ดาต้าเซ็ตเผยผลสำรวจชาวโซเชียล ชี้กทม.ถูกพูดถึงมากที่สุดจากเหตุแผ่นดินไหว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 4, 2025 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลต่ออาคารสูงมีรายงานตึกถล่มและผู้เสียชีวิตทำให้ประชาชนตื่นตระหนกและเฝ้าติดตามสถานการณ์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างใกล้ชิด

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในช่วงวันที่ 28-31 มีนาคม 2568 ด้วยเครื่องมือ Social Listening (DXT360) พบว่าประเด็นหลักที่ได้รับความสนใจโดยมีเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) สูงสุดคือ ตึกถล่ม (37%) รองลงมาคือ อาฟเตอร์ช็อก (27%) การช่วยเหลือผู้รอดชีวิต (26%) การสัญจร (5%) และความมั่นคงของอาคาร (5%)

และจากการเก็บข้อมูลพบว่าประชาชนใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลักในการรายงานเหตุการณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

● ตึกถล่ม (37%)

อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ซึ่งกำลังก่อสร้างบนถนนกำแพงเพชร 2 ใกล้ตลาดนัดจตุจักรพังถล่มลงมาภายในไม่กี่นาทีหลังจากกรุงเทพฯ รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในเมียนมาส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิตและสูญหายจำนวนมากสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากตั้งคำถามถึงมาตรฐานการก่อสร้างอาคารในไทยและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมซ้ำรอย

● อาฟเตอร์ช็อก (27%)

แม้แผ่นดินไหวหลัก (Mainshock) จะผ่านไปแล้ว แต่จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า มีอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังเหตุการณ์ แม้จะไม่สร้างความเสียหายเพิ่มเติมแต่ก็เพิ่มความวิตกกังวลให้กับประชาชนอย่างมากบนโซเชียลมีเดียมีการพูดถึงอาการเวียนหัว บ้านสั่นไหว และความหวั่นใจว่าจะเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก

● การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากตึกถล่ม (26%)

ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนหลังแผ่นดินไหว กระแสความห่วงใยจากประชาชนหลั่งไหลผ่านโซเชียลมีเดีย ผู้คนส่งต่อกำลังใจให้ทีมกู้ภัยที่กำลังปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายเพื่อตรวจสอบซากอาคารและค้นหาผู้ที่อาจติดอยู่ใต้โครงสร้าง โดยหนึ่งในทีมที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมากคือ "ทีม K9" สุนัขกู้ภัยซึ่งลงพื้นที่ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการค้นหาผู้ประสบภัยในพื้นที่อาคารถล่มด้วยความทุ่มเทและมีประสิทธิภาพทำให้เป็นกระแสไวรัลอย่างต่อเนื่อง จนหลายคนยกให้เป็น "ฮีโร่ในนาทีวิกฤติ" ที่เข้าถึงจุดเสี่ยงก่อนใคร

● รถไฟฟ้า BTS และ MRT ปิด การจราจรติดขัด

คนกรุงต้องเดินกลับบ้าน (5%) หลังเกิดแผ่นดินไหว ระบบขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ อย่างรถไฟ้ฟ้า BTS และ MRT ต้องหยุดให้บริการทันทีเพื่อความปลอดภัยส่งผลให้ผู้โดยสารจำนวนมากตกค้างอยู่บนสถานี ขณะเดียวกันการจราจรบนถนนหลายสายกลายเป็นอัมพาตเนื่องจากผู้คนจำนวนมากพากันออกจากอาคารและเดินทางกลับที่พักพร้อมกัน รถแท็กซี่และรถโดยสารที่ไม่เพียงพอทำให้หลายคนต้องตัดสินใจเดินเท้ากลับบ้าน แม้ในระยะทางที่ไกลกว่าปกติ กลายเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของหลายคนที่ไม่มีวันลืม

● ความมั่นคงของโครงสร้างอาคาร (5%)

หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาคารสูงถูกสั่นคลอนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมรวมถึงผู้ที่ทำงานอยู่ในอาคารสูง แม้หลายอาคารจะไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงแต่การพบรอยร้าวเล็ก ๆ หรือได้ยินเสียงแตกร้าวของโครงสร้างก็สร้างความกังวลและตื่นตระหนกให้กับผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในอาคารสูงอย่างมาก จากกระแสความวิตกกังวลทำให้ประเด็นเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างได้รับความสนใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะการกล่าวถึงบริษัท ฤทธา (RITTA) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนำของไทยอย่างกว้างขวางในแง่บวก หลายโครงการที่ดำเนินการสร้างโดยบริษัทนี้ได้รับคำชื่นชมว่าได้รับผลกระทบน้อยมากจากเหตุแผ่นดินไหวแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานโครงสร้างที่แข็งแกร่งและน่าเชื่อถือของงานก่อสร้างจนกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงในโซเชียลมีเดีย

กทม. หน่วยงานที่ถูกพูดถึง (Mention) มากที่สุด

วิเคราะห์จากข้อมูล Mentions บนโซเชียลมีเดีย

หน่วยงานใดบ้างที่สังคมมองว่าขยับได้ทันในภาวะวิกฤต:

หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิด สังคมยังตั้งคำถามถึงการทำงานของหน่วยงานรัฐว่า "พร้อมรับมือแค่ไหน?" เพราะไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่มีแผนชัดเจน บางแห่งได้รับคำชมจากการตอบสนองรวดเร็ว ขณะที่บางแห่งถูกวิจารณ์จากความล่าช้าหรือความเงียบ ในช่วงวิกฤตที่กรุงเทพฯ ต้องการความช่วยเหลือสูงสุด นี่คือภาพรวมของหน่วยงานที่สังคมออนไลน์มองว่า "ขยับได้ทัน" ต่อเหตุการณ์

กทม. (52%)

แผ่นดินไหวในเมืองมัณฑะเลย์ประเทศเมียนมาส่งแรงสั่นสะเทือนถึงไทย โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สั่งตั้งวอร์รูมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของ กทม.ลงพื้นที่ตรวจสอบและรายงานความเสียหายในทันที ขณะที่การจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ติดหนักขั้นวิกฤติ และรถไฟฟ้าทุกสายปิดให้บริการเนื่องจากความปลอดภัย ท่ามกลางความโกลาหล กทม. เปิดสวนสาธารณะตลอด 24ชั่วโมง เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบขณะที่เหตุอาคารกำลังก่อสร้างของ สตง. ถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้สูญหายจำนวนมาก ผู้ว่าฯ ชัชชาติ และทีมงานลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

จากการปฏิบัติงานของ กทม. และผู้ว่าฯ ชัชชาติ สังคมออนไลน์ต่างชื่นชมการทำงานที่รวดเร็วและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชน สื่อสารข้อมูล รวมถึงประสานงานความช่วยเหลือให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

กรมอุตุนิยมวิทยา (20%)

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศทันที ระบุว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมาสามารถรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในหลายจังหวัดรวมถึงกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดขึ้นในสังคมคือทำไมไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า? ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกมาชี้แจงว่า "แผ่นดินไหวยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ การป้องกันและบรรเทาภัยแผ่นดินไหวที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องใช้ระบบตรวจวัดที่มีมาตรฐานสากลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง"

แม้ไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้ แต่หลังเหตุการณ์ กรมอุตุฯได้เฝ้าระวังและรายงาน อาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) อย่างต่อเนื่องผ่านเว็บไซต์และช่องทางโซเชียลมีเดียของหน่วยงาน โดยอัปเดตตำแหน่ง ความลึกและขนาดของแรงสั่นสะเทือนแบบเรียลไทม์ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนใช้เป็นข้อมูลหลักในการติดตามสถานการณ์

นอกจากกรุงเทพมหานครและกรมอุตุนิยมวิทยา ยังมีหน่วยงานรัฐอื่น ๆที่ถูกจับตาถึงบทบาทในการรับมือต่อสถานการณ์ ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (12%) กรมโยธาธิการและผังเมือง (10%) และ กสทช. (6%)

10 อันดับสื่อไทยรายงานแผ่นดินไหว ยอดเอ็นเกจฯ เฟซบุ๊กพุ่ง

ในช่วงวิกฤตที่ประชาชนต้องการข้อมูลที่รวดเร็วและน่าเชื่อถือเพื่อประเมินสถานการณ์ สื่อจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งต่อข้อเท็จจริงเพื่อลดความสับสน ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของ Dataxet พบว่า สื่อไทยที่มียอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) บน Facebook สูงที่สุดในช่วงวันที่ 28-31 มี.ค. 2568 ได้แก่ ข่าวสด มียอดรวมอยู่ที่ 4.29 ล้านครั้ง รองลงมา ไทยรัฐ มียอดรวม 4.23 ล้านครั้ง และอีจัน ยอดรวมอยู่ที่ 2.80 ล้านครั้ง AmarinTV มียอดรวม 2.0 ล้านครั้ง Drama-addict มียอดรวม 9.98 แสนครั้ง มติชน มียอดรวม 9.53 แสนครั้ง The Standard มียอดรวม 9.03 แสนครั้ง Ch7HD มียอดรวม 8.91 แสนครั้ง ThaiPBS มียอดรวม 8.35 แสนครั้ง และ ข่าวช่อง8 มียอดเอ็นเกจเมนต์รวม 7.98 แสนครั้ง

โซเชียลชื่นชม! แห่แชร์น้ำใจ "ร้านอาหาร" ช่วงฉุกเฉิน

ท่ามกลางความโกลาหล ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เมื่อลูกค้าต้องรีบออกจากร้านเพื่อหาที่หลบภัยโดยยังไม่ได้ชำระเงิน อย่างไรก็ตาม หลายร้านเลือกความปลอดภัยของลูกค้าเป็นอันดับแรก พร้อมแสดงความมีน้ำใจด้วยการ "ยกเว้นค่าอาหาร" และขอบคุณลูกค้าที่ติดต่อกลับมาชำระเงินภายหลัง สร้างกระแสชื่นชมและได้รับเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) สูงในโซเชียลมีเดีย

ร้านที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ เอ็มเค เรสโตรองต์ (MK Restaurants) 66% รองลงมา สุกี้ตี๋น้อย (Suki Teenoi) 19% ไอเบอร์รี่ (iberry) 10% มากุโระ (Maguro) 2% และโอ้กะจู๋ (OHKAJHU) 1% และอื่นๆ 2% ตามลำดับ

โซเชียลมีเดียกับบทบาทสำคัญช่วงภัยพิบัติ

ในช่วงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเผยให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลักเนื่องจากขาดการแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการจากภาครัฐ เช่น ระบบ SMS หรือ Emergency Alert ที่ควรทำหน้าที่สื่อสารยามฉุกเฉิน จากการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้โซเชียลมีเดียในช่วงเวลาดังกล่าว พบรูปแบบที่น่าสนใจ ดังนี้:

  • การรายงานสถานการณ์แบบเรียลไทม์:

ผู้คนมักโพสต์ทันทีที่รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ไม่ว่าจะเป็นโพสต์สอบถามข้อมูล, โพสต์แจ้งเตือนผู้อื่น, โพสต์เนื้อหาตลกหรือมีม หรือโพสต์เพื่อสร้างความตระหนักรู้

  • การใช้แฮชแท็กยอดนิยม: มีการใช้แฮชแท็กอย่างกว้างขวาง เช่น #แผ่นดินไหว #ตึกถล่ม เพื่อรวบรวมข้อมูลและติดตามสถานการณ์
  • การแชร์คลิปวิดีโอและภาพถ่าย: ประชาชนจำนวนมากมีส่วนร่วมในการแชร์ภาพจากกล้องวงจรปิดหรือคลิปวิดีโอที่บันทึกเหตุการณ์จริง ซึ่งช่วยให้เห็นภาพสถานการณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

โซเชียลมีเดียกลายเป็นศูนย์กลางในการติดตามข่าวสารแลกเปลี่ยนข้อมูล และเฝ้าระวังเหตุการณ์ โดยประชาชนใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในการแจ้งเหตุ แชร์คลิปวิดีโอความเสียหาย และแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาคารสูง

ข้อมูลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อทุกภาคส่วนในการวางแผนรับมือและให้ความช่วยเหลือผู้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงแต่เสียงจากโลกออนไลน์ยังคงสะท้อนถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับอาฟเตอร์ช็อก และมาตรฐานความปลอดภัยของอาคารในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งให้ความสำคัญเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ