In FocusYahoo ทุ่มซื้อ Tumblr ท่ามกลางข้อกังขาเรื่องการพลิกเปลี่ยนโอกาสเป็นรายได้

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 22, 2013 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่ตกเป็นกระแสข่าวลือและการคาดการณ์โดยสื่อชื่อดังทั่วโลกติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ในที่สุด ยาฮู ก็ประกาศอย่างเป็นทางการถึงการเข้าซื้อกิจการของ Tumblr ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นในสหรัฐ ด้วยเงินสดในวงเงิน 1.1 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นการเข้าซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรกของมาริสสา เมเยอร์ นับตั้งแต่ย้ายจากกูเกิลมาทำหน้าที่ซีอีโอของหนึ่งในบริษัทอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก และหลังจากที่ได้ไล่ซื้อธุรกิจขนาดเล็กมาแล้วหลายบริษัท

เมเยอร์ระบุว่า Tumblr จะมาเป็นส่วนที่เติมเต็มให้กับยาฮูในส่วนของสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรดี การซื้อธุรกิจที่มีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 6 ที่มีรายได้เพียง 13 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเมเยอร์ในเรื่องการสร้างผลตอบแทนจากการซื้อกิจการ ในขณะที่ยาฮูเองมีประวัติการซื้อกิจการที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก

นักวิเคราะห์หลายคนได้กล่าวปรามาสไว้ว่า การซื้อ Tumblr อาจจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดียวกับจีโอซิตี้ส์ ซึ่งได้กลายเป็นกรณีศึกษาสุดคลาสสิคของโลกอินเทอร์เน็ตไปเรียบร้อยแล้ว โดยหลังจากที่มีการรายงานข่าวที่ยังไม่เป็นทางการ ผู้ใช้ Tumblr หลายพันรายได้แสดงความไม่พอใจพร้อมกับขู่ว่า จะย้ายข้อมูลไปยังเวิร์ดเพรสซึ่งเป็นคู่แข่งของ Tumblr แทน

แมทท์ มุลเลนเวก ซีอีโอของเวิร์ดเพรส ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบล็อกที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในโลกเขียนลงในบล็อกว่า ยอดการโพสต์ข้อความในเวิร์ดเพรสที่อิมพอร์ทมาจาก Tumblr ได้เพิ่มขึ้นเป็น 72,000 โพสต์ต่อชั่วโมง จากปกติ 400-600 โพสต์ต่อชั่วโมง ในระยะนี้

ถึงแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะไม่สูงนักเมื่อเทียบกับจำนวนหลายสิบล้านโพสต์ต่อวันของ Tumblr แต่ก็เป็นความเคลื่อนไหวที่สะท้อนให้เห็นถึงการต่อต้านการซื้อกิจการโดยยาฮู

mashable.com ซึ่งเป็นหนึ่งในบล็อกเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่มียอดผู้อ่านมากที่สุดในโลกได้เขียนคู่มือแนะนำอย่างละเอียดสำหรับการย้ายคอนเทนท์จาก Tumblr ไปยังเวิร์ดเพรส นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งเว็บไซต์ tumblrtowordpress.com ขึ้นมาเพื่อสอนวิธีการย้ายแพลตฟอร์มอย่างละเอียดโดยเฉพาะ

ผู้ก่อตั้งลั่น Tumblr จะยังคงเป็นอิสระ

เมเยอร์ และเดวิด คาร์พ ผู้ก่อตั้งวัย 26 ปีของ Tumblr รับประกันกับผู้ใช้ที่วิตกกังวลว่า ข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการของ Tumblr โดยยาฮูในวงเงิน 1.1 พันล้านดอลลาร์ จะช่วยให้ Tumblr ยังสามารถดำเนินงานได้ตามปกติ พร้อมกับระบุว่า “พนักงานทุกคนจะยังคงทำงานที่นิวยอร์กและคาร์พจะยังดำรงตำแหน่งซีอีโอเช่นเดิม"

คาร์พกล่าวว่า “มาริสสาได้นำทางผมไปสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น เธอช่วยให้ผมมองเห็นโอกาสสำหรับ Tumblr ที่จะยังคงเป็นบริษัทอิสระ และต่อจากนี้เราจะสามารถดำเนินการตามพันธกิจและวิสัยทัศน์ของบริษัทโดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากยาฮู"

ทั้งนี้ ผู้ใช้ Tumblr ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นกังวลว่า ยาฮูอาจจะนำเสนอโฆษณาบนแพลตฟอร์มของ Tumblr ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความเป็น Minimalistic มาตั้งแต่ต้น ในขณะที่ยาฮูก็มีแรงจูงใจในเรื่องดังกล่าว หลังจากที่สูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดโฆษณาให้กับกูเกิลและเฟซบุ๊กไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เมเยอร์กล่าวอย่างมั่นใจว่า “หากคุณมองย้อนกลับไปยังอดีต การซื้อธุรกิจในวงเงินพันล้านดอลลาร์ที่ประสบความสำเร็จ เช่น เพย์พัล และ ยูทูบ ต่างก็มีธีมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ คุณอยากเห็นธุรกิจเหล่านั้นเดินหน้าอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ หน้าที่ของคุณก็คือทำให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นและไม่ทำตัวเป็นอุปสรรค"

คาร์พกล่าวเสริมว่า Tumblr ได้กำหนดเป้าหมายล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะขายโฆษณาผ่านคอนเทนท์ ไม่ใช่การติดตั้งแบนเนอร์ “เราได้พิสูจน์มาแล้วว่าระบบโฆษณาของเราทำงานอย่างได้ผล" เขากล่าว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า Tumblr ได้ขายโฆษณามาแล้วอย่างต่อเนื่อง

เมเยอร์เห็นดัวยกับคาร์พโดยระบุว่า นิตยสารโว้กและซูเปอร์โบว์ลได้ซื้อโฆษณาบน Tumblr พร้อมกับเสริมว่าอยากเห็นโฆษณามีความลงตัวอย่างเป็นธรรมชาติกับเนื้อหาในบล็อก และอยากเห็นผู้คนกล่าวว่า “ฉันดูซูเปอร์โบว์ลเพราะว่าโฆษณามันน่าตื่นเต้น"

คาร์พกล่าวว่า ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทได้ประชุมร่วมกันในช่วงวันหยุดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ในเรื่องโอกาสด้านโฆษณา พร้อมกับยอมรับว่า หลายครั้งที่การเจรจาเปลี่ยนไปเป็นข้อเสนอซื้อกิจการแทน

เคน โกล์ดแมน ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของยาฮู กล่าวว่า การตัดสินใจเสนอซื้อ Tumblr ในวงเงิน 1.1 พันล้านดอลลาร์มาจากการเปรียบเทียบกับข้อเสนอซื้อกิจการของอินสตาแกรมในวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์โดยเฟซบุ๊ก และข้อเสนอซื้อกิจการแยมเมอร์ 1.2 พันล้านดอลลาร์โดยไมโครซอฟท์ในปีที่แล้ว

การซื้อกิจการของ Tumblr ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของยาฮูในปัจจุบัน และเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อพิจารณาจากแผนการสร้างรายได้ที่ยังไม่สมบูรณ์ โดย Tumblr ได้ลงทุนประมาณ 25 ล้านดอลลาร์และมีรายได้เพียง 13 ล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ Tumblr ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเป็นส่วนตัวสูงกว่าแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์อื่นๆ อีกทั้งยังไม่ได้เก็บรายละเอียดส่วนตัวของผู้ใช้เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม

คาร์พยอมรับว่า เป็นเรื่องจริงที่ Tumblr ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เหมือนกับเฟซบุ๊กและยืนยันว่าจะไม่ทำในเรื่องดังกล่าว โดย Tumblr เป็นหนึ่งในเครือข่ายคอนเทนท์ที่แข็งแกร่งและดึงดูดผู้ใช้ที่มองหาคอนเทนท์ให้อยู่กับเว็บไซต์ได้ยาวนานที่สุด ซึ่งหมายความว่า นักการตลาดที่สร้างสรรค์และสามารถผสมผสานโฆษณาเข้ากับคอนเทนท์ได้อย่างเป็นธรรมชาติมีโอกาสที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่โดนใจได้อย่างเหลือเชื่อ ซึ่งวิธีโฆษณาอื่นๆไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

คอมสกอร์ระบุว่า Tumblr เป็นสังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้ใช้เวลาเฉลี่ยในการเยี่ยมชมนานที่สุดในสหรัฐโดยอยู่ที่ 14.7 นาทีในเดือนมีนาคม สูงกว่าเฟซบุ๊กซึ่งเป็นสังคมออนไลน์รายใหญ่ที่สุดในโลกที่เฉลี่ย 10.9 นาที

ข้อเสนอซื้อกิจการของยาฮูยังส่งผลให้ คาร์พ ซึ่งเรียนไม่จบชั้นมัธยมกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในแวดวงไอทีในปีนี้ โดยเขาระบุว่าจะนำส่วนแบ่งจากการขายกิจการซึ่งคาดว่า จะอยู่ที่ 250 ล้านดอลลาร์ไปใช้เพื่อการกุศลและเป็นทุนศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในอนาคต

ประวัติการซื้อกิจการของยาฮูในอดีต

Broadcast.com (2542) ในขณะที่ยุคดอทคอมกำลังเฟื่องฟู ยาฮูได้ทุ่มซื้อกิจการก่อตั้งใหม่เกี่ยวกับสถานีวิทยุผ่านทางอินเตอร์เน็ตในวงเงินสูงถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์ สร้างความฮือฮาให้กับวงการอินเทอร์เน็ตได้มากที่สุดในยุคดังกล่าว และส่งผลให้มาร์ค คูแบน ผู้ก่อตั้งกลายเป็นมหาเศรษฐีเพียงชั่วข้ามคืน แต่อย่างไรก็ดี บริการดังกล่าวกลับไม่ประสบความสำเร็จและได้เปลี่ยนชื่อเป็น Launchcast ในช่วงต่อมา ในขณะที่คู่แข่งหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาดอย่าง Napster และ Spotify ทำให้แนวความคิดในเรื่องการออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไป

Geocities (2542) ยาฮูซื้อจีโอซิตี้ส์ในปี 2542 ในวงเงิน 3.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ที่มียอดผู้เข้าชมมากที่สุดในยุค 90s แต่อย่างไรก็ดี บริการบล็อกของจีโอซิตี้ส์ได้ปิดตัวลงในอีก 10 ปีต่อมา

eGroups (2543) นับเป็นหนึ่งในการซื้อกิจการที่สดใสที่สุดในประวัติศาสตร์การซื้อกิจการของยาฮู ในวงเงิน 432 ล้านดอลลาร์เพื่อช่วยวางรากฐานให้กับยาฮู กรุ๊ป ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงต่อมา แต่อย่างไรก็ดี ความนิยมดังกล่าวกลับเป็นความท้าทายอันดับต้นๆของยาฮูในเรื่องการเปลี่ยนความนิยมให้กลายเป็นรายได้ ซึ่งยาฮูไม่เคยทำได้ดี และจะยังคงเป็นความท้าทายอันดับต้นๆ ภายหลังการเข้าซื้อกิจการของ Tumblr หากไม่อยากมีประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยเดียวกับจีโอซิตี้ส์

Hotjobs.com (2545) ในความพยายามเพื่อแข่งขันด้านการสืบค้นหาตำแหน่งงานว่างกับมอนสเตอร์ เวิลด์ไวด์ ยาฮูได้เสนอซื้อกิจการของฮ็อตจ๊อบส์ในวงเงิน 436 ล้านดอลลาร์ และได้ขายกิจการในอีก 10 ปีต่อมาที่ราคา 225 ล้านดอลลาร์

Overture Services (2546) ยาฮูจ่ายเช็คให้กับโอเวอร์ทัวร์กว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำมาต่อสู้กับบริการ AdWords ของ Google ที่เข้ามาแย่งตลาดโฆษณาของบริษัท แต่อย่างไรก็ดี ยาฮูต้องเผชิญกับปัญหาในการทำรายได้ให้เท่ากับกูเกิล อีกทั้งยังเผชิญกับความไม่พอใจของกลุ่มผู้ซื้อโฆษณาเนื่องจากมีค่าบริการที่สูงเกินไป

Alibaba (2548) การถือหุ้นใน Alibaba ซึ่งเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน นับเป็นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของยาฮูเมื่อประเมินผลในทางการเงิน แต่อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ของทั้งสองบริษัทไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่น จึงระบุไม่ได้ว่าเป็นความสำเร็จของยาฮูอย่างแท้จริง โดยยาฮูได้รับเงินสดเป็นจำนวน 4.3 พันล้านดอลลาร์ หลัง Alibaba เสนอซื้อหุ้นคืนครึ่งหนึ่งจากจำนวนที่ยาฮูถือครองในปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยาฮูลงทุนในบริษัทในวงเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2548

ทั้งนี้ ยาฮูยังคงเป็นผู้ถือหุ้น 24% ในอาลีบาบา และยังมีโอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนในอนาคต ขณะที่อาลีบาบาเตรียมที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน

Flickr (2548) Flickr ซึ่งเป็นเว็บไซต์แบ่งปันรูปภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับเป็นหนึ่งในความท้าทายอันดับแรกๆของเมเยอร์นับตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ซีอีโอของยาฮู ในเรื่องการปรับปรุงเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยในส่วนของอุปกรณ์พกพา Flickr สามารถแย่งชิงผู้ใช้มาจากอินสตาแกรมได้เป็นจำนวนมาก ด้วยการเพิ่มบริการใหม่ๆเช่นฟิลเตอร์ในปีที่แล้ว ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 25%

ทั้งนี้ การซื้อกิจการของ Flickr ซึ่งมีฐานในเมืองแวนคูเวอร์โดยยาฮูในปี 2548 ไม่มีการเปิดเผยวงเงินแต่อย่างใด

Delicious (2548) ยาฮูซื้อดีลิเชียส ซึ่งเป็นเว็บไซต์สังคมออนไลน์ด้านบุ๊กมาร์กในปี 2548 และขายให้กับผู้ก่อตั้งยูทู้บในปี 2554 ในวงเงินที่ขาดทุนเป็นจำนวนมาก จากความพยายามในการระบายบริการที่มีผลประกอบการที่ไม่สดใสและไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป ซึ่งเริ่มต้นในเดือนธันวาคม 2553

Right Media (2550) เพื่อต่อกรกับกูเกิล ยาฮูได้ทุ่มเงินจำนวน 680 ล้านดอลลาร์เพื่อเข้าซื้อบริการประมูลขายโฆษณาของไรท์มีเดียในปี 2550 แต่ขายออกไปในที่สุดในวงเงินเพียง 1 ใน 4 ของราคาซื้อ

Dailymotion (2556) เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ยาฮูได้ยื่นข้อเสนอซื้อเดลี่โมชั่น ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิดีโอออนไลน์รายใหญ่อันที่ 12 ของโลกจากฟรานซ์ เทเลคอม เอสเอ ของฝรั่งเศสในวงเงินประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมเยอร์ระบุว่า การลงทุนในตลาดต่างประเทศจะช่วยให้ยาฮูเติบโตในอนาคต ส่งผลให้หุ้นฟรานซ์เทเลคอมพุ่งขึ้น 0.77% หลังออกมาเปิดเผยว่าบริษัทตั้งตารอที่จะเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ

มาริสสา เมเยอร์ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในผู้หญิงแถวหน้าที่แข็งแกร่งที่สุดในแวดวงไอทีนั้น จะสามารถลบคำปรามาสที่ว่า ยาฮูอาจจะต้องปิดบริการของ Tumblr เช่นเดียวกับจีโอซิตี้ส์ หรือไม่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนความนิยมให้กลายเป็นเงินได้ มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่อย่างไรก็ดี ทางทีมงาน In Focus ขอเป็นกำลังใจให้กับยาฮูในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆออกมาให้ใช้อย่างต่อเนื่องในอนาคต


แท็ก In Focus:   สหรัฐ   ยาฮู  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ