In Focusตามรอยสงครามสิทธิบัตรสุดร้อนระอุระหว่าง “แอปเปิ้ล-ซัมซุง"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday September 5, 2012 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลายเป็นประเด็นฮือฮาบนโลกออนไลน์ไปแล้วสำหรับคำตัดสินของคณะลูกขุนสหรัฐเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีคำสั่งให้ซัมซุง อิเล็คทรอนิคส์จ่ายเงินเพื่อชดเชยค่าเสียหายให้แก่แอปเปิ้ลอิงค์มูลค่า 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) โทษฐานที่อีกฝ่ายจงใจละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิ้ล อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการฟ้องร้องหว่างสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการมือถือ โดยแอปเปิ้ลเริ่มเปิดฉากฟ้องร้องซัมซุงมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2554 และจากนั้นเป็นต้นมาทั้งสองบริษัทได้ฟ้องร้องคดีละเมิดสิทธิบัตรตอบโต้กันมาโดยตลอด และจนถึงเดือนมิ.ย. 2555 ทั้งสองบริษัทยังมีคดีกว่า 50 คดี ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหรัฐ แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ โดยเรียกร้องความเสียหายเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

In focus ประจำสัปดาห์นี้ จึงขออาสาติดตามประเด็นนี้ที่กำลังเผ็ดร้อนในโลกออนไลน์ โดยจะพาท่านผู้อ่านย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของศึกษาสงครามมือถือระหว่างทั้งสองค่ายใหญ่นี้ รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ชนวนสงครามสิทธิบัตร

แอปเปิ้ล อิงค์ เริ่มยื่นคำร้องระดับประเทศ (federal complaint) เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2554 ที่ศาลเขตสหรัฐประจำเขตนอร์ธ แคลิฟอร์เนีย โดยยื่นคำร้องว่าโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์หลายรุ่นของซัมซุง ประกอบด้วย โทรศัพท์ Nexus S, Epic 4G, Galaxy S 4G รวมทั้งแท็บเล็ต Samsung Galaxy Tab ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของแอปเปิ้ล

การฟ้องร้องครั้งนั้น แอปเปิ้ลได้ส่งรูปโทรศัพท์ iPhone 3GS และ Samsung Galaxy S ซึ่งวางเทียบกับเพื่อให้ศาลพิจารณา แต่หลังจากนั้นมีการเปิดโปงว่ารูปดังกล่าวผ่านการตัดต่อเพื่อให้โทรศัพท์ทั้งสองรุ่นในภาพหน้าตาละม้ายกันมากขึ้น เป็นเหตุให้ต่อมาทนายความของฝั่งซัมซุงฟ้องร้องแอปเปิ้ลโทษฐานยื่นหลักฐานที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในชั้นศาล

ซัมซุงประเดิมความปราชัยในเยอรมนี

ในเดือนส.ค. 2554 ศาล Landgericht ในเมืองดุสเซลดอร์ฟ เยอรมนีอนุมัติคำร้องของแอปเปิ้ล เพื่อสั่งห้ามในขั้นต้นไม่ให้จำหน่ายเท็บเล็ต Samsung Galaxy Tab 10.1 ทั่วทั้งยุโรป เนื่องจากซัมซุงละเมิดสิทธิบัตร 2 ฉบับด้านอินเตอร์เฟสของแอปเปิ้ล อย่างไรก็ตาม ศาลได้เพิกถอนคำร้องของแอปเปิ้ลที่ต้องการระงับการจำหน่าย Galaxy Tab 10.1 ทั่วทั้งยุโรป และลดคำร้องให้เหลือแค่ห้ามจำหน่ายแท็บเล็ตดังกล่าวแค่ในเยอรมนีแทน หลังศาลจับได้ว่าเอกสารที่แอปเปิ้ลยื่นต่อศาลนั้นเป็นการตัดต่อหน้าจอ Galaxy Tab ให้มีสัดส่วนเท่าขนาด iPad 2 รวมทั้งตัดต่อให้ดูคล้าย iPad 2

อย่างไรก็ตาม แอปเปิ้ลยังเดินหน้าฟ้องร้องในเยอรมนีต่อ โดยยื่นฟ้องร้องต่อศาลเมืองดุสเซลดอร์ฟอีกครั้งในเดือนม.ค.ปีนี้ เพื่อให้ศาลระงับการจำหน่ายสมาร์ทโฟนขึ้นซัมซุงอีก 10 รุ่น รวมถึง Galaxy S Plus และ Galaxy S2

ขณะที่ในเดือนมี.ค. 2555 ศาลเมืองมันน์ไฮม์ ได้ปฏิเสธการคำร้องจากทั้งทางแอปเปิ้ลและซัมซุงซึ่งอ้างสิทธิในการครอบครองฟีเจอร์ “slide-to-unlock"

ด้วยความที่สงครามสิทธิบัตรระหว่างสองยักษ์ใหญ่สมาร์ทโฟนเกิดขึ้นในเยอรมนีบ่อยครั้ง ทำให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่าศาลเยอรมนีถือเป็นใจกลางของสงครามสิทธิบัตรระหว่างผู้ผลิตสมาร์ทโฟรทั้งสองค่าย

สงครามโต้ตอบที่ฝรั่งเศส, อิตาลี

ภายหลังแอปเปิ้ลเปิดตัว iPhone 4S เมื่อต้นเดือนต.ค. 2554 เพียงไม่นาน ทางซัมซุงก็ได้เปิดฉากฟ้องร้องในศาลฝรั่งเศสและอิตาลีเพื่อให้ศาลออกคำสั่งห้ามจำหน่าย iPhone 4S ในทั้งสองประเทศ โดยซัมซุงอ้างว่าแอปเปิ้ลละเมิดสิทธิบัตรเทคโนโลยีไร้สายระบบ Wideband Code Division Multiple Access (WCDMA) สองฉบับ ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ซัมซุงเลือกฝรั่งเศสและอิตาลีในฐานะที่เป็นตลาดสินค้าโทรคมนาคมอิเล็กทรอนิคที่สำคัญในยุโรป และการฟ้องร้องต่อศาลในสองประเทศนี้ถือเป็นการเลี่ยงการฟ้องร้องศาลในเยอรมนีหลังพ่ายแพ้คดีกับแอปเปิ้ลไปก่อนหน้านั้น

ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะที่ออสเตรเลีย

สำหรับสงครามสิทธบัตรระหว่างแอปเปิ้ลและซัมซุงในออสเตรเลียก็เข้มข้นไม่แพ้กัน โดยเมื่อเดือน.ต.ค. 2554 ศาสออสเตรเลียอนุมัติคำร้องของแอปเปิ้ลเพื่อสั่งห้ามซุมซุงจำหน่ายแท็บเล็ต Galaxy Tab 10.1 ในออสเตรเลียจนกว่าจะสิ้นสุดคดีความ และต่อมาฝ่ายซัมซุงได้ยื่นอุทธรณ์ ผลปรากฎว่า ต่อมาศาลออสเตรเลียอนุญาตให้ซัมซุงกลับมาจำหน่ายแท็บเล็ตซัมซุง Galaxy Tab 10.1 ในระหว่างกระบวนการตัดสินคดียังไม่สิ้นสุด

ด้าน Tyler McGee รองประธานฝ่ายคมนาคมของซัมซุง ออสเตรเลียได้ออกมาเผยว่า คำตัดสินครั้งนี้ถือเป็นการทำตลาดชั้นดี และทำให้ Galaxy Tab กลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชน ซึ่งทำให้ Galaxy Tab ของซัมซุงได้กลายเป็นชื่อสามัญที่ใครๆ ก็รู้จัก โดย Mcgee อ้างว่า ภายหลัง Galaxy Tab สามารถกลับมาจำหน่ายในออสเตรเลียอีกครั้งก็สามารถทำยอดขายได้จนสินค้าหมดสต็อก แต่ไม่ได้มีการระบุยอดขายที่ชัดเจน

ศาลอังกฤษชี้แท็บเล็ตซัมซุงไม่เจ๋ง เทียบชั้น iPad ไม่ได้

ในเดือนก.ค. 2555 ถึงทียักษ์ใหญ่ไอทีแดนกิมจิได้คว้าชัยบ้าง ภายหลังศาลอังกฤษตัดสินว่า เท็บเล็ตของซัมซุงไม่ได้เลียนแบบ iPad ของแอปเปิ้ล โดยศาลอังกฤษระบุว่าเท็บเล็ตของซัมซุงไม่เจ๋งเท่า iPad และยากที่จะเกิดความเข้าใจผิดระหว่างผลิตภัณฑ์จากทั้งสองฝั่งได้ นอกจากนั้นแอปเปิ้ลยังต้องช้ำอีกเด้ง เพราะศาลอังกฤษมีคำสั่งให้แอปเปิ้ลลงประกาศในหน้าเว็บไซต์เป็นเวลา 6 เดือนและหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับเพื่อประกาศว่า ซัมซุง Galaxy Tab ไม่ได้เลียนแบบ iPad ของแอปเปิ้ล

เจ๊ากันไปที่เกาหลีใต้, ซัมซุงคว้าชัยที่ญี่ปุ่น

สำหรับการฟ้องร้องในเอเชียก็มีให้เห็นเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2555 ในการตัดสินที่เกาหลีใต้ ศาลเขตกรุงโซลมีคำสั่งปรับทั้งทางซัมซุงและแอปเปิ้ล โดยตัดสินว่าทั้งสองฝ่ายตามละเมิดสิทธิบัตรซึ่งกันและกัน และระงับการจำหน่ายสินค้าจากทั้งสองค่ายภายในเกาหลีใต้ ซึ่งประกอบด้วย iPhone 3GS, iPhone 4, iPad 1 และ iPad 2 โดยศาลระบุว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ละเมิดสิทธิบัตรโทรคมนาคมของซัมซุง ขณะเดียวกันก็สั่งให้ระงับการจำหน่าย Galaxy 2 และมือถือตัวอื่นๆ ของซัมซุง โดยศาลระบุว่า โทรศัพท์จากฝั่งซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรคุณสมบัติ Bounce Back ที่ผู้ใช้โทรศัพท์จะมองเห็นเมื่อเลื่อนหน้าจอจนสุดรายการ

ขณะที่เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2555 ศาลเขตโตเกียว ของญี่ปุ่นได้ตัดสินให้ซัมซุงไม่ละเมิดสิทธิบัตรของญี่ปุ่น จากการยื่นคำร้องของแอปเปิ้ลต่อศาลกรุงโตเกียวว่า ซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรด้านการโอนถ่ายข้อมูล โดยใช้เทคโนโลยีการโอนถ่ายของมูลที่มีความใกล้เคียงกับเทคโนโลยีของอุปกรณ์ในค่ายแอปเปิ้ล ซึ่งศาลญี่ปุ่นปฏิเสธคำร้องของแอปเปิ้ลโดยระบุว่า เทคโลยีการโอนข้อมูลที่ซัมซุงใช้นั้นไม่ได้ครอบครองโดยแอปเปิ้ล

ชัยชนะครั้งใหญ่ของแอปเปิ้ลที่บ้านเกิด

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2555 หลังมีการพิจารณาคดีความนานกว่า 21 ชั่วโมง คณะลูกขุนศาลในเมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐตัดสินได้ตัดสินว่า ซัมซุงจงใจละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิ้ล โดยศาสสั่งให้ซัมซุงต้องจ่ายเงินให้แก่แอปเปิ้ลเพื่อชดเชยความเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) ในบรรดาสิทธิบัตรที่ศาลตัดสินว่าละเมิดนั้น ประกอบด้วยคุณสมบัติ Bounce Back, Multi-touch เทคโนโลยีที่ผู้ใช้สามารถสัมผัสหน้าจอได้พร้อมกันหลายจุด Pinch-to-Zoom ท่าจีบถ่างนิ้วที่ใช้ขยายภาพ และ Tap-to-zoom ซึ่งเป็นคุณสมบัติการแตะเพื่อขยาย

ชัยชนะครั้งใหญ่ครั้งนี้ถือเป็นสิ่งแอปเปิ้ลตั้งตารอคอยมากอย่างยาวนาน โดยทางแอปเปิ้ลระบุว่า นี่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าการขโมยของคนอื่นไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ฝั่งซัมซุงมองว่า ผลการตัดสินครั้งนี้ตัดโอกาสการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค และทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสในการซื้อสินค้าที่จำกัด ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ว่าซัมซุงอาจยื่นอุทธรณ์คดีนี้ในสหรัฐด้วย

ซัมซุงช้ำไม่พอ แอปเปิ้ลเล็งฟ้องร้องห้ามจำหน่าย Galaxy S3

ภายหลังชนะคดีละเมิดสิทธิบัตรไม่นาน แอปเปิ้ลยังยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้เพิกถอนการจำหน่ายโทรศัพท์ของซัมซุง 8 รุ่น ซึ่งประกอบด้วย Galaxy s 4G, Galax S2 ของเครือข่าย AT&T, Galaxy S2 Skyrocket, Galaxy S2 ของเครือข่าย T-mobile, Galaxy S2 Epic 4G, Galaxy S showcase, Droid Charge และ Galaxy Prevail

เท่านี้ยังไม่พอ เพราะล่าสุด Apple ตัดสินใจฟ้องซัมซุงต่อ โดยพุ่งเป้าไปที่สินค้าที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่ได้นาน ซึ่งรวมทั้ง Samsung Galaxy S3, Galaxy Note, และแท็บเล็ต Galaxy Note 10.1 โดยครั้งนี้แอปเปิ้ลกล่าวหาซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรด้านฟีเจอร์ เช่น การปลดล็อค Slide-to-unlock และ Universal Search ซึ่งสามารถค้นหาทุกอย่างในกล่องเดียว

แม้ซัมซุงจะกลายเป็นผู้แพ้ในคดีที่สหรัฐและต้องเสียเงินก้อนมหาศาล แต่มองในอีกแง่หนึ่งก็ถือเป็นการแลกกับบทเรียน ซึ่งอาจบีบให้ซัมซุงเข็ดขยาดกับการจ่ายค่าปรับแสนแพง และปรับเปลี่ยนแนวคิดในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ไม่ซ้ำใคร ใครจะไปรู้ว่าผลจากการพ่ายคดีในครั้งนี้ อาจจะทำให้บริษัทขึ้นเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนอย่างใสบริสุทธิ์ในอนาคต จากผลผลิตด้วยความคิดของตัวเองล้วนๆ ก็เป็นได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ