International SOS เผยเคล็ดลับดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในทะเลเนื่องในวันชาวเรือโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 25, 2024 12:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

International SOS เผยเคล็ดลับดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในทะเลเนื่องในวันชาวเรือโลก
MedSea หน่วยงานด้านการเดินเรือของอินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส (International SOS) แนะมาตรการดูแลชาวเรือสำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่มีกิจการเกี่ยวกับการเดินเรือ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย และความกังวลด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งบนเรือพาณิชย์ พร้อมนำเสนอข้อมูลกรณีการให้ความช่วยเหลือของ MedSea ในปี 2566 พบว่า ชาวเรือต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่หลากหลายบนเรือ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งมักจะเกิดจากการยกของหนักผิดวิธี การอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการทำงานซ้ำ ๆ ในอิริยาบทเดิม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่ชาวเรือมาโดยตลอด โดยในปี 2566 ปัญหาดังกล่าวได้กลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งเป็นอันดับที่ 4 โดยส่วนใหญ่ (40%) เกี่ยวข้องกับอาการปวดคอและหลัง

นอกจากนี้ หนึ่งในสามของปัญหาด้านสุขภาพทั้งหมดที่ทำให้ชาวเรือถูกประเมินว่า ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น เกิดจากปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก

ขณะที่ในปี 2566 ปัญหาสุขภาพฟันและช่องปากเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล โดยทะยานขึ้นจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับ 2 ของกรณีทางการแพทย์ที่พบบ่อยครั้งที่สุดของ MedSea โดย 67% ของปัญหาเหล่านี้ต้องได้รับการประเมินเพิ่มเติมเมื่อขึ้นฝั่ง เมื่อลูกเรือไม่สามารถเข้าพบทันตแพทย์บนฝั่งได้ทันที ความเจ็บปวดและความไม่สบายที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน สมาธิ การนอนหลับ และความปลอดภัยของลูกเรือได้

นอกจากนี้ ผลกระทบของโรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับชาวเรือจำนวนมากก็เป็นอีกเรื่องที่ควรจะต้องพิจารณา เพราะส่วนใหญ่โรคเหล่านี้เกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยโรคเรื้อรังที่พบมากที่สุดบนเรือคือ ความดันโลหิตสูง ตามมาด้วยโรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า และโรคอ้วน หากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้อง โรค NCDs อาจกลายเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพชาวเรือ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและแม้กระทั่งเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งทำให้เรือต้องเบี่ยงเบนเส้นทางและล่าช้า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรค NCDs ยังคงมีแนวโน้มลุกลามเพิ่มขึ้นต่อไปทั่วโลก ภายในปี 2593 โรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคระบบทางเดินหายใจ จะคิดเป็นสัดส่วน 86% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด 90 ล้านคนต่อปี1

แม้ว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดจะเป็นปัญหาที่พบได้เป็นส่วนน้อยในกรณีทั้งหมดของ MedSea แต่ในระดับโลกก็นับเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรค NCDs คิดเป็น 17.9 ล้านคนต่อปี ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามสำคัญ เพราะผลลัพธ์ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ล้วนเป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งสิ้น ดังนั้น การดูแลสุขภาพหัวใจ เช่น การเลิกสูบบุหรี่ จึงควรเป็นสิ่งที่ทุกคนบนเรือให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

ดร. แคทเธอรีน ซินแคลร์ ที่ปรึกษาทางการแพทย์อาวุโสของ MedSea กล่าวว่า ในขณะที่เราร่วมเฉลิมฉลองวันชาวเรือโลกและยกย่องบทบาทที่สำคัญของชาวเรือ เราก็ต้องตระหนักถึงปัญหาสุขภาพเฉพาะตัวที่พวกเขาต้องเผชิญด้วย ชีวิตบนท้องทะเลที่ยาวนาน ความโดดเดี่ยว และการเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของลูกเรือ ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งเหล่านี้ยังทำให้โรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และปัญหาสุขภาพจิตแย่ลง ในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ เราต้องมุ่งเน้นไปที่การป้องกันและพัฒนาสุขภาพและสวัสดิภาพของชาวเรืออย่างต่อเนื่อง

"องค์กรต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการเดินเรือมีภาระหน้าที่ในการดูแลลูกเรือ ไม่ใช่แค่เพียงการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์พื้นฐานบนเรือเท่านั้น แต่ควรขยับขยายไปสู่แผนงานการจัดการสุขภาพเชิงรุกที่ออกแบบมาเพื่อรับมือกับความท้าทายที่ชาวเรือต้องเผชิญโดยเฉพาะ ดังนั้น การจัดทำแคมเปญสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติการทำงานอย่างปลอดภัยในสภาพอากาศร้อน จะช่วยลดความเสี่ยงของอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อนในหมู่ชาวเรือได้มาก"ที่ปรึกษาทางการแพทย์อาวุโสของ MedSea กล่าว

โดยมาตรการที่จะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บและโรคภัยไข้เจ็บที่พบบ่อยในหมู่ชาวเรือบนเรือพาณิชย์นั้น ทาง MedSea ได้นำเสนอไว้ดังนี้

1. การดูแลและสนับสนุนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง: พัฒนาแผนงานเพื่อช่วยให้ชาวเรือจัดการกับโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ก่อนแล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพขณะอยู่กลางทะเล เน้นให้ชาวเรือใส่ใจสุขภาพ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือต้องให้ชาวเรือเข้าถึงการรักษาพยาบาลและมีการติดตามตรวจสอบข้อมูลสุขภาพอย่างสม่ำเสม

2. สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพฟันและช่องปาก: กระตุ้นให้ลูกเรือดูแลสุขภาพฟันอย่างจริงจัง ผ่านสื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับสุขอนามัยในช่องปาก

3. ป้องกันปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูก: ประเมินความเสี่ยงในการทำงาน วางมาตรการความปลอดภัย เพื่อลดปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูกที่เกิดจากการใช้เครื่องมืออย่างไม่ถูกต้อง งานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ในอิริยาบทเดิม หรือการยกของผิดวิธี

4. ป้องกันโรคเพลียแดด/อาการเจ็บป่วยจากความร้อน: สนับสนุนให้ดื่มน้ำและพักเป็นระยะ ๆ ลดเวลาการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด และตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการใช้อุปกรณ์หรือสวมเสื้อผ้าป้องกัน

5. สนับสนุนการเลิกบุหรี่: จัดทำแผนงานและแหล่งข้อมูลการเลิกบุหรี่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลเสียของการสูบบุหรี่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ