
สถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ผลักดัน "ผ้าขาวม้าวิถีชีวิตไทย" ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติสู่เวที UNESCO โดยการเร่งจัดทำฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยจากทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ เพื่อประโยชน์ด้านการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาของชาติ และส่งเสริมการสร้างสรรค์ลายอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าขององค์กรและชุมชน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลไปสู่การต่อยอดในภาควิสาหกิจชุมชนและภาคการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในแก่ผ้าขาวม้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ฤทธิรงค์ จิวากานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาฯ กล่าวถึงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อทำเรื่องขึ้นทะเบียนผ้าขาวม้าไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible cultural heritage) ต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยระบุว่า "ในการเอาผ้าขาวม้าขึ้นทะเบียน มิได้หมายถึงผ้าขาวม้าเป็นของเราเท่านั้น ด้วยว่าผ้าขาวม้าเป็นมรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ในภูมิภาคโดยรวม แต่เรามุ่งเน้นถึง ผ้าขาวม้าในวิถีชีวิตไทย เพราะวิถีชีวิตของคนไทยมีความผูกพันการใช้ผ้าขาวม้าในลักษณะเป็นผ้าอเนกประสงค์มาช้านาน ตลอดจนผ้าขาวม้าไทยยังมีอัตลักษณ์ทั้งรูปแบบ ลวดลาย เทคนิกการย้อมสี และการทอ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของผู้คนและชุมชนแต่ละท้องถิ่นในประเทศไทย เหล่านี้เป็นมรดกภูมิปัญญาของคนไทย
"การที่เราเข้ามาช่วยกระทรวงวัฒนธรรมทำเรื่องนี้ก็เพื่อดำรงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้อยู่ในเวทีโลกได้ ซึ่งเป็นการปกป้องทางวัฒนธรรมและสร้างความมั่นใจว่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจะไม่สูญหาย"
ฐานข้อมูลผ้าขาวม้า ปกป้องภูมิปัญญาวิถีชีวิตไทย
รศ.ฤทธิรงค์กล่าวว่า การปกป้องภูมิปัญญาทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสอน การเผยแพร่ การวิจัย การอนุรักษ์ รวมไปถึงการจัดเก็บและสร้างฐานข้อมูล
"การที่จะทำให้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย เราต้องทำให้ภูมิปัญญานั้นมีการเคลื่อนไหวและพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ การสร้างฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยก็เป็นสิ่งที่จะทำให้มรดกภูมิปัญญามีการเคลื่อนไหว เพราะฐานข้อมูลไม่ใช่สิ่งที่นิ่งตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงได้ เพิ่มพูนได้ นอกจากลายดั้งเดิมแล้ว จะยังมีลายใหม่ ๆ มาเติมในฐานข้อมูลเรื่อย ๆ ข้อมูลที่เคลื่อนไหวตลอดเวลาจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าขาวม้ายังคงดำรงอยู่ในสังคม ยังมีผู้คนให้ความสนใจอยู่"
นอกจากการปกป้องทางวัฒนธรรมแล้ว รศ.ฤทธิรงค์กล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายของการจัดทำฐานข้อมูล 3 ประการ กล่าวคือ
1. ส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าของผ้าขาวม้าไทยในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
2. สืบสานและพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสู่นวัตกรรมสร้างสรรค์
3. สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคเอกชนสู่การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
คลังข้อมูลผ้าขาวม้าไทย แชร์-ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ปัจจุบัน สถาบันไทยศึกษาได้จัดเก็บฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าไทยในรูปแบบดิจิทัลบนเว็บไซต์ มีการทำเป็น template หัวข้อต่าง ๆ โดยเน้นเรื่องลวดลายเป็นตัวตั้ง และมีรายละเอียดอื่น ๆ เช่น ลายผ้า ความเป็นมา (เรื่องเล่า) ของลายผ้า ผู้ออกแบบ สีและแพทเทิร์นของผ้า เป็นต้น
"ลายที่ชาวบ้านคิดค้นขึ้นอาจจะเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นมาใหม่ หรือบางทีชาวบ้านก็ใช้ชื่อชุมชนเป็นชื่อของลายผ้า รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับผ้า เช่น ลายแบบนี้ประกอบด้วยสีอะไร ตารางเป็นแบบไหน มีความกว้างเท่าไร ใช้สีธรรมชาติหรือสีเคมี ถ้าเป็นสีธรรมชาติต้องระบุว่าสีธรรมชาติจากที่ไหนบ้าง ถ้าเป็นสีเคมีต้องมีหมายเลขสีตามมาตรฐานสากล และมีรายชื่อผู้ติดต่อ เจ้าของชุมชน" รศ.ฤทธิรงค์ ขยายความรายละเอียดของฐานข้อมูล
"เราจะเปิดให้ชุมชนเข้ามาป้อนข้อมูลผ้าขาวม้าของตัวเองในระบบด้วยตัวเอง โดยเราจะมีการฝึกอบรมให้กับชุมชน เพื่อให้สามารถลงทะเบียนและใส่ข้อมูลของตัวเองได้" รศ.ฤทธิรงค์กล่าว พร้อมเผยว่าสถาบันไทยศึกษาจะเปิดให้ชุมชนเข้ามาร่วมมีส่วนในการเก็บข้อมูลผ้าขาวม้าวิถีไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้เป็นต้นไป
ฐานข้อมูลผ้าขาวม้า แพลตฟอร์มเชื่อมผู้ผลิตและผู้ซื้อ
รศ.ฤทธิรงค์เผยว่า เมื่อฐานข้อมูลลายผ้าขาวม้าเสร็จ ทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน สามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในเรื่องการศึกษาลายผ้าขาวม้าไทย การพัฒนาชุมชน และการตลาด
"การทำฐานข้อมูลเรื่องผ้าขาวม้าไม่ได้เป็นเรื่องของการจดลิขสิทธิ์ลาย ไม่ได้แปลว่าลายนี้คนอื่นเอาไปใช้ไม่ได้ ฐานข้อมูลของเราจะบอกว่าลายนี้ชุมชนใดเป็นคนทอ เพื่อเชื่อมโยงภูมิปัญญาชุมชนกับภาครัฐและเอกชน"
ในด้านการตลาด รศ.ฤทธิรงค์กล่าวถึงการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมการตลาดให้ชุมชนว่า "ชาวบ้านที่ทอผ้ามีความชำนาญในการผลิต แต่ไม่ได้มีความชำนาญในการตลาด ฐานข้อมูลผ้าขาวม้าจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมผู้ซื้อถึงผู้ผลิต เช่น โรงแรมอยากได้ผ้าขาวม้าเป็นสินค้าพรีเมียม เป็นลายเอกลักษณ์ของโรงแรมเอง ก็สามารถเข้ามาในฐานข้อมูล เลือกลายที่ชอบ และติดต่อไปที่ชุมชนที่ผลิตลายนั้น ๆ ได้"