In Focusกระแสฮิต เทรนด์ร้อน สินค้าฮ็อต ป่วนปีหนู 2008

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 30, 2008 11:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เผลอแป๊บเดียว ปีหนูที่ใครๆพากันเมินหน้าหนีก็กำลังจะผ่านพ้นไป พร้อมกับการถอนหายใจโล่งอกของใครหลายคน อันด้วยว่าเจ้าหนูตัวนี้ฤทธิ์เดชมากมายทำเอาโลกวุ่นวาย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเข้าข่าย “หนีหนูปะวัว" หรือไม่ เรื่องนี้ยังต้องรอการพิสูจน์ ที่แน่ๆ หนทางก้าวเดินในปี 2009 ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน

สำหรับปีหนูไฟที่ผ่านมานั้น มีกระแส IN & OUT มาช่วยเพิ่มสีสันให้ตลอด 365 วันมีความน่าสนใจไม่น้อย ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ลองมาดูกัน

IN: ถุงผ้า

VS

OUT: ถุงพลาสติก

อย่าปฏิเสธว่าคุณไม่มีถุงผ้าอยู่ในครอบครองกับเขาแม้แต่ใบเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็แปลว่า คุณ “เอาท์"มั่กๆ เพราะในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเดินไปไหน ก็จะได้เห็นใครต่อใครถือหรือสะพายถุงผ้ากันอย่างดาษดื่น ทั้งแบบดิบๆ เรียบๆ ราคาไม่กี่บาท สำหรับเอาไว้ไปจ่ายตลาดแทนการใช้ถุงพลาสติก ไปจนถึงแบบโก้หรูของดีไซเนอร์แบรนด์ดังราคาแพงถึงหลักพันหลักหมื่นที่สามารถใช้เป็นเครื่องประดับบ่งบอกความ “อิน" เทรนด์ได้

โดยถุงผ้าที่เป็นต้นตำรับและฮิตติดลมบนที่สุด คงต้องยกให้กับกระเป๋าผ้าที่ปักตัวอักษรลายกิ๊บเก๋ว่า “I’m Not A Plastic Bag" ของดีไซเนอร์สาวชาวอังกฤษ Anya Hindmarch กระเป๋าผ้าของเธอโด่งดังขึ้นมาภายในชั่วพริบตาและกลายเป็นของหายากไปในชั่วข้ามคืน เมื่อเหล่านางแบบชื่อดังทั้งในลอนดอนไปจนถึงดาราและเซเล็บฝั่งฮอลลีวูดหันมาสะพายกระเป๋าผ้าของเธอแทนการถือกระเป๋าแบรนด์เนมกันเป็นทิวแถวเพื่อจะได้ชื่อว่าฉันก็รักษ์โลกเหมือนกันนะจ๊ะ ซึ่งกระแสความแรงก็ข้ามฝั่งมายังประเทศในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน หรือแม้แต่ประเทศไทย ขณะที่สนนราคาเมื่อเริ่มวางจำหน่ายก็เพียงใบละ 5 ปอนด์ หรือ 300 กว่าบาทเท่านั้น ก่อนที่ความฮ็อตฮิตฟีเวอร์จะทำให้ราคาถีบตัวสูงขึ้นไปเป็นใบละ 200 ปอนด์ หรือ ประมาณ 12,300 บาทเลยทีเดียว

สำหรับกระแส “ถุงผ้าฟีเวอร์" ทั่วโลกนั้น จุดประกายไอเดียมาจากการรณรงค์ลดโลกร้อน หรือ Global Warming อันเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ที่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลกทั้งที่รู้ทั้งรู้และทั้งที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยในขวบปีที่ผ่านมา สภาพภูมิอากาศและฤดูกาลตามภูมิภาคต่างๆของโลกนั้นเกิดวิปริตแปรปรวนอย่างมาก อาทิ เหตุการณ์พายุหิมะรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีในประเทศจีน พายุไซโคลนนาร์กิสในพม่า แผ่นดินไหวที่เสฉวน เฮอริเคนกุสตาฟ ฯลฯ ซึ่งภัยพิบัติแต่ละครั้งได้ทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายมากมาย และนำมาซึ่งความเสียหายอย่างประเมินค่ามิได้

นอกจากนี้ ปีหนูที่ผ่านมา เรายังได้เห็นปรากฏการณ์แปลกใหม่เกิดขึ้นในหลายจุดของโลก ตัวอย่างเช่น ผืนทะเลทรายอันแห้งแล้งร้อนแรงอย่างลาสเวกัส ก็กลับมีหิมะตกเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี รวมไปถึงที่ชาวซิดนีย์ต้องตกตะลึง เมื่อได้เห็นสโนว์โปรยปรายเป็นครั้งแรกในรอบ 172 ปี หรือแม้แต่ประเทศไทยของเรา ที่ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนและความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทย จะมีหิมะตกในภาคเหนือตอนบนในช่วงเดือนมกราคม 2552 นี้

ก็ไม่รู้ว่า เทรนด์การใช้ถุงผ้าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้กี่มากน้อย แต่ที่แน่ๆ ถุงผ้าขาวๆ สามารถสร้างสีสันให้กับปีหนูได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

IN: อาหาร/ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค

VS

OUT: อาหาร/สินค้า Made in China

กระแสนิยมบริโภคอาหารหรือผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค หรือ อินทรีย์ธรรมชาติที่ปลอดสารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิตนั้น มีมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ดูเหมือนว่าจะกลับมาได้รับความสนใจเป็นพิเศษในช่วงปีนี้ สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะอาหาร/ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกส์เข้ากับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นในปีนี้ได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น การใช้ใบตองห่อขนมหรืออาหาร หรือการใช้ภาชนะที่ทำจากข้าวโพดซึ่งสามารถย่อยสลายได้ ขณะที่โฟมหรือพลาสติกต้องใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย และนอกจากอาหารออร์แกนิคจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ที่สำคัญยังเป็นมิตรกับผู้บริโภคด้วย เช่น การบริโภคเนื้อสัตว์และไก่ที่เลี้ยงตามธรรมชาติโดยปราศจากฮอร์โมนเร่งการเติบโตหรือใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเท่ากับว่า ผู้บริโภคก็จะไม่ได้รับสารเคมีด้วยเช่นกัน

และอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยปลุกกระแสนิยมอาหารออร์แกนิคในปีนี้ ก็คือรายงานข่าวอื้อฉาวอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับอาหารและสินค้าที่ผลิตในประเทศจีน

เริ่มตั้งแต่ต้นปี มีรายงานข่าว ชาวญี่ปุ่นนับพันคนเกิดอาการผิดปกติ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อาหารเป็นพิษ บางรายถึงกับแน่นิ่ง น้ำตาไหล พูดไม่ออก ขยับไม่ได้ จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังจากที่รับประทานเกี๊ยวซ่าแช่แข็งนำเข้าจากจีน ซึ่งภายหลังจากการสืบสวนสอบสวนโดยทางการจีนและญี่ปุ่น พบว่า เกี๊ยวดังกล่าวปนเปื้อนสารเมทามิโดฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เรื่องเกี๊ยวพิษครั้งนี้ ถือเป็นการบั่นทอนภาพลักษณ์ความปลอดภัยของอาหารและสินค้าจีนที่ย่ำแย่อยู่แล้วจากเหตุการณ์ของเล่นจีนปนเปื้อนสารตะกั่วที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกในปีก่อน ให้เลวร้ายยิ่งไปกว่าเดิม

ข่าวดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลจีนต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกอบกู้ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือที่ง่อนแง่นในสายตาชาวโลกให้กลับคืนมา แต่ดูเหมือนว่า ปีหนูปีนี้คงจะไม่ใช่ปี “เฮง" สำหรับอุตสาหกรรมอาหารของจีน เมื่อกลายเป็นว่า จีนต้องเผชิญเคราะห์ร้ายที่หนักหนาสาหัสกว่าถาโถมเข้าใส่ส่งท้ายปี หลังจากที่มีรายงานการตรวจพบสารเมลามีนในนมผงสำหรับเลี้ยงทารกของบริษัทผู้ผลิตนมรายใหญ่ของประเทศ และลามไปถึงผลิตภัณฑ์นมอื่นๆ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีนมผงเป็นส่วนประกอบ จนส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกพากันเรียกเก็บผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้าจากจีนออกจากท้องตลาด เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์นมจากจีนให้มากขึ้น ตลอดจนสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากจีน

เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ เนื่องจากเหยื่อผู้รับเคราะห์เป็นเด็กๆ โดยมีเด็กทารกเสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และที่ป่วยหนักจากอาการไตวายเฉียบพลันและนิ่วในไต รวมไปถึงป่วยเล็กๆน้อยๆ รวมกันอีกกว่า 53,000 คน อีกทั้งผู้ที่พัวพันกับเหตุการณ์นี้เป็นถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน ซึ่งรวมถึง บริษัทซานลู่ เหมิงหนิว หยีลี่ ต้นเหตุของวิกฤตินมปนเปื้อนครั้งนี้ และที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือการที่แบรนด์ดังระดับโลกเข้าไปมีเอี่ยวในฐานะเหยื่อของวิกฤติครั้งนี้ อย่าง เนสท์เล่ และ สตาร์บัคส์ เป็นต้น

จากนี้ไป สินค้า Made in China ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของสินค้าส่งออกทั่วโลก จะกลายเป็นของแสลงสำหรับผู้บริโภคไปอีกนานหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนที่จะต้องเร่งดำเนินการขั้นเด็ดขาด หลังจากที่ปล่อยให้สถานการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อมานาน และก็ได้แต่หวังว่า เมลามีน จะเป็นผู้ร้ายตัวสุดท้ายที่จีนส่งออกมาเขย่าขวัญชาวโลก พร้อมลาลับไปกับปีหนูแสนวุ่นวายปีนี้

IN: Olympic

VS

OUT: Wars

แม้ในรอบปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของจีนจะถูกกระเทาะกระแทกเป็นรอยบิ่นจากข่าวฉาวเกี่ยวกับอาหารและสินค้าปนเปื้อนสารพิษ แต่เหตุการณ์หนึ่งที่ช่วยให้จีนยังสามารถคงความอหังการสมฉายามังกรพ่นไฟเอาไว้ได้ ก็คือ การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก หรือ ปักกิ่ง เกมส์ 2008 ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของประชาชนชาวจีนทั้งประเทศ และเรียกเสียงชื่นชมแซ่ซ้องได้จากประชาคมโลก เริ่มตั้งแต่พิธีเปิดอันยิ่งใหญ่อลังการสมการรอคอยในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 08 จากฝีมือของ จาง อี้โหมว ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมควบคุมการแสดงพิธีเปิด-ปิดปักกิ่ง เกมส์หนนี้ รวมไปถึงสนามกีฬารังนกที่สวยงาม และการแข่งขันกีฬาหลากหลายประเภทของทัพนักกีฬาหลายหมื่นชีวิตที่ลงสนามด้วยความภาคภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนทีมชาติของตน ก่อนปิดท้ายด้วยพิธีปิดตระการตาน่าประทับใจ

ในช่วงเวลากว่าสองสัปดาห์นั้น ทุกสายตาทั่วโลกจับจ้องไปที่ประเทศจีน และแทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆเบียดแทรกพื้นที่ข่าวโอลิมปิกได้เลย โดยบริษัทวิจัย นีลเซ่น มีเดีย รีเสิร์ช เปิดเผยว่า มีผู้ชมชาวอเมริกันประมาณ 211 ล้านคนติดตามการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทั้ง 16 วันผ่านเครือข่ายโทรทัศน์และเคเบิลทีวีรวมทั้งเว็บไซต์ของสถานีเอ็นบีซี ซึ่งเป็นสถิติผู้ชมสูงสุด มากกว่าจำนวนผู้ชมแอตแลนตา เกมส์ 2000 และ เอเธนส์ เกมส์ 2004 ถึงประมาณ 11% ด้านนายฌาคส์ ร็อกก์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ระบุว่าชาวจีนเกือบ 1,300 ล้านคนทั่วประเทศติดตามชมพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อคืนวันที่ 24 สิงหาคม ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้เป็นการแข่งขันกีฬาที่มีผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการจัดแข่งขัน

นอกจากนี้ โอลิมปิกยังเป็นเวทีแจ้งเกิดของนักกีฬาหลายคนให้ก้าวขึ้นเป็นดาวเดือนประดับวงการ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงปักกิ่ง เกมส์ ชื่อที่จะต้องถูกนึกถึงเป็นชื่อแรก โดยแทบจะเป็นโลโก้ของโอลิมปิกหนนี้แทนเจ้ามาสคอต 5 ตัว ก็คือ ไมเคิล เฟลป์ส ฉลามหนุ่มชาวอเมริกัน ก็จะไม่ให้หนุ่มบัลติมอร์วัย 23 ปีโดดเด่นเกินหน้าเกินตาคนอื่นไปได้อย่างไร ในเมื่อเขาได้จารึกประวัติศาสตร์ใหม่หลายบทในปักกิ่ง เกมส์ ด้วยการคว้าเหรียญทองให้กับทีมชาติสหรัฐอเมริกาถึง 8 เหรียญ พร้อมทำลายสถิติโลกถึง 7 รายการ และทำลายสถิติโอลิมปิกอีก 1 รายการ ส่งผลให้ตำแหน่งฉลามหนุ่มเจ้าสระ Water Cube ซึ่งเป็นสังเวียนประลองกีฬาทางน้ำประจำปักกิ่ง เกมส์ ตกเป็นของเฟลป์ส ผู้เป็นเจ้าของความสูง 1.93 เมตรไปโดยปริยาย และเมื่อรวมกับเหรียญทองอีก 6 เหรียญซึ่งเขาทำได้ในการแข่งขันโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็ทำให้เขาขึ้นแท่นเป็นนักกีฬาประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกได้มากที่สุดในโลกถึง 14 เหรียญทองเลยทีเดียว

แม้มหกรรมโอลิมปิกจะเป็นเวทีแห่งการแข่งขันเพื่อความเป็นหนึ่ง แต่การแข่งขันก็มิได้ห้ำหั่นกันชนิดเอาเป็นเอาตาย ตรงกันข้ามการแข่งขันกลับสร้างมิตรภาพและรอยยิ้มทั้งจากผู้ชนะและผู้แพ้ได้อย่างน่ายกย่อง แต่ไฉนเลยยังมีคนบางกลุ่มพยายามรบราข้าฟันกัน ทั้งที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมีแต่ความสูญเสียและคราบน้ำตา ขณะที่โอลิมปิก ปักกิ่ง เกมส์ สื่อถึงความสมัครสมานสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันของทุกคนบนโลกและเป็นหนึ่งในเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นในรอบปีนี้ แต่ปีหนูปีนี้ ก็เป็นปีที่เกิดการสู้รบรุนแรงมากที่สุดปีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงครั้งใหญ่ในทิเบต สงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจียเพื่อแสดงอำนาจเหนือแคว้นเซาท์ออสเซเทีย เหตุก่อการร้ายที่นครมุมไบ ศูนย์กลางทางการเงินของอินเดีย และเหตุการณ์สู้รบส่งท้ายปีระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสของปาเลสไตน์ นี่ยังไม่นับรวมสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน ตลอดจนเหตุการณ์ความขัดแย้งใหญ่น้อยอีกนับไม่ถ้วน

ทั้งนี้ ในแง่ทฤษฎีนั้น สงครามควร “เอาท์" ไปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในทางปฏิบัติหาได้เป็นเช่นนั้น

IN: รถเล็กประหยัดน้ำมัน

VS

OUT: รถใหญ่กินน้ำมัน

ปี 2008 ถือเป็นปีที่คนขับรถเดือดร้อนมากที่สุด เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนพีคสุดที่เหนือระดับ 147 ดอลลาร์/บาร์เรลในเดือนก.ค. ขณะที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมัน ทั้งเบนซินและดีเซล เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระเงินอุดหนุนราคาน้ำมันได้ และกลายเป็นประชาชนตาดำๆที่ต้องทนรับกรรมกันไป

สถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นนี้ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของผู้ผลิตรถยนต์หลายราย ทั้งของสหรัฐเอง รวมไปถึงค่ายรถฝั่งยุโรปและเอเชีย ดิ่งลงอย่างฮวบฮาบ แต่ที่ดูจะได้รับผลกระทบหนักสุดก็คือค่ายรถ “บิ๊กทรี" ของสหรัฐ อันประกอบไปด้วย เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ฟอร์ด และ ไครสเลอร์ ที่ถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว จนอาจต้องยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนจากรัฐบาลสหรัฐ

สำหรับสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐต้องประสบภาวะวิกฤตถึงขีดสุดจากปัญหาราคาน้ำมันแพงในปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดรถยนต์วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะค่ายรถยนต์สหรัฐไม่ปรับตัวผลิตรถขนาดเล็กที่เปลืองน้ำมันน้อยกว่า แต่กลับยังคงแผนการผลิตรถยนต์แบบตัวถังใหญ่ เครื่องแรง กินน้ำมันมาก และด้วยเหตุนี้เองผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกันจึงถูกค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นตีตลาดในประเทศ ขณะที่ตัวเองก็ออกไปแย่งตลาดนอกประเทศลำบาก โดยราคาน้ำมันแพงได้ปลุกกระแสความนิยมในรถ "ซิตี้คาร์" หรือรถยนต์ขนาดเล็กซึ่งมีข้อดีคือช่วยประหยัดน้ำมัน หรือถ้าใครพอมีสตางค์หน่อย ก็อาจจะหันไปขับรถไฮบริด หรือรถลูกผสมระหว่างเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันกับไฟฟ้าเป็นเชื้อเพลิงขับเคลื่อน ซึ่งเจ้าแห่งวงการรถไฮบริดต้องยกให้โตโยต้าซึ่งมีรุ่น "พริอุส" เป็นพระเอก ส่งผลให้รถ "เอสยูวี" ซึ่งเคยได้รับความนิยมขายดิบขายดีในตลาดอเมริกาเหนือและยุโรป ก่อนที่จะถูกราคาน้ำมันแพงสกัดดาวรุ่งกลายเป็นพระเอกตกกระป๋อง

อย่างไรก็ดี สถานการณ์น้ำมันในช่วงปลายปีทำให้ผู้ขับขี่เบาใจกันได้บ้าง แต่ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจกันไป เพราะไม่รู้ว่าปีวัวที่จะมาถึงมีอุปสรรคขวากหนามใดรออยู่บ้าง

IN: บารัค โอบามา

VS

OUT: จอร์จ ดับเบิลยู บุช

ท่ามกลางความปั่นป่วนวุ่นวายจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองของโลก อาจทำให้ปี 2008 เป็นปีอันดำมืดของใครหลายคน แต่มีบุคคลผู้หนึ่งที่สามารถสวนกระแสทำให้ปีหนูปีนี้เป็นปีทองของเขาเองได้ บุคคลที่กล่าวถึงอยู่นี้ไม่ใช่ใคร นอกจาก บารัค โอบามา ผู้สร้างกระแส "โอบามา ฟีเวอร์" หรือ “โอบามา มาเนีย" ให้ระบาดไปทั่วโลก การันตีด้วยตำแหน่งบุคคลแห่งปี 2008 ของนิตยสารไทม์ ที่เพิ่งได้รับมาหมาดๆ

นอกเหนือจากสโลแกน “CHANGE" และ “Yes, we can." ที่ซื้อใจชาวอเมริกันในระหว่างการรณรงค์หาเสียง จนทำให้คว้าชัยเลือกตั้ง พร้อมกับสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐ ด้วยวัยเพียง 47 ปี บุคลิก “Perfect man" ไม่ว่าจะเป็นความเป็นคนหนุ่มไฟแรง พูดจาน่าประทับใจ ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์แบบ ก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจและความน่าชื่นชมให้กับ บารัค โอบามา ไม่เพียงแต่ในสหรัฐเท่านั้น แต่กระแสโอบามา ฟีเวอร์ยังแพร่หลายไปยังต่างแดนด้วย

แม้แต่ชาวเมืองโอบามะ ในจังหวัดฟุกุอิ ของญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ นอกจากชื่อเมืองโอบามะที่พ้องรูปกับนามสกุลของนายโอบามาเมื่อเขียนเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ ก็ไม่ขอตกกระแส ด้านรัฐบาลเคนย่าก็ถึงกับประกาศให้วันพฤหัสบดีที่ 6 พ.ย. ปีนี้ เป็นวันหยุดราชการ เนื่องจากชาวเคนย่ารู้สึกมีส่วนร่วมและภาคภูมิใจกับโอบามาเป็นพิเศษ เนื่องจากบิดาของเขาเป็นชาวเคนย่า ซึ่งก็เท่ากับว่าเขามีสายเลือดเคนย่าอยู่ในตัวถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

เรียกว่า โอบามา กลายเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลตั้งแต่ยังไม่ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.ที่จะถึงนี้ด้วยซ้ำ

ขณะที่ใครๆ กำลังเห่อว่าที่ผู้นำคนใหม่ ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันที่กำลังจะอำลาตำแหน่ง อย่าง จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางไม่แพ้กันในปีนี้ แต่เชื่อว่า บุช คงจะไม่รู้สึกปลาบปลื้มดีใจนัก เพราะสิ่งที่คนพูดถึงไม่ใช่การแซ่ซ้องสดุดีหรือการอาลัยอาวรณ์ในฐานะที่บริหารงานรับใช้ประเทศชาติมานานถึง 8 ปี แต่กลับกลายเป็นเสียงโห่ร้องยินดีที่บุชกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากประชาชนเบื่อและเอือมเต็มที่กับการดำเนินนโยบายที่มักจะเป็นปฏิปักษ์กับชาวโลกเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทำสงครามที่อ้างว่าเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย หรือการไม่ร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นความพยายามของประชาคมโลกในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาโลกร้อน โดยอ้างว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ

ตอกย้ำด้วยเหตุการณ์นักข่าวหัวเห็ดชาวอิรักปารองเท้าใส่ประธานาธิบดีบุชเป็นของขวัญต้อนรับและอำลาไปพร้อมๆกัน ในโอกาสที่ท่านผู้นำสหรัฐเยือนอิรักเป็นครั้งสุดท้ายก่อนพ้นตำแหน่ง ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า บุช ไม่เป็นที่ต้องการอีกต่อไป

แต่ใช่ว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา บุชจะไม่มีดีเอาเสียเลย อย่างน้อยท่านก็เป็นคนง่ายๆสบายๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า easy-going แถมชอบทำเรื่องเปิ่นให้เราได้สนุกหัวเราะขบขันอยู่เนืองนิจ และมีเรื่องให้นักข่าวได้เอาไปเขียนข่าวกันสนุก จนนักข่าวอเมริกันก็เริ่มจะใจหายอยู่บ้างเหมือนกันว่าหากขาดท่านไปแล้วจะมีเรื่องบันเทิงใจหรือไม่

นอกจากนี้ ยังอาจกล่าวได้ว่า บุชเองก็เป็นหนึ่งในป๊าดันที่ทำให้โอบามาแรงจนฉุดไม่อยู่ เนื่องจากกระแสต่อต้านบุช ยิ่งส่งให้ความนิยมในตัวโอบามาที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้วยิ่งฮอตฮิตเข้าไปใหญ่

อย่างไรก็ดี พ้นจากปีนี้ไปแล้ว ชื่อของ บารัค โอบามา ยังจะ “อิน" อยู่หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับผลงานการบริหารประเทศสหรัฐให้สามารถฝ่าฟันมรสุมคลื่นลมรุนแรง โดยเฉพาะพายุเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่ก่อตัวในสหรัฐและได้พัดกระหน่ำไปทั่วโลก ขณะที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่ง “เอาท์" ถาวรในฐานะผู้นำประเทศมหาอำนาจ ก็อาจกลับมา “อิน" ได้ แต่จะด้วยบทบาทใดนั้น คงต้องรอดูกันต่อไป

กระแสความฮอต ความฮิต มีเข้ามาแล้วก็จากไป เหมือนกระแสคลื่น กระแสลมที่พัดผ่านไปตามฤดูกาล ปีหน้าฟ้าใหม่ก็คงจะมีกระแสความนิยมใหม่ๆ มาสร้างสีสันได้ไม่แพ้ปีนี้

ขอส่งท้ายให้คุณผู้อ่านโชคดีปีฉลู


แท็ก In Focus:   กุหลาบ   วัว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ