มหล่น งานเข้า รวยเละ

สำหรับผู้ที่จะลงทุนในหุ้น นักวิเคราะห์แนะให้ทยอยสะสมหุ้นที่ถูกน้ำท่วมไว้ได้เลย เช่น หุ้นนิคมฯ, หุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, หุ้นรถยนต์ และหุ้นที่อยู่อาศัย

วัสดุก่อสร้าง

ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เป็นธุรกิจที่ได้อานิสงส์แน่นอนหลังน้ำลด เนื่องจากจะมีความต้องการซ่อมแซมบ้านครั้งใหญ่

คุณณัฎฐ์ จริตชนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกลุ่มการตลาด บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือโฮมโปร กล่าวกับผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ว่า “เมื่อปีก่อนที่จังหวัดนครราชสีมาประสบปัญหาน้ำท่วม ทำให้ยอดขายช่วงนั้นลดลงมาก แต่หลังจากที่สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ประชาชนก็กลับมาซื้อวัสดุก่อสร้าง เพื่อซ่อมแซมบ้าน ส่งผลให้ยอดขายโตขึ้นประมาณ 15-20% และคาดว่า เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ เริ่มคลี่คลายลง ยอดขายวัสดุอุปกรณ์ จะเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา คือประชาชนจะกลับมาเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้โฮมโปรมียอดขายเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นยอดขายที่มากกว่าหายไปในช่วงก่อนน้ำท่วม" คุณณัฎฐ์กล่าว

ส่วนผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็จะได้ผลดีไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากจะมีความต้องการว่าจ้างซ่อมแซมบ้านโดยทั่วไป เช่นเดียวกับ ธุรกิจบริการทำความสะอาดที่จะมีผลพลอยได้ไปด้วยจากการจ้างพนักงานทำความสะอาดมาทำความสะอาดบ้านเรือน, ร้านค้า และบริษัทต่างๆ

เครื่องใช้ไฟฟ้า

ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอีกธุรกิจที่จะมีความต้องการเข้ามามาก หลังน้ำลด เนื่องจาก ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, เครื่องปั๊มน้ำ อาจจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เพราะขนย้ายได้ลำบาก ซึ่งแบรนด์ที่ติดตลาดอยู่มีทั้งของญี่ปุ่นและเกาหลี โดยเฉพาะในกลุ่มเกาหลีนั้น ซัมซุงและแอลจี เป็นแบรนด์ที่นำตลาดอยู่

นอกจากนี้ ธุรกิจซ่อม เช็ค บำรุง เครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยคุณบุญยง ตันสกุล กรรมการผู้จัดการค่ายซิงเกอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทได้เตรียมความพร้อมโดยการตั้งทีมซ่อมตรวจเช็คและบำรุงเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยรับสมัครและเพิ่มทีมช่างกว่า 300 นายสำหรับรับซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกแบรนด์ ทุกประเภทสินค้า โดยซิงเกอร์ได้ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วขึ้นมา 10 ทีม เพื่อรับตรวจสอบและซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า

คุณบุญยงกล่าวว่า “ลูกค้าไม่รู้ว่าจะเรียกซ่อมได้ที่ไหน หรือการรอทีมช่างของแต่ละค่ายสินค้าอาจจะล่าช้า การบริการหลังการขายและซ่อมสินค้าเป็นจุดขายที่แข็งแกร่งของเรา"

ธุรกิจค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่าง เพาเวอร์บายในเครือเซ็นทรัล และเพาเวอร์มอลล์ในเครือเดอะมอลล์ ได้ประกาศว่า หลังน้ำลดจะออกแคมเปญลดแลกแจกแถม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าราคาประหยัด เพื่อบรรเทาทุกข์ และเป็นการเร่งยอดขายปลายปีไปในตัว

คุณสอางทิพย์ อมรฉัตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายการตลาดบริษัทเพาเวอร์บาย จำกัด เชื่อว่า ช่วงเดือนธันวาคมและมกราคมจะเป็นช่วงสำคัญ โดยเชื่อว่า ไตรมาส 1 ปีหน้าจะได้ผลดีจากความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าหลังน้ำลด เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นภายในบ้าน อีกทั้งยังเป็นช่วงเทศกาลที่จะมีการซื้อของขวัญให้กัน

ธุรกิจอุปกรณ์ไอที

ความต้องการในสินค้ากลุ่มนี้ที่จะเข้ามาทันทีหลังน้ำลดน่าจะมาจากกลุ่มองค์กร เนื่องจากต้องการเครื่องคอมพิวเตอร์ทดแทนเครื่องเดิม โดยเฉพาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก

คุณนิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทได้เตรียมแนวทางรับมือตลาดองค์กรไว้แล้ว โดยจะจัดรถเคลื่อนที่เข้าไปดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ตามนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ พร้อมทำการซ่อมเครื่องให้เสร็จภายใน 1 วัน หากไม่สามารถซ่อมได้ ก็จะให้ลิสซิ่งในการซื้อเครื่องใหม่เพิ่ม

ด้านคุณปฐม อินทโรดม กรรมการบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัทเออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ผู้จัดการคอมมาร์ตกล่าวว่า หลังน้ำลดจะมีกำลังซื้อก้อนหนึ่งที่อั้นมาตั้งแต่ไตรมาส 3 แต่ไม่แน่ใจว่า จะฟื้นตัวเร็วหรือไม่ เนื่องจากกลุ่มอุปกรณ์ก่อสร้าง, เฟอร์นิเจอร์ จะเป็นตลาดแรกที่จะฟื้นฟูเต็มร้อย จากนั้นจึงเป็นกลุ่มไอที คาดว่าอย่างเร็วที่สุดตลาดไอทีน่าจะฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 4 อย่างช้าจะเป็นไตรมาส 1 ปีหน้า"

ธุรกิจรถยนต์

จากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ รถยนต์จำนวนมากได้รับความเสียหาย ดังนั้น ผู้ประสบภัยก็อาจจะหาซื้อรถใหม่หรือทำการซ่อมแซมรถของตนเอง ดังนั้น ธุรกิจซ่อมบำรุงรถยนต์ จะได้รับความนิยมจากลูกค้าผู้ประสบภัยทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอย่างแน่นอน ไม่เพียงแต่ธุรกิจรถยนต์ขนาดเล็กเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่รถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุก ก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน เนื่องจากมีความต้องการรถบรรทุกสำหรับงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า, สาธารณูปโภค, อุปกรณ์ก่อสร้าง, วัสดุซ่อมแซมพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งความต้องการในกลุ่มนี้จะมาสมทบกับความต้องการเดิมที่มีอยู่แล้วในการขยายงานในสายปิโตรเคมี, งานเหมือง, การขนส่งสินค้าทั่วไป

อุปสรรคหลังน้ำลด

ด้านธุรกิจที่ส่อค้าว่า จะเกิดปัญหาได้แก่ ธุรกิจประกัน ซึ่งบริษัทประกันมีทีท่าว่าจะไม่ยอมต่ออายุประกันให้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนจนอาจถึงขั้นย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นได้ ผู้ประกอบการในนิคม 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วมได้ทำประกันภัยในวงเงิน 6 แสนล้านบาท และผู้ประกอบการได้เรียกค่าชดเชยความเสียหายแล้ว 2 แสนล้านบาท โดยบริษัทประกันภัยในไทยได้ทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศ และบริษัทประกันภัยในต่างประเทศพร้อมที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ แต่หลังจากนั้น จะไม่รับประกันภัยน้ำท่วมต่อ

ด้านคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้หารือกับบริษัทประกันในสิงคโปร์ ซึ่งทางบริษัทประกันยืนยันที่จะไม่รับประกันภัยต่อให้ภาคอุตสาหกรรมในไทย เพราะไม่มั่นใจในแผนจัดการน้ำท่วมของรัฐบาล โดยจะขอดูมาตรการต่อไปก่อนที่จะตัดสินใจอีกครั้ง

ทั่วประเทศมีการทำประกันรวมกัน 8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา 1 แสนล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 7 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้บริษัทประกันระบุว่า จะไม่รับประกันหรือต่อประกันให้ หากเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือถูกน้ำท่วม ถ้าจะทำประกัน ผู้ทำก็จะต้องแบกรับความเสี่ยงไว้ส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากธุรกิจประกันแล้ว ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักอีกรายหนึ่งก็คือ ธุรกิจบ้านจัดสรร โดยในทำเลที่เฟื่องฟูที่ได้รับความนิยมสูง เช่น รังสิต, นครนายก, ปริมณฑลของกรุงเทพฯ คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำท่วม ดังนั้น ผู้บริโภคจะเลี่ยงพื้นที่ในกลุ่มนี้ รวมทั้งในกลุ่มบางบัวทอง, นนทบุรี, บางใหญ่ ที่ตอนแรกมีทีท่าว่าจะไปได้สวยจากการมีรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่พื้นที่แถบชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นน้องใหม่มาแรงที่น่าจับตา ก็อาจจะไม่รุ่งอย่างที่คาด เพราะอยู่ในแถบน้ำท่วม

ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่หน้าบานก็คงจะเป็นคอนโดมิเนียม เนื่องจากผู้คนหวั่นเกรงว่า วิกฤติน้ำท่วมจะมาเยือนอีกรอบ จึงพากันมาให้ความสนใจคอนโดฯ ซึ่งธุรกิจนี้มีแนวโน้มว่าจะไปได้ดี ถ้าไม่โชคร้ายเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาเสียก่อน

หลังน้ำลดแล้ว หวังว่าเราจะมีวันที่ฟ้าสดใส เมฆหมอกมลายไป ถึงเวลาที่เราจะได้กลับบ้าน หลังจากที่รอคอยมานานนับเดือน กลับไปบูรณะซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย นำพาทุกอย่างให้ฟื้นกลับคืนสภาพเดิม ทั้งเศรษฐกิจ, สุขภาพกาย, สุขภาพใจ และความเป็นอยู่ น้ำใจที่เคยมีให้กัน เคยเห็นใจ เคยช่วยเหลือกันในยามน้ำท่วม จะไม่ลดลงไปเหมือนน้ำท่วมที่ลดลง หวังว่าสังคมของเราจะกลับสู่สภาพเดิม หรือยิ่งดีกว่าเดิม โดยไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งพวก แบ่งสี มีแต่ความร่วมมือ ร่วมใจ ไทยช่วยไทย ไม่ทิ้งกัน ช่วยกันฟื้นฟูเยียวยาบ้านเมืองให้กลับมาดีดังเดิม ให้ไทยกลับมาสู่สายตาชาวโลกได้อย่างงดงามอีกครั้ง ขอให้มหันตภัยครั้งนี้เป็นบทเรียนให้มีการเร่งแก้ไข, ปรับปรุง ในส่วนที่ไทยผิดพลาด ให้ไทยฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

ชีวิตมีสุข ทุกข์ สลับกันไป ทุกสิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่มีสิ่งใดที่จะคงอยู่ตลอดกาล เฉกเช่นเดียวกับวิกฤติน้ำท่วมที่ต้องมีวันสิ้นสุดลง ขอเพียงเรามั่นใจ เร่งแก้ไข และนำประเทศไทยเดินหน้าไปพร้อมๆกัน ดังธรรมะจากแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน ที่สอนให้เรามีสติ ฝ่าฟันวิกฤติอย่างรอบคอบ พร้อมกับความหวังที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อ ดังคำที่ว่า “น้ำท่วมกาย แต่ไม่ได้ท่วมใจ"นะคะ


แท็ก In Focus:   น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ