มอนซานโต้ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชรายใหญ่ที่สุดของโลก แสดงความคาดหวังว่าประเทศในแอฟริกาจะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ให้มากกว่านี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ภูมิภาคดังกล่าวกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน
นาตาลี ดีนิโคลา ผู้อำนวยการแผนกนโยบายสาธารณะและผลผลิตที่ยั่งยืนของมอนซานโต้ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศบูร์กินาฟาโซมีแผนเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกต้นฝ้ายกันแมลงของมอนซานโต้ขึ้น 2 เท่าในปีหน้า จากปีนี้ที่มีพื้นที่เพียง 129,000 เฮคเตอร์ (318,766 เอเคอร์) ขณะเดียวกันมอนซานโต้ก็มีแผนนำข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนต่อความแห้งแล้งไปเปิดตัวในภูมิภาคใต้ทะเลทรายซาฮาราภายในปี 2560
องค์การอาหารและการเกษตร (FAO) ของสหประชาชาติกล่าวว่า การทำเกษตรในประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้เงินลงทุนถึง 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีสำหรับการผลิตอาหารให้ทั่วโลกภายในปี 2593 ดังนั้นมอนซานโต้จึงพยายามสนับสนุนให้มีการใช้เมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และเพื่อเพิ่มกำไรของบริษัทให้ได้ 2 เท่าในปี 2555 จากปี 2550
"เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมพืชจะเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากพวกเขาต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารมาเลี้ยงประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว" ทาคากิ ชิเงโมโตะ นักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จากบริษัทวิจัย TOS ในโตเกียว กล่าว "การผลิตพืชผลได้มากขึ้นแม้มีทรัพยากรน้ำจำกัดจะดึงดูดใจพวกเขาอย่างแน่นอน"
องค์การอาหารและการเกษตร กล่าวไว้เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาว่า ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาอาจลดลงราว 9-21% อันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยภูมิภาคที่ยากไร้และมีปัญหาเรื่องความอดอยากมากที่สุดจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน