บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ หรือ ThaiBev ที่ BBB- อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ AA(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
ขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ ?AA(tha)?
การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev จะลดลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบัน ภายใน 12-18 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจในปีงบการเงิน 2566 ฟิทช์เชื่อว่า ThaiBev จะยึดมั่นในนโยบายของบริษัทฯ ที่จะลดระดับหนี้สินลง ดังนั้นอันดับเครดิตจึงสะท้อนถึงการที่บริษัทฯ จะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำ นอกเหนือจากการที่บริษัทฯ มีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง ในประเทศไทย
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
- อัตราส่วนหนี้สินลดลงอย่างต่อเนื่อง ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ ThaiBev ที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 (สิ้นปีงบการเงิน 2566) และประมาณ 3.0 เท่า ในปีงบการเงิน 2567 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวในทุกธุรกิจของบริษัทฯ
ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ ThaiBev น่าจะยังคงอยู่ในระดับ 4.5 พันล้านถึง 5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะทางการตลาดและ สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจตามปกติ โดยไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่
- การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของผลประกอบการ ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ ThaiBev จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 7-8 ต่อปีในปีงบการเงิน 2566 และในอัตราร้อยละ 3-4 ต่อปีในปีงบการเงิน 2567 ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า คือร้อยละ 4-5 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2566 ท่ามกลางแรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
การเปิดประเทศเต็มรูปแบบเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา หลังจากมีการยกเลิกข้อจำกัดในการเปิดให้บริการของสถานบันเทิง ผับ บาร์ และร้านอาหาร ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นปัจจัยที่น่าจะสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายเบียร์ และสุราสีในร้านอาหาร และสถานบันเทิง รวมทั้งธุรกิจอาหาร
- แรงกดดันต่ออัตราส่วนกำไรอยู่ในระดับที่จัดการได้ การปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา และความพยายามอย่างต่อเนื่องของ ThaiBev ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการต้นทุน น่าจะส่งผลให้ ThaiBev สามารถรักษาอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต (EBITDA margin) ให้อยู่ในระดับร้อยละ 26-27 ได้ในปีงบการเงิน 2566 และที่ประมาณร้อยละ 27 ในปีงบการเงิน 2567 (ปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 27.3) แรงกดดันจากต้นทุนพลังงานและบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นน่าจะผ่อนคลายลงในปีงบการเงิน 2566 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายน่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามกิจกรรมทางธุรกิจที่ฟื้นตัวกลับมา
ฟิทช์คาดว่าต้นทุนวัตถุดิบสำหรับธุรกิจเบียร์จะเพิ่มสูงขึ้นในปีงบการเงิน 2566 จากสัญญาจัดหาวัตถุดิบฉบับใหม่ ซึ่งน่าจะมีราคาตามสัญญาที่สูงกว่าสัญญาฉบับเดิมที่ใช้สำหรับการผลิตในปีงบการเงิน 2565 แม้ว่า ThaiBev จะชี้แจงว่าราคาตามสัญญาใหม่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบัน EBITDA ของ ThaiBev เพิ่มขึ้นร้อยละ11.5 มาอยู่ในระดับประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาทในปีงบการเงิน 2565 แม้ว่าอัตราส่วน EBITDA margin จะลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 27 จากระดับร้อยละ 29 ในช่วงปีงบการเงิน 2563-2564 การลดลงของอัตราส่วนกำไรดังกล่าว เป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ และต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งสัดส่วนที่มากขึ้นของยอดขายสุราขาวที่มีอัตรากำไรต่อยอดขายที่ต่ำกว่าสุราสี ในช่วงครี่งปีแรกของปีงบการเงิน 2565
- การฟื้นตัวของธุรกิจในภูมิภาค ฟิทช์คาดว่าธุรกิจในภูมิภาคจะมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทั้งในประเทศเวียดนามและประเทศเมียนมา ธุรกิจในเวียดนามมีอัตราการเติบโตของ EBITDA ในอัตราร้อยละ 58-59 ต่อปีในปีงบการเงิน 2565 หลังจากที่มีการปรับตัวลดลง 2 ปีติดต่อกัน ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของ EBITDA จะชะลอตัวลงในปีงบการเงิน 2566 เช่นเดียวกันกับธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากแรงกดดันทางด้านต้นทุน แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวของรายได้ที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของธุรกิจในเมียนมาก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปีงบการเงิน 2565 เช่นกัน จากการเติบโตของยอดขายอย่างต่อเนื่องและความพยายามของบริษัทฯ ในการรักษาระดับอัตราส่วนกำไร ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเมืองในประเทศ
- ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำในภูมิภาค สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ได้รับการสนับสนุนจากการเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มในภูมิภาค รวมถึงสถานะผู้นำในตลาดสุราในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณการจำหน่ายสุรา บริษัทฯ ยังมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งในระดับร้อยละ 35-40 ของปริมาณการจำหน่ายเบียร์ในประเทศไทยและเวียดนาม การขยายธุรกิจเข้าไปในประเทศเวียดนามและเมียนมา ช่วยให้ ThaiBev มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยให้มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น โดยสัดส่วน EBITDA จากประเทศไทยลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 80 ของ EBITDA รวม จากเดิมที่สูงกว่าร้อยละ 90 ในปีงบการเงิน 2560
- ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อยใน Sabeco ในการพิจารณาอันดับเครดิตของ ThaiBev ฟิทช์มองว่า ThaiBev และ Saigon Beer-Alcohol-Beverage Corporation (Sabeco) บริษัทย่อยในประเทศเวียดนาม มีความเกี่ยวโยงในด้านการดำเนินงานและกลยุทธ์ทางธุรกิจอยู่ในระดับสูง แม้ว่าบริษัทฯ จะถือหุ้นใน Sabeco ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 53.6 ฟิทช์จึงพิจารณากระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO) รวมของทั้งสองบริษัท แต่หักเงินปันผลที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นส่วนน้อยออกในการคำนวณ นอกจากนี้ ฟิทช์ยังถือว่าเงินสดในมือของ Sabeco ในสัดส่วนตามการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (จำนวนประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบการเงิน 2565) เป็นเงินสดที่มีภาระผูกพันซึ่งไม่สามารถนำมาเป็นรายการหักในการคำนวณหนี้สินสุทธิได้
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ ThaiBev สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำทางการตลาดในภูมิภาคซึ่งถูกชดเชยด้วยการที่บริษัทฯ มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ทั่วโลกที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าเหล่านี้ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพียงธุรกิจเดียว ซึ่งทำให้มีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ในขณะที่ ThaiBev มีโครงสร้างกลุ่มธุรกิจที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมถึงมีการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีความผันผวนมากกว่า
ThaiBev และ Bacardi Limited (BBB-/Stable) มีสถานะทางเครดิตที่ใกล้เคียงกัน สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดในธุรกิจสุราในประเทศไทยที่แข็งแกร่งอย่างมาก และสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเบียร์ในประเทศไทย รวมทั้งสถานะผู้นำในธุรกิจเบียร์ในประเทศเวียดนามและธุรกิจสุราในประเทศเมียนมา ซึ่งได้สะท้อนผ่านอัตราส่วนกำไรของ ThaiBev ที่สูงกว่า Bacardi ในขณะที่ Bacardi มีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจสุรา รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงในเชิงภูมิศาสตร์ที่ดีกว่า ThaiBev Bacardi มีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า ThaiBev โดยทั้ง ThaiBev และ Bacardi อยู่ในช่วงลดอัตราส่วนหนี้สินลง หลังจากที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในการเข้าซื้อกิจการในช่วงปี 2560-2561
สถานะทางธุรกิจของ ThaiBev แข็งแกร่งกว่าผู้ผลิตเบียร์ในประเทศตุรกี ได้แก่ Anadolu Efes Biracilik ve Malt Sanayii A.S. (Efes, BB+/RWN) โดย ThaiBev มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า มีสถานะทางการตลาดในประเทศและความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งกว่า แม้ว่า Efes จะมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ThaiBev มาก แต่สถานะทางการเงินของ Efes อาจจะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมในทางเศรษฐกิจที่มีความท้าทายในตลาดหลักที่ใหญ่ที่สุด 2 ตลาดของ Efes ซึ่งได้แก่ประเทศตุรกี และรัสเซียรวมถึงยูเครน ดังนั้น Efes จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า ThaiBev อยู่หนึ่งอันดับ โดยเครดิตพินิจเป็นลบ ของ Efes สะท้อนถึงแรงกดดันต่ออันดับเครดิตจากแผนการเข้าซื้อกิจการที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ระดับหนี้สินของ Efes เพิ่มสูงขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ สถานะทางเครดิตของ ThaiBev อยู่ในระดับต่ำกว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS, อันดับเครดิต ?AA+(tha)? แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เนื่องจาก ThaiBev มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า โดยทั้งสองบริษัทมีสถานะทางธุรกิจใกล้เคียงกัน ในฐานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจของตน
ThaiBev มีความเสี่ยงทางธุรกิจในระดับที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC, อันดับเครดิต AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ; สถานะทางเครดิตโดยลำพัง a+(tha)) และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC, อันดับเครดิต A+(tha), แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) โดย ThaiBev มีสถานะทางตลาดและมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow, FCF) ที่แข็งแกร่งกว่า โดยมีอัตราส่วน FCF ต่อรายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) อยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 8 รวมถึงการเผชิญกับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำกว่า
ในขณะที่ PTTGC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่มีความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจมากกว่า ThaiBev ซึ่งเป็นผลจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตรากำไรในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน แม้ว่า SCC จะมีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจที่หลากหลาย แต่ธุรกิจหลัก ซึ่งได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์ และธุรกิจเคมิคอลส์ ก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เช่นเดียวกัน
ทั้ง PTTGC และ SCC มี FCF เป็นลบเป็นส่วนใหญ่ตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง และความผันผวนของความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจปิโตรเคมี ดังนั้น ThaiBev จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ SCC และสถานะทางเครดิตโดยลำพังของ PTTGC อยู่สองอันดับ
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) จากธุรกิจในประเทศไทยเติบโตในอัตราร้อยละ 7-8 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2566 และอัตราร้อยละ 2.5-3 ต่อปีในปีงบการเงิน 2567-2568 (อัตราการเติบโตร้อยละ 9.8 ในปีงบการเงิน 2565)
- รายได้สุทธิ (หลังหักภาษีสรรพสามิต) รวมของ Grand Royal Group (GRG) บริษัทย่อยในประเทศเมียนมา และ Sabeco เติบโตในอัตราร้อยละ 7-8 ต่อปี ในปีงบการเงิน 2566 และอัตราร้อยละ 4-6 ต่อปีในปีงบการเงิน 2567-2568 (อัตราการเติบโตร้อยละ 42.5 ในปีงบการเงิน 2565)
- EBITDA margin (โดยเป็นสัดส่วนต่อรายได้สุทธิหลังหักภาษีสรรพสามิต) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 32.5 ในปีงบการเงิน 2566 และปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 33-34 ในปีงบการเงิน 2567-2568 สำหรับธุรกิจในประเทศไทย (ในปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 33) ในขณะที่อัตราส่วนดังกล่าวสำหรับ GRG และ Sabeco ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 21 ในปีงบการเงิน 2566-2568 (ในปีงบการเงิน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 21.9)
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 4.5 พันล้านบาท ? 4.8 พันล้านบาทต่อปี ในปีงบการเงิน 2566-2568 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.5 ของรายได้รวม
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ที่ร้อยละ 50 ในปีงบการเงิน 2566-2568
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- EBITDA net leverage อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง โดยที่บริษัทฯ ยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำที่แข็งแกร่งทั้งในสินค้าหลักและตลาดหลักของบริษัท รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดสุทธิ
- โครงสร้างกลุ่มบริษัทที่มีความซับซ้อนน้อยลง และการที่ ThaiBev มีฐานะเป็นผู้ประกอบการและมีการลงทุนในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแต่เพียงธุรกิจเดียว
ปัจจัยลบ:
- EBITDA net leverage ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
- มีหลักฐานหรือเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงตำแหน่งทางการตลาด หรือประสิทธิภาพในการดำเนินงาน หรืออำนาจในการต่อรองราคา ที่อ่อนแอลง ส่งผลให้มีอัตราการเติบโตของรายได้และอัตรากำไรที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง
- กระแสเงินสดสุทธิที่อ่อนแอลงจนอยู่ในระดับศูนย์หรือติดลบ
ด้านสภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: ThaiBev มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจากสิ้นปีงบการเงิน 2565 จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท เงินกู้ยืมธนาคาร 8.3 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท โดยสภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากเงินสดในมือจำนวน 3.5 หมื่นล้านบาท (ซึ่งไม่รวมเงินสดที่มีภาระผูกพันตามคำจำกัดความของฟิทช์) และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (committed revolving facilities ) ที่ยังไม่ได้เบิกถอนประมาณ 3.8 พันล้านบาท
ThaiBev ได้มีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ซึ่งมีจำนวนเงินรวม 1.3 หมื่นล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และได้รับวงเงินกู้ระยะยาว 4 ปีจำนวนเงินรวม 1 หมื่นล้านบาทจากธนาคาร ในเดือนธันวาคม 2565 สถานะทางเครดิตและการสร้างกระแสเงินสดสุทธิที่แข็งแกร่งของ ThaiBev เป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงตลาดทุนและเงินกู้ยืม ซึ่งสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯ