ดร. วรวุฒิ วรุตตมพรสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า Digital Team ของฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ จะเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการไฟฟ้าโดยให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะในภาพรวม ตลอดจนช่วยวาง Roadmap หรือ แผนการดำเนินงาน ที่จะนำไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้กับองค์กร ผ่านกระบวนการศึกษาและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงปัญหา ความจำเป็น และความเร่งด่วนของลูกค้าแต่ละรายที่แตกต่างกัน เพื่อออกแบบวางแนวทางแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาแต่ละองค์กรได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
"การจัดตั้ง Digital Team มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนลูกค้าของเราในการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลบนพื้นฐานความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี (Partnership) โดยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน ความร่วมมือระหว่างกัน (Collaboration) ผ่านหัวใจสำคัญคือ การเรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกัน (Co-Learning and Co-Creation) เพื่อช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้ออกมาเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางฝั่งลูกค้าและฝั่งฮิตาชิด้วย" ดร.วรวุฒิ กล่าว
สำหรับการทำงานนั้น ดร. วรวุฒิอธิบายว่า เนื่องจากดิจิทัลมีความหมายกว้าง ความสำคัญของทีมดิจิทัลของฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย คือจะช่วยหาโซลูชั่นที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าแต่ละราย และทำการปิดช่องโหว่ต่างๆ เพื่อกำหนดแผนงานนำไปสู่การปฏิบัติ โดยอาจทำเป็นระยะต่างๆ ตามความพร้อมและความเหมาะสม ซึ่งจะนำเสนอทั้งในรูปแบบการบริการผลิตภัณฑ์สินค้าและการบริการให้คำปรึกษา โดยในการทำงานนอกจากจะมีทีมดิจิทัลของฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย แล้ว ทีมงานยังได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทีมผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทแม่ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี องค์ความรู้ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดร.วรวุฒิกล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานได้นำระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกิจการมากขึ้น นอกจากนั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในช่วงสามปีที่ผ่านมายังเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเร็วขึ้น โดยในภาคพลังงาน แม้จะมีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการควบคุมระบบไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ชัดเจนขึ้นขณะนี้ คือ มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มเติมเข้ามามากขึ้นและก้าวหน้ากว่าทศวรรษที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยปัจจุบันได้มีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ลงไปถึงระดับอุปกรณ์ในสถานีไฟฟ้า เช่น มีการนำระบบ Machine Learning & Artificial Intelligence (AI) มีการใช้ Fiber Optic ในการส่งสัญญาณ รวมถึงระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ สำหรับการตรวจวัดและพยากรณ์สุขภาพของอุปกรณ์ แทนที่จะใช้อุปกรณ์ทั่วไป โดยมีการนำมาติดตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จำนวนสถานีไฟฟ้าที่เป็น Digital Substation มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นทิศทางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของภาคพลังงาน
ดร. วรวุฒิขยายความเพิ่มเติมว่า บางองค์กรได้ดำเนินการโครงการนำร่องด้านดิจิทัลร่วมกับฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ที่ได้พัฒนาโครงการ Digital Substation โดยมีการดำเนินการติดตั้งเซ็นเซอร์ที่หม้อแปลง อุปกรณ์วัดระดับแก๊ส อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ และอุปกรณ์การเปิด-ปิดต่างๆ รวมถึงโครงการ Microgrid ที่ อ. เบตง จ.ยะลา ซึ่งจากการติดตั้งระบบดิจิทัล ทำให้สามารถประมวลผลอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงไฟฟ้าเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น อุปกรณ์มีประสิทธิภาพการทำงานอย่างไร มีอายุการใช้งานเหลือยาวนานเพียงใด มีความจำเป็นต้องทำการบำรุงรักษาอย่างไร หรือเมื่อใด จึงทำให้สามารถคาดการณ์ ป้องกันเหตุไม่คาดคิดได้ก่อนเวลาที่จะเกิดปัญหา และสามารถตอบสนองต่อปัญหาต่างๆ ได้ทันท่วงที ซึ่งนำไปสู่ความมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการผลิตที่เพิ่มขึ้น และผลประกอบการทางธุรกิจที่เติบโตขึ้น
"มีการคาดการณ์ว่าไฟฟ้าจะกลายเป็นพลังงานหลักของระบบพลังงานในอนาคต โดยแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากปัจจุบันในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสถานีไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2 เท่าเช่นกัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่จะเติบโตขึ้นดังกล่าว ดังนั้น ดิจิทัล จึงเป็นโซลูชั่นที่เข้ามาจัดการเพื่อเตรียมความพร้อมกับแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ทันเวลา" ดร. วรวุฒิ กล่าว