In Focus"เฟซบุ๊ก" ลั่นกลองรบ ตบเท้าออกหุ้น IPO เขย่าตลาด หนุนมูลค่าบริษัทกว่าแสนล้านดอลล์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday February 1, 2012 15:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี 2553 คนทั้งโลกต่างก็อึ้งและทึ่งไปกับข่าวนิตยสารไทมส์ ประกาศยกย่อง "มาร์ค เอลเลียต ซัคเคอร์เบิร์ก” หนุ่มน้อยมหัศจรรย์ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ "เฟซบุ๊ก" ให้เป็นบุคคลแห่งปี ในฐานะผู้สร้างระบบที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผู้คนกว่า 5,000 ล้านคนเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงการสร้างสรรค์ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคนค่อนโลก

แต่ที่สร้างความฮือฮาให้กับตลาดทั่วโลกมากที่สุดในเวลานี้ก็เมื่อหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ตีข่าวว่า เฟซบุ๊ก เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) โดยคาดว่าเฟซบุ๊กจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น IPO ต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) ในวันนี้ (1 กุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า เฟซบุ๊ก ได้ฟูมฟักตัวเองจนสามารถก้าวข้ามระยะตั้งไข่ และพร้อมที่จะกระโจนเข้าสู่ตลาดการเงินอย่างเต็มตัว ในฐานะบริษัทมหาชนน้องใหม่

*เฟซบุ๊ก จากเว็บไซต์เล็กๆของเด็กมหาวิทยาลัย สู่อภิมหาเครือข่ายสังคมออนไลน์มูลค่ามหาศาล

เฟซบุ๊ก ไต่เต้าขึ้นมาจากเว็บไซต์ “เฟซแมช (Facemash)” และผ่านการพัฒนาโดยฝีมือของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพียงไม่กี่คน ซึ่งมีหนุ่มมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กรวมอยู่ด้วย กระทั่งในวันที่ 28 ตุลาคม 2546 เฟซบุ๊ก ก็เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ และบริหารโดยบริษัท เฟซบุ๊ก (Facebook, Inc) ผลสำรวจในเดือนมกราคม 2552 ของคอมพีต ดอทคอม ระบุว่า เฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีผู้เข้าใช้งานมากที่สุดเมื่อดูจากจำนวนผู้ใช้รายเดือนถึง 135.1 ล้านคน รองลงมาคือ มายสเปซ จนทำให้เฟซบุ๊กติดทำเนียบ “สิ่งที่ดีที่สุดในช่วงท้ายทศวรรษ” จากการจัดอันดับของ เอ็นเตอร์เทน วีกลี

กระทั่งวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 เสียงเปิดแชมเปญก็ดังกึกก้องไปทั่วสำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊ก เมื่อมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก จัดงานฉลองครบรอบ 5 ปีของเฟซบุ๊ก ในฐานะเว็บไซต์ยอดนิยมที่สร้างปรากฏการณ์ระดับโลกที่มีผู้ใช้งานกว่า 150 ล้านคนทั่วโลกในระยะเวลาแค่ 5 ปี ส่งผลให้ซัคเคอร์เบิร์กกลายเป็นมหาเศรษฐีอายุน้อยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินราว 1.5 พันล้านดอลลาร์จากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์

ซัคเคอร์เบิร์ก เขียนในบล็อกเพื่อฉลองวันเกิด 5 ขวบของเฟซบุ๊กว่า " โลกอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ก่อนแทบจะไม่มีใครคิดเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงในอินเทอร์เน็ต แต่เครือข่ายสังคมออนไลน์แห่งนี้ช่วยให้คนทั่วโลกสามารถแสดงความคิดเห็นและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง” แถมกล่าวทิ้งท้ายว่า “"ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะก่อร่างสร้างธุรกิจอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 5 ปี และผมจะไม่ยอมหยุดอยู่แค่นี้”

ซัคเคอร์เบิร์กทำให้สุนทรพจน์ที่เป็นดั่งคำปฏิญาณของตนเองเป็นจริงนับแต่นั้น เขาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ “เชอรีล แซนด์เบิร์ก” ซีอีโอหญิงแกร่งของเฟซบุ๊ก พัฒนาบริษัทให้ก้าวล้ำนำหน้าขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการจับมือกับ สไกป์ เทคโนโลยีส์ เอส.เอ. ผู้ให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ให้บริการ video calling บนเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถพูดคุยกันแบบเห็นหน้าเห็นตาบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้ ซัคเคอร์เบิร์กและแซนด์เบิร์กไม่หยุดอยู่แค่นั้น พวกเขาพาเฟซบุ๊กรุกชิงส่วนแบ่งตลาดบนโลกออนไลน์อย่างไม่หยุดยั้ง กระทั่งการสำรวจล่าสุดพบว่า เฟซบุ๊ก สามารถครองส่วนแบ่งตลาดโฆษณาออนไลน์ที่เป็นรูปภาพหรือดิสเพลย์แอด (Display Advertising) ในสหรัฐตลอดปี 2554 ได้เพิ่มจาก 21% มาเป็น 27.9% ตอกย้ำฐานะผู้นำตลาดที่เหนือกว่าเว็บไซต์ยักษ์ใหญ่รายอื่นในอดีตอย่างชัดเจน

แอนดรูว์ ลิปส์แมน นักวิเคราะห์จาก comScore เปิดเผยว่า เฟซบุ๊กสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดดิสเพลย์แอดในสหรัฐจนครองแชมป์ได้อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 หลังจากที่เฟซบุ๊กล้มแชมป์เก่าอย่างยาฮูได้เป็นครั้งแรกในปี 2552 ก่อนที่เฟซบุ๊กจะมีส่วนแบ่งตลาดดิสเพลย์แอดมากกว่ายาฮู 2 เท่าตัวในปี 2554

comScore ระบุว่า สถิติงบโฆษณาออนไลน์ในตลาดสหรัฐขณะนี้มีมูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นอัตราเติบโตสูงกว่า 20% ในปี 2554 โดยมูลค่าของการโฆษณาออนไลน์ส่งสัญญาณแซงหน้าสื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารและหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง

* ถึงเวลา เฟซบุ๊ก บุกตลาดทุนเต็มตัว จ่อออกหุ้น IPO ระดมทุนกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

อันที่จริง ข่าวเฟซบุ๊กเตรียมนำหุ้น IPO เข้าเทรดในตลาดสหรัฐได้เล็ดรอดออกมาเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2554 เมื่อ CNN รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า เฟซบุ๊กจะเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหุ้นนิวยอร์กในช่วงไตรมาสแรกของปี 2555 ขณะที่สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า เฟซบุ๊กจะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น IPO ต่อก.ล.ต.ของสหรัฐในเดือนพ.ย.ปี 2554 จากนั้นข่าว IPO ของเฟซบุ๊กก็เงียบหายไปจากระยะหนึ่ง โดยปล่อยให้ลิงค์อิน คอร์ป (LinkedIn) ผู้บริหารเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ คู่แข่งรายย่อย นำหุ้น IPO เสนอขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กล่วงหน้าไปก่อนในเดือนพฤษภาคม 2554 จนกระทั่งปลายเดือนม.ค. 2555 ตลาดทั่วโลกก็หันมาจับตาความเคลื่อนไหวของเฟซบุ๊กอีกครั้ง เมื่อวอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า เฟซบุ๊กจะเสนอขายหุ้น IPO ในวันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ และที่เพิ่มดีกรีความร้อนแรงก็คือข้อมูลของ comScore ที่ว่า มูลค่าหุ้นของเฟซบุ๊กอาจจะสูงถึง 1 แสนล้านสหรัฐ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มผลประกอบการ 3,800 ล้านดอลลาร์ในปี 2554 แม้หลายฝ่ายกังวลว่า นโยบายการทุ่มเงินทุนขยายบุคลากรแบบก้าวกระโดดของซัคเคอร์เบิร์กอาจจะส่งผลด้านลบต่อการดำเนินงานของเฟซบุ๊กในอนาคตก็ตาม

เหยี่ยวข่าวของวอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า เฟซบุ๊กจะมอบหมายให้มอร์แกน สแตนลีย์เป็นตัวตั้งตัวตีในการทำอันเดอร์ไรท์ โดยมีเป้าหมายที่จะระดมทุนมูลค่าสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการออกหุ้น IPO ครั้งนี้ และทำให้บริษัทมีมูลค่าทางตลาดสูงถึง 7.5 หมื่นล้าน - 1 แสนล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดการณ์ว่า เฟซบุ๊กจะก้าวขึ้นเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก เช่นเดียวกับ แมคโดนัลด์, Amazon.com และแบงก์ ออฟ อเมริกา

ยิ่งไปกว่านั้น นักวิเคราะห์ของเรอเนซองส์ แคปิทอล ระบุว่า หุ้น IPO ของเฟซบุ๊กน่าจะมีมูลค่ามากที่สุดของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปีนี้ และแซงหน้ากูเกิลที่เคยระดมทุนได้ 1,900 ล้านดอลลาร์ ในปี 2547

การอัพเดทสถานะเป็นบริษัทมหาชนดังกล่าวของเฟซบุ๊ก ทำให้เจ้าพ่อสื่อสารมวลชนชื่อก้องโลก อย่าง รูเพิร์ต เมอร์ดอค ออกมาชื่นชมและแสดงความยินดีผ่านทวิตเตอร์ของเขาว่า "เฟซบุ๊กประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวด ส่วนมูลค่า 75,000-100,000 ล้านดอลลาร์นั้น จะทำให้บริษัทใหญ่อย่างแอปเปิล ดูมีมูลค่าน้อยไปถนัดตาเลยทีเดียว"

* เมื่อ IPO และ "Timeline" ปรากฎกายในเวลาไร่เรี่ยกัน

สาวกเฟซบุ๊กคงรู้จัก "ไทม์ไลน์ (Timeline)" เวอร์ชั่นใหม่ของเฟซบุ๊กเป็นอย่างดี ตัวแทนของเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เฟซบุ๊กจะกำหนดให้ผู้ใช้ทุกคนต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบ Timeline กันถ้วนหน้า และมั่นใจว่า ไทม์ไลน์ จะเป็นอีกหนึ่งลูกเล่นที่ทำให้ผู้ใช้งานได้สนุกกับสิ่งใหม่ๆ ของเฟซบุ๊กมากขึ้น เช่น การเข้าไปดูไทม์ไลน์ของเพื่อนๆ ผู้ใช้งาน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการฟังและโหลดเพลงได้ง่ายขึ้นจาก "สปอติฟาย"(Spotify)" และอ่านบทความที่สามารถลิงก์ไปที่แหล่งที่มาได้โดยตรง

แต่ผลการสำรวจของบริษัทวิจัยหลายแห่งพบว่า "ไทม์ไลน์" ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร มีผู้คลิกเปลี่ยนรูปโฉมไปเพียงแค่ 1 ใน 10 เท่านั้น ส่วนสาเหตุหลักมาจากการที่ผู้ใช้งานกังวลถึงความเป็นส่วนตัวมากถึง 51% รองลงมาคือการไม่ชอบหน้าตาของเพจที่ยกเครื่องใหม่ทั้งหมด และมีเพียงแค่ 8% เท่านั้นที่พึงพอใจกับการปรับโฉมของเฟซบุ๊ก

ผู้สังเกตการณ์หลายคนตั้งข้อสังเกตุ (อย่างไม่เป็นทางการ) ว่า เฟซบุ๊กเปิดตัวไทม์ไลน์เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยก่อนเข็นหุ้น IPO เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์ก ด้วยความหวังเล็กๆที่ว่า ไทม์ไลน์จะช่วยปลุกสีสันใน "โลกเสมือนจริง" อย่างเฟซบุ๊ก ให้คึกคักขึ้น และที่มากไปกว่านั้น ....คือการส่งสัญญาณถึงความสำเร็จทางนวัตกรรมในอีกขั้นหนึ่งของพ่อหนุ่มซัคเคอร์เบิร์ก ที่เพิ่งได้รับรางวัล Lemelson-MIT elson-MIT ในฐานะ "นักประดิษฐ์ยอดเยี่ยมตลอดกาล" เป็นลำดับที่ 5 รองจากสตีฟ จ๊อบส์ ผู้สร้างสรรค์อุปกรณ์ไอทีสุดฮิตอย่างไอโฟน และไอแพด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ