ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกทำให้งานโตเกียวมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม — 4 พฤศจิกายนนี้ อาจจะไม่ยิ่งใหญ่เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากค่ายรถยนต์จากต่างประเทศขอถอนตัวจากการร่วมงานเกือบทั้งหมด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปีที่ไม่มีบริษัทผู้ผลิตรถต่างชาติรายใหญ่รายใดเข้าร่วมงานเลย โดย บีเอ็มดับเบิลยู และ เมอร์เซเดส เบนซ์ เป็นสองค่ายแรกที่ตัดสินใจถอนตัว ตามมาด้วย โฟล์คสวาเกน, ออดี้, เจเนอรัล มอเตอร์, ฟอร์ด, ไครส์เลอร์, วอลโว่, ซาบบ์, เปอโยต์, เฟียต, จากัวร์, แลนด์โรเวอร์, ฮุนได ฯลฯ โดยแทบทั้งหมดให้เหตุผลว่าต้องการ “ประหยัดงบ" สรุปแล้วงานปีนี้มีผู้ตอบรับร่วมงานเพียง 108 บริษัท ซึ่งในจำนวนนั้นมีบริษัทต่างชาติเพียงแค่ 3 บริษัทคือ อัลพิน่า จากเยอรมนี รวมถึง แคเทอร์แรม คาร์ส และ กรุ๊ป โลตัส จากอังกฤษ เทียบกับงานในปี 2007 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 241 บริษัทและเป็นบริษัทต่างชาติมากถึง 26 บริษัท
ถึงกระนั้นลำพังค่ายรถยนต์ในญี่ปุ่นเองก็ยังสามารถผลักดันให้งานเดินหน้าต่อไปได้อย่างองอาจ มิหนำซ้ำยังมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเสียด้วย โดยคาดว่าในงานจะมีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ถึง 39 รุ่น โดยเฉพาะรถพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของงานที่ไม่ว่าค่ายเล็กหรือใหญ่ก็แข่งกันนำเสนอ แสดงให้เห็นว่าบรรดาบริษัทรถยนต์แดนอาทิตย์อุทัยต่างพร้อมที่จะก้าวไปอีกขั้นจากรถยนต์ไฮบริดซึ่งใช้พลังงานผสมระหว่างน้ำมันและไฟฟ้า ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟเต็มตัว สอดรับกับกระแสโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานและแก้ปัญหาโลกร้อน และสอดคล้องกับธีมของงานที่ว่า "Fun Driving for US, Eco Driving for Earth" หรือ “Fun & Eco"
โตโยต้า
พี่ใหญ่ของงานนี้เห็นจะหนีไม่พ้นโตโยต้า ซึ่งจะนำรถต้นแบบอย่าง “FT-EV II" (Future Toyota Electric Vehicle II) มาแสดง หลังผ่านการต่อยอดจากเวอร์ชั่นแรกที่ได้รับการเปิดตัวไปเมื่อต้นปีที่งานมอเตอร์โชว์ที่สหรัฐอเมริกา โดยรถรุ่นจิ๋วสำหรับขับในเมืองคันนี้ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่รับพลังงานมาจากแบตเตอร์รีลิเทียมไอออน ซึ่งการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งสามารถทำให้รถวิ่งได้ไกลถึง 90 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุดเกิน 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้านรูปลักษณ์ของรถออกแนวเล็กน่ารักด้วยความยาวตัวรถเพียง 2.7 เมตร แต่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 4 ที่นั่ง และสามารถเข้าออกได้อย่างสะดวกสบายด้วยประตูที่เปิดปิดแบบสไลด์ ส่วนลูกเล่นที่เก๋ไก๋ไม่เหมือนใครคือจอยสติ๊กที่ใช้บังคับทิศทางของรถแทนพวงมาลัย ซึ่งจะเปลี่ยนประสบการณ์การขับรถให้สนุกสนานยิ่งขึ้นเหมือนการเล่นเกม ทั้งนี้ โตโยต้ากำหนดวางจำหน่ายรถรุ่นนี้ในปี 2555
นอกจากนั้นยักษ์ใหญ่รายนี้ยังเตรียมเปิดตัวรถสปอร์ตรุ่นเล็กอย่าง “FT-86" (Future Toyota 86) ซึ่งยังเป็นรถที่ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าแต่ก็ถูกพัฒนาให้ประหยัดน้ำมันมากกว่ารถปกติ ดีไซน์ของรถถูกออกแบบให้ดูโฉบเฉี่ยวล้ำสมัยโดยได้รับแรงบันดาลใจจากรถสปอร์ต Toyota AE86 ในยุคทศวรรษ 1980 ภายในสามารถจุผู้โดยสารได้ 4 ที่นั่ง ตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วงต่ำทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกเหมือนกำลังขับรถแข่ง ถือเป็นรถที่เน้นความสนุกสนานในการขับขี่เพื่อเอาใจผู้ที่มีจิตวิญญาณของนักแข่งโดยเฉพาะ
รถอีกรุ่นที่น่าจับตามองไม่แพ้กันคือ “Prius Plug-In Hybrid" ซึ่งใช้เครื่องยนต์เบนซินและมอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน โดยได้รับพลังงานจากแบตเตอรีลิเทียมไอออนซึ่งใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งก็ชาร์จไฟเต็ม และทำความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมงในโหมดไฟฟ้าอย่างเดียว และเมื่อไฟฟ้าหมดเครื่องจะเปลี่ยนไปเป็นระบบเบนซิน-ไฟฟ้าเช่นเดียวกับรถไฮบริดทั่วไป ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี สำหรับการจำหน่ายโตโยต้าจะให้ลูกค้าองค์กรที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วโลกนำรถไปใช้ก่อนในช่วงปลายปีนี้ ก่อนที่จะตัดสินใจปล่อยสู่ตลาดทั่วไปต่อไป
ฮอนด้า
ด้านฮอนด้าคู่แข่งตลอดกาลของโตโยต้าก็จะเผยโฉมรถต้นแบบอย่าง “EV-N" ซึ่งมีดีไซน์โดดเด่นเหนือรถไฟฟ้าคันอื่นด้วยรูปลักษณ์แนวเรโทรน่ารัก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากรถ Honda N360 ในยุคทศวรรษ 1960 ตัวรถมีขนาดเล็กกะทัดรัดแต่มีถึง 4 ที่นั่ง นอกจากนั้นยังมีออปชั่นเสริมอย่างแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบที่ทำให้รถสามารถสื่อสารกับรถคันอื่นๆ ของฮอนด้าได้
รถอีกรุ่นของฮอนด้าซึ่งไม่ใช่รุ่นใหม่แต่น่าจะสร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยคือ รถสปอร์ตไฮบริดระบบเบนซิน-ไฟฟ้ารุ่น “CR-Z" ซึ่งได้ยลโฉมกันไปตั้งแต่ปี 2007 แต่ตอนนี้ได้รับไฟเขียวให้ผลิตและขายจริงแล้ว โดยจะวางตลาดในญี่ปุ่นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก่อนที่จะกระจายไปสู่ตลาดอื่นทั่วโลก สำหรับรูปลักษณ์โดยรวมของ CR-Z รุ่นนี้แทบไม่ต่างจากรุ่นที่เคยเผยโฉมเมื่อ 2 ปีก่อน เว้นแต่ตัวถังภายนอกด้านหน้าและหลังที่มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย ส่วนภายในก็มีการเปลี่ยนแปลงให้ดูสปอร์ตมากขึ้น
นิสสัน
นิสสันเป็นอีกหนึ่งค่ายใหญ่ที่ส่งรถแนวคิดแปลกออกมาให้ได้ชมกัน ด้วย “Land Glider" รถต้นแบบพลังงานไฟฟ้าสำหรับคนเมืองซึ่งมีรูปทรงเพรียวบางล้ำยุคและมีน้ำหนักเบา ตัวรถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวที่อยู่ทางด้านหลัง มีแหล่งจ่ายไฟเป็นชุดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ติดตั้งอยู่ใต้พื้นตัวถังรถ ภายในตัวรถมีเพียง 2 ที่นั่งเพื่อลดพื้นที่บนถนน นอกจากนั้นยังมีระบบป้องกันการชนสุดไฮเทค โดยเซนเซอร์จะตรวจจับสิ่งกีดขวางแล้วทำการหักเลี้ยวเพื่อหลบสิ่งกีดขวางโดยอัตโนมัติ และที่แปลกใหม่สุดคือเวลาเลี้ยวตัวรถจะสามารถเอียงได้สูงสุดถึง 17 องศาเหมือนรถมอเตอร์ไซค์ โดยระบบจะคำนวณความเร็วรถและความลาดเอียงของถนนเพื่อปรับความลาดเอียงของรถให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ
อีกนวัตกรรมที่นิสสันภูมิใจนำเสนอคือ “Leaf" รถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กกะทัดรัดซึ่งสามารถวิ่งได้ไกลถึง 160 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ด้วยการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียว นอกจากนั้นยังมีราคาถูกจนคนทั่วไปสามารถซื้อได้ และที่สำคัญนิสสันยืนยันว่ารถรุ่นนี้จะไม่ปล่อยมลพิษเลย ทั้งนี้ นิสสันตั้งเป้าวางจำหน่ายรถรุ่นนี้ในญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ในช่วงปลายปีหน้า
มาสด้า
อีกหนึ่งบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างมาสด้า ก็พร้อมเปิดตัวรถยนต์ต้นแบบอย่าง “Kiyora" ซึ่งมีเครื่องยนตร์เบนซินไดเร็คอินเจ็คชั่น SKY-G ขนาด 1.3 ลิตร และมีอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงถึง 32 กิโลเมตร/ลิตร พร้อมระบบ i-stop ซึ่งจะดับเครื่องยนต์อัตโนมัติเมื่อจอดติดอยู่กับที่ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นมาสด้ายังตั้งเป้าพัฒนายานยนต์ที่มีอัตราการประหยัดเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยดีขึ้นถึง 30% ภายในปี 2558 เมื่อเทียบกับปี 2551
แนวคิดของมาสด้าในปีนี้คือ “Mazda SKY" ซึ่งแสดงถึงความปรารถนาของมาสด้าที่ต้องการให้เจ้าของรถยนต์มาสด้าทุกคันขับขี่รถอย่างสนุกสนานเสมือนอยู่ภายใต้ท้องฟ้าสดใส และยังสะท้อนถึงแรงบันดาลใจที่ไร้ขอบเขตของทีมวิศวกรในการสรรค์สร้างนวัตกรรมยานยนต์ใหม่ๆ ด้วย
มิตซูบิชิ
ตบท้ายด้วยมิตซูบิชิที่จะปล่อยคอนเซปต์คาร์ในชื่อ “PX MiEV" ออกมา โดยรถรุ่นนี้ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัวซึ่งติดตั้งไว้ที่เพลาแต่ละด้าน ส่วนชุดแบตเตอรี่สำรองไฟสามารถรับไฟที่เกิดจากการเบรค จากเครื่องยนต์เบนซิน และจากไฟบ้านได้ ในการขับรถด้วยความเร็วต่ำถึงปานกลางรถจะอาศัยมอเตอร์ไฟฟ้าด้านหน้าในการขับเคลื่อน แต่หากผิวถนนมีแรงเสียดทานลดลงอย่างตอนเกิดฝนหรือหิมะตก รถจะเปลี่ยนการทำงานไปเป็นระบบขับเคลื่อนแบบสี่ล้อโดยอัตโนมัติเพื่อให้การยึดเกาะถนนดีขึ้น ด้านรูปลักษณ์ภายในห้องผู้โดยสารก็ถูกออกแบบให้รู้สึกเหมือนห้องควบคุมของนักบินเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ นอกจากนั้นยังมีกล้องติดตั้งตามจุดสำคัญต่างๆ รอบตัวรถและส่งภาพไปยังจอภาพในห้องผู้โดยสารเพื่อเพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับขี่ให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับอนาคตของยานยนต์เพื่อสิ่งแลดล้อมนั้น นักวิเคราะห์ยานยนต์เชื่อว่ากระแสดังกล่าวคงไม่มาไวไปไวเหมือนแฟชั่นหรือกระแสอื่นๆ แต่มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทั่วโลกต่างตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหากวันหนึ่งรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถไฮบริดมีการใช้งานกันอย่างกว้างขวาง คุณสมบัติที่ช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป ผู้ผลิตรถยนต์คงต้องพัฒนาให้รถไฮบริดให้มีหลายขนาดเพื่อรองรับการใช้งานที่แตกต่างกัน ต้องออกแบบให้มีรูปลักษณ์ที่สวยงามต้องตา และต้องทำให้เป็นรถที่ขับขี่ได้อย่างสนุกสนานด้วย
แม้ญี่ปุ่นจะครองความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน แต่อนาคตก็ไม่แน่นอนเสมอไป เนื่องจากหลายประเทศเริ่มหันมาพัฒนานวัตกรรมยานยนต์รักษ์โลกมากขึ้น บริษัทผลิตยานยนต์แดนปลาดิบจึงมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย และอนาคตของญี่ปุ่นยิ่งน่าตระหนกเมื่อล่าสุดมีข่าวว่าบริษัทรถยนต์ต่างประเทศหลายรายอย่าง พอร์ช, เดมเลอร์ และ โฟล์คสวาเกน ส่งผู้บริหารระดับสูงร่วมปูทางจัดงานเซี่ยงไฮ้มอเตอร์โชว์ ทั้งที่ถอนตัวจากการเข้าร่วมงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ แสดงให้เห็นว่าตลาดเกิดใหม่อย่างจีนกำลังจะกลายเป็นหนามยอกอกของญี่ปุ่น และในระยะยาวญี่ปุ่นอาจเสียตำแหน่งผู้นำได้หากขาดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังที่ อาคิโอะ โทโยดะ ประธานยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกอย่างโตโยต้า กล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า “ผู้ชนะในวันนี้จะกลายเป็นผู้แพ้ในวันหน้าหากขาดการพัฒนา"
หมายเหตุ: งานโตเกียว มอเตอร์ โชว์ ครั้งที่ 41 จะจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้า มาคูฮาริ แมสเซ่ (Makuhari Messe) จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม — 4 พฤศจิกายนนี้ โดยวันที่ 21 -22 ตุลาคม เป็นวันสำหรับสื่อมวลชน, วันที่ 23 ตุลาคม สำหรับแขกวีไอพี และวันที่ 24 ตุลาคม ถึง 4 พฤศจิกายน สำหรับบุคคลทั่วไป