บลจ.แอสเซทพลัส เปิด Rollover กองทุนตราสารหนี้ 3 เดือน ผลตอบแทน 2.95%

ข่าวทั่วไป Thursday December 6, 2012 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการขายและการตลาด บลจ.แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า ในสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยช่วงขาลงโดยทั่วไปผู้ลงทุนควรลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว แต่เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยังมีความผันผวน ดังนั้น สำหรับผู้ลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงจากความผันผวนและต้องการการลงทุนที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก บริษัทฯ จึงแนะนำให้ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะเวลาสั้น 3 - 6 เดือน ซึ่งในวันที่ 12 ธันวาคม บริษัทฯ จะ Rollover กองทุนเปิดแอสเซทพลัสแอ็คทีฟตราสารหนี้ 1 (ASP-ACFIXED1) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ในประเทศที่เสนอขายเป็นรอบระยะเวลา โดยรอบการลงทุนนี้จะพิจารณาลงทุนในตั๋วแลกเงิน เงินฝาก และพันธบัตรรัฐบาล อายุประมาณ 3 เดือน โดยคาดว่าสามารถให้ผลตอบแทนหลังหักค่าใช้จ่ายได้อยู่ที่ 2.95% ต่อปี

ด้านนางสาวฤดี ปติอารยกุล ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.แอสเซท พลัส กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 56 ยังมีโอกาสเผชิญกับการชะลอตัวลง หลังจากเศรษฐกิจปี 55 ได้กระเตื้องขึ้นจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นภายหลังเผชิญเหตุการณ์มหาอุทกภัย ซึ่งจะเห็นได้จากผลประกอบการไตรมาส3/55 ของบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทเริ่มมีกำไรลดลง อีกทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจในต่างประเทศทั้งสหรัฐ ยุโรป รวมถึง ญี่ปุ่น ยังคงมีความผันผวนและมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยสหรัฐฯยังรอความชัดเจนหลังหมดเรื่องของมาตรการหน้าผาทางการคลัง(Fiscal Cliff) ในขณะที่ยุโรปมีความกังวลจากปัญหาหนี้ของสเปน ซึ่งรัฐบาลต้องใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดตัวเลขหนี้สาธารณะในประเทศลง สำหรับประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มเศรษฐกิจจะต้องเผชิญกับภาวะขาลงจากความไม่แน่นอนของปัจจัยเศรษฐกิจในต่างประเทศ และผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษี รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ทางรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นจะเลื่อนการใช้มาตรกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศออกไป

จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ประเมินว่าส่วนหนึ่งจะเป็นผลดีต่อภาวะการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะอาจมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ย คาดว่าในปีหน้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งจากระดับปัจจุบัน 2.75% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากประเมินว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนต.ค.ที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไปมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลงน้อยกว่าการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทาง กนง.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ