เหล่าสาวกรถแต่งทั้งหลายกำลังจะได้ต้อนรับเทศกาลระดับเวิลด์คลาสที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรกกับงาน "บางกอก อินเตอร์เนชันแนล ออโต้ ซาลอน 2012" โดยค่ายสยามสปอร์ต ซินดิเคท และอินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งทางผู้จัดได้ลิขสิทธิ์จากงานโตเกียว ออโต้ ซาลอน ซึ่งถือเป็นมหกรรมรถแต่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก สูสีกับงาน SEMA Show ในลาสเวกัสเลยทีเดียว
แม้เราจะไม่ค่อยได้พบเห็นขบวนรถแต่งสุดเท่ในชีวิตประจำวันหรือบนท้องถนนทั่วไปมากนัก แต่ใครจะรู้ว่า ตลาดอาฟเตอร์มาร์เก็ต หรืออุปกรณ์ประดับยนต์ในเมืองไทยมีเงินสะพัดถึงปีละกว่า 5 หมื่นล้านบาท ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ หรือกรมส่งเสริมการส่งออก ฝากความหวังไว้กับงานครั้งนี้อย่างมาก ไม่ว่าจะในแง่ของการกระตุ้นตลาดหรือเตรียมพร้อมแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านก่อนที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี 2558 หลังจากผู้ผลิตรายย่อยเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตน้ำท่วมปีที่แล้ว
ตลาดประดับยนต์หรืออาฟเตอร์มาร์เก็ต (aftermarket) ครอบคลุมการปรับแต่ง (tuning) ตั้งแต่รูปลักษณ์ภายนอก อุปกรณ์ภายใน ช่วงล่าง ไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจหรือเครื่องยนต์ เริ่มแรกการปรับแต่งรถยนต์นั้นส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อการแข่งขันในสนาม แต่เมื่อความต้องการของลูกค้าแตกต่างหลากหลายมากขึ้น บรรดาผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือซ่อมบำรุงรถยนต์ หรือกระทั่งค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ก็กระโดดลงมาจับตลาดนี้มากขึ้นตามไปด้วย จนกระทั่งมีการพูดกันว่า การปรับแต่งรถยนต์นั้นได้กลายเป็นป็อป คัลเจอร์ หรือวัฒนธรรมสมัยนิยมไปแล้ว ใครที่อยากดูโดดเด่นนอกจากต้องขับรถสวยแล้ว ยังต้องแต่งให้แรง เร้าใจ และไม่เหมือนใครอีกต่างหาก อย่างในสหรัฐอเมริกามีการประเมินว่า ตลาดประดับรถยนต์มีเม็ดเงินมหาศาลถึง 257 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี และว่าจ้างแรงงานราว 4.54 ล้านชีวิตโดยไล่เรียงตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่ายและการซ่อมบำรุง เมื่อพิจารณาจากผลกำไรในอุตสาหกรรมรถยนต์ มีแค่ 20% เท่านั้นที่มาจากการขายรถใหม่ ส่วน 60% มาจากตลาดประดับยนต์ และที่เหลือเป็นบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกันภัย สินเชื่อ และตลาดรถมือสอง ส่วนในแคนาดานั้น ตลาดดังกล่าวมีเงินหมุนเวียนถึง 1.67 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีแรงงานกว่า 470,000 คน เรียกว่าตลาดรถยนต์ในแถบอเมริกาเหนือที่ดูไม่ค่อยเฟื่องฟูสักเท่าไร แอบมีแรงหนุนอย่างเงียบๆ จากตลาดรองอย่างการแต่งรถยนต์ ส่วนจีนที่ปัจจุบันเป็นสนามรบยานยนต์ที่ใหญ่สุดของโลก ตามข้อมูลล่าสุดของปี 2554 ตลาดประดับยนต์มีมูลค่ามหาศาลถึง 6.75 หมื่นล้านดอลลาร์ และคาดว่า จะขยายตัวเกินกว่า 8.64 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากอานิสงส์ของตลาดรถยนต์ใหม่ ซึ่งแม้ว่าช่วงนี้อาจจะซบเซาไปบ้างก็ตาม โดยโมเมนตัมการเติบโตดังกล่าวนั้น จะเน้นไปที่เมืองระดับ 2 หรือ 3 ทางตอนกลางหรือตะวันตกของประเทศ เนื่องจากจากความแออัดและกฎระเบียบด้านยานพาหนะที่เข้มงวดตามเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว ขณะที่ในญี่ปุ่นนั้นคาดว่าตลาดประเภทนี้ยังทรงตัวอันเป็นผลพวงจากภัยธรรมชาติเมื่อปีที่แล้ว โกลบอล อินดัสทรี อนาลิสิส (GIA) บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำ ระบุในผลสำรวจตลาดอาฟเตอร์มาร์เก็ตทั่วโลกว่า ตลาดดังกล่าวจะมีมูลค่าแตะ 336 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2558 โดยมีปัจจัยหนุนจากยอดขายรถใหม่ และความต้องการรถยนต์เอสยูวีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความนิยมรถยนต์พลังงานทางเลือก และความร้อนแรงของตลาดเอเชีย ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญ นอกจากแรงหนุนจากตลาดรถยนต์โดยรวมที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องแล้ว ตลาดรถแต่งยังถูกกระตุ้นด้วยความเคลื่อนไหวของบรรดาค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่ขยันเปลี่ยนโมเดลใหม่กันเป็นว่าเล่น จากรายงานของบริษัทวิจัยตลาดรถยนต์เคลลีย์ บลู บุ้ค ระบุว่า มีรถยนต์อย่างน้อย 10 รุ่นที่กำลังจะยุติสายการผลิตภายในปีนี้ ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ประดับยนต์ต้องเร่งมือเพิ่มสต๊อกสินค้ากันยกใหญ่ รถยนต์ 10 รุ่นที่กำลังจะถูกโละประกอบด้วย ดอดจ์ คาลิเบอร์, เกีย โซโดนา, มิตซูบิชิ อีคลิปส์, มิตซูบิชิ กาแลนต์, มาสด้า ซีเอ็กซ์-7, เล็กซัส เอชเอส ไฮบริด, เมอร์เซเดส-เบนซ์ อาร์คลาส, ฮุนได เวราครูซ, จีเอ็มซี แคนยอน และเชฟโรเลต โคโรลาโด แม้ตลาดประดับยนต์โดยรวมจะขยายตัวควบคู่ไปกับตลาดรถใหม่ แต่ก็ยังมีตลาดอุปกรณ์บางประเภทที่แนวโน้มไม่สดใสเอาเสียเลย นั่นคือ ตลาดเครื่องเสียงติดรถยนต์ โดยผลการศึกษาของไอเอ็มเอส รีเสิร์ช ชี้ว่า ยอดขายเครื่องเสียงติดรถยนต์ทั่วโลกส่อเค้าหดตัวลงไปเกือบครึ่ง จาก 6.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2554 ไปอยู่ที่ 3.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 และเมื่อเจาะลงไปในตลาดแถบอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกแล้ว ยอดขายเครื่องเสียง วิดีโอ และระบบนำทางในรถยนต์ มีแนวโน้มร่วงลงจาก 1.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2554 มาอยู่ที่เพียง 781 ล้านดอลลาร์ในปี 2561 สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่บรรดาค่ายรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่เดินหน้าพัฒนาอุปกรณ์ภายในกันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องเสียเงินแต่งอะไรเพิ่มอีก ยกตัวอย่างเช่นเครื่องเล่นดีวีดี/ซีดีที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนหรือไอแพด ซอฟต์แวร์ระบบสื่อสาร (telematics system) อย่าง Ford Sync, Toyota Smart G-Book, Hyundai BlueLink และ GM OnStar นอกจากนี้ โตโยต้ายังผนึกกำลังกับนินเทนโด เจ้าพ่อเกมคอนโซล เพื่อแปลงร่าง Nintendo DS ให้เป็นระบบนำทางในรถยนต์ จึงไม่น่าแปลกใจว่า กระทั่งรถเล็กกะทัดรัดราคาประหยัดก็ยังสามารถใช้ออปชั่นสุดล้ำต่างๆ เป็นจุดขาย ถ้าพูดถึงรถรุ่นที่นิยมนำมาแต่งหล่อหรือปรับจูน โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์ ช่วงล่าง และท่อไอเสีย แน่นอนว่าต้องเป็นรถรุ่นเหล่านี้ -- Nissan GTR/Skyline, Mitsubishi Lancer EVO, Subaru WRX Sti, Honda Civic, Mazda RX7, Toyota Supra Turbo, Dodge Neon SRT4, Hyundai Genesis, Nissan Z, Honda NSX ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ราคารถแต่งสุดเนี้ยบอย่าง Nissan GTR Z-tune น่าจะถีบตัวสูงถึง 180,000 ดอลลาร์ และหากปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนภายในล้วนๆ ราคาน่าจะอยู่ที่ 108,500 ดอลลาร์ ส่วนรถหรูบางรุ่นที่นอกจากจะผ่าตัดหัวใจใส่ขุมพลังใหม่เข้าไปแล้ว ยังถูกตกแต่งประดับประดาให้เลิศหรูจนเราๆ ท่านๆ เอื้อมไม่ถึงเข้าไปอีก เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสแอล600 ที่มาพร้อมกับคริสตัลชวารอฟสกี้แพรวพราวทั่วตัวกว่า 3 แสนเม็ด ส่งผลให้ราคาพุ่งไปอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์ หรือจะเป็นเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซี63 เอเอ็มจี ที่หุ้มทองเหลืองอร่ามไปทั้งตัว รวมค่าตัวของเดิมกับค่าทองแล้วจึงสูงถึง 4.8 ล้านดอลลาร์ นอกจากการปรับจูนเพื่อความสวยงามและความเร้าใจในการขับขี่แล้ว การปรับแต่งเครื่องยนต์ให้กินน้ำมันน้อยลงหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานทางเลือก เครื่องยนต์ไฮบริด เซลล์เชื้อเพลิง หรือใช้แบตเตอรี่ที่มีความสามารถประจุไฟมากขึ้น ใครที่มีเงินในกระเป๋าเหลือเฟือและอยากปิ๊งไอเดียแต่งหล่อเติมสวยให้รถยนต์คันโปรด งานบางกอก อินเตอร์เนชันแนล ออโต้ ซาลอน 2012 จะจัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคมนี้ที่เมืองทองธานี นอกจากจะขนรถแต่งกว่า 30 คันจากญี่ปุ่นมาโชว์โฉมกันแล้ว ยังมีการแข่งขันดริฟต์รถ D1 Grand Prix Thailand 2012 ซึ่งประเดิมจัดขึ้นในเมืองไทยเป็นครั้งแรกด้วย