สื่อไทยในปี 2567 มีแนวโน้มว่า จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์ Fragmentation หรือความเคลื่อนไหวของสื่อ รูปแบบการเสพสื่อของผู้บริโภค และคอนเทนต์ที่มีการแบ่งกลุ่มแยกย่อยและเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอที่เข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) หรือเจ็น เอไอ (GEN AI)
นอกจากนี้ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ที่ดาหน้าเข้าสู่วงการจำนวนมากภายหลังสถานการณ์โควิด ส่งผลให้สื่อเมนสตรีมและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องแข่งขันกันและทดลองทำคอนเทนต์ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อแย่งชิงความสนใจจากผู้บริโภค
ในขณะที่สื่อมวลชนส่วนใหญ่ต่างนำเสนอคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มสื่อที่ได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก, ยูทูบ, อินสตาแกรม, เอ็กซ์ (X), ไลน์ (LINE) และติ๊กต๊อก (TikTok) ทำให้สื่อแต่ละสำนักมีความได้เปรียบในเรื่องของแพลตฟอร์มที่ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ปี 2567 จึงเป็นปีที่เรียกได้ว่า ทุกคนมีความพร้อมที่จะแข่งขัน
ส่วนโซเชียลมีเดียนั้น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ติ๊กต๊อก ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถครองใจผู้ใช้โซเชียลมีเดียในไทย ขณะที่ยูทูบเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมในการสร้างรายได้ อย่างไรก็ดี การที่ติ๊กต๊อกเข้าสู่วงการอีคอมเมิร์ซและผลักดันให้กระแส Live-Commerce หรือการไลฟ์ขายของออนไลน์ถูกใจผู้ใช้งานติ๊กต๊อกในไทยที่ชื่นชอบการชอปปิงออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าติดตาม
ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์และกลยุทธ์ Fandom Marketing ถือว่าได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและแบรนด์ต่าง ๆ โดยในฝั่งของแบรนด์นั้น นิยมใช้อินฟลูเอนเซอร์เพื่อเข้าถึงและเชื่อมโยงกับผู้เสพสื่อ รวมทั้งกลยุทธ์การทำตลาดกับแฟนด้อมที่มีอำนาจในการซื้อและสนับสนุนเจ้าของด้อมสูง ส่วนผู้บริโภคหลายกลุ่มเองก็ชอบติดตามข้อมูลข่าวสารจากอินฟลูเอนเซอร์ ท้ายที่สุด สื่อดั้งเดิมอย่างทีวีดิจิทัลก็ยังคงเป็นสื่อที่ได้รับความสนใจจากเอเจนซี่ และผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลเองก็ได้ใช้ความพยายามในการสร้างคอนเทนต์และต่อยอดธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยง หลังจากที่งบโฆษณาที่ได้รับยังคงทรงตัว
สามารถอ่านภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทยได้ที่ https://www.dataxet.co/media-landscape/2024-th
แนวโน้มสื่อไทยจากบทสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ https://www.dataxet.co/media-landscape/2024-th/thai-media-trends