In Focusเทรนด์ฮิต Social Network-Social Gaming พุ่งแรงสวนกระแสวิกฤตการณ์โลกปี 2009

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 23, 2009 10:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปี 2009 อาจเป็นปีที่ไม่น่าจดจำนักสำหรับใครหลายคน เพราะหากมองย้อนกลับไปในเกือบ 365 วันที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกต่างต้องตกที่นั่งลำบากเดียวกัน ไม่ว่าจะด้วยปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง โรคระบาดร้ายแรง และภัยพิบัติรุมเร้า แต่สำหรับใครอีกหลายคน อาจมองปีวัวที่กำลังจะผ่านพ้นแบบชิลชิล เพราะมีกิจกรรมสร้างความบันเทิงและคลายเครียด แถมยังเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วอินเทรนด์ไม่ตกยุค

Social Networking

เมื่อพูดถึงการติดต่อสื่อสาร โลกเราไม่เคยหยุดนิ่ง และมีวิวัฒนาการใหม่ๆผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนจากยุคสู่ยุค ตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณที่ใช้นก(พิราบ)เป็นผู้ส่งสาร ขยับขึ้นมาหน่อยก็เป็นยุคของโทรเลข ต่อมาก็มีโทรศัพท์อำนวยความสะดวก จนกระทั่งมาถึงยุคที่คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องใช้สามัญประจำบ้าน ผู้คนก็หันมาใช้อีเมลในการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงญาติพี่น้อง หรือถ้าวัยรุ่นๆหน่อยก็อาจใช้โปรแกรมสนทนา Instant Messaging Program หรือ IM อาทิ MSN, Yahoo Messenger, Google Talk และ ICQ ที่เคยฮิตระเบิดอยู่ช่วงหนึ่ง

จนกระทั่งในขวบปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ประเภท “โซเชียล เน็ตเวิร์ค" หรือที่แปลตรงตัวว่าเครือข่ายสังคมก็พุ่งแรงจนกลายเป็นดาวเด่นดวงล่าสุด ด้วยคุณสมบัติที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงได้ติดต่อสื่อสารกันเท่านั้น แต่ยังขยายวงกว้างออกไปสู่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตคนอื่นๆ ทำให้ได้เพื่อนใหม่ๆ สังคมใหม่ๆ เช่นเพื่อนของเพื่อนที่อาจไม่รู้จักหรือไม่เคยเห็นหน้าค่าตากัน หรืออาจทำให้ได้พบเจอกับญาติพี่น้องที่ขาดการติดต่อมานาน หรือเพื่อนที่แยกย้ายกันไปตั้งแต่สมัยเรียนจบชั้นประถมหรือมัธยม หรือคุณอาจจะมีเพื่อนเป็นคนดังก็ได้

นอกจากนี้ ความเข้าใจที่ว่าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเหล่านี้มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา นั้นเริ่มหมดสมัยแล้ว เนื่องจากปัจจุบัน เครือข่ายสังคมแพร่หลายและมีฐานผู้ใช้ในหลายระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคมออฟฟิศ จนถึงระดับประเทศหรือระดับโลก ซึ่งเลือกใช้โซเชียล เน็ตเวิร์ค ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป เช่นในระดับรัฐบาลหรือแวดวงการเมืองใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมเป็นช่องทางป่าวประกาศ หาเสียง หรือปลุกระดมประชาชน ขณะที่บริษัทห้างร้านก็อาจใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อโปรโมตแบรนด์สินค้าของตนเอง เป็นต้น

*จากซิกส์ดีกรี ถึง เฟซบุ๊ค

สำหรับเว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คแห่งแรกของโลกเปิดตัวเมื่อ 12 ปีก่อน มีชื่อว่า ซิกส์ดีกรี (SixDegrees) ตามทฤษฎีความเชื่อที่ว่าคนบนโลกนี้ทุกคนมีความสัมพันธ์ต่อกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เฉลี่ย 6 ทอด เช่น เล่าเรื่องเพื่อนเก่าของเราให้เพื่อนอีกคนฟัง แต่ไปๆมาๆ กลายเป็นว่าเพื่อนทั้งสองคนรู้จักกัน หรือเจอคนแปลกหน้า คุยไปคุยมา กลับกลายเป็นว่าคนแปลกหน้าคนนั้นรู้จักกับญาติหรือเพื่อนของเรา หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “โลกกลม" นั่นเอง

แม้จะปิดตัวลงไปเมื่อปี 2000 ด้วยอาจเพราะเป็นของใหม่เกินไปสำหรับผู้ใช้ในสมัยนั้นที่ยังไม่กล้าพอที่จะคบหาคนแปลกหน้า แต่นับว่าซิกส์ดีกรีก็ได้จุดกระแสและต่อยอดให้เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์คได้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ดดังเช่นปัจจุบัน โดยมีผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาหรือเธอสร้างโปรไฟล์ และแบ่งปันรูปถ่าย วิดีโอ และอัพเดททุกเรื่องราวตั้งแต่เรื่องอาหารกลางวันไปจนถึงเรื่องฝันกลางวันของตัวเอง ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ เว็บไซต์ประเภทนี้ก็มีกว่า 100 แห่งเข้าไปแล้ว

ในบรรดาเว็บไซต์เครือข่ายสังคมมากหน้าหลายตานั้น เว็บที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ทั่วโลกต้องยกให้นี่เลย "เฟซบุ๊ค" (Facebook) การันตีด้วยจำนวนสมาชิกที่ล่าสุดทะลุ 350 ล้านคนแล้ว นับตั้งแต่ที่เปิดตัวเมื่อปี 2005 โดย Mark Zuckerburg นักศึกษาหนุ่มวัย 23 ปี ด้วยวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการสร้างพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะเพื่อนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดเท่านั้น แต่แล้วเว็บนี้ก็ดังเปรี้ยงและระบาดไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าใช้งานจากทั่วโลก โดยสัดส่วนของสมาชิก 30% อยู่ในสหรัฐอเมริกา และ 70% อยู่ในประเทศอื่นๆ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วยที่รับกระแสเฟซบุ๊คมาเต็มๆ จนสามารถดึงสมาชิกไปจาก “ไฮไฟว์" (Hi5) ที่เคยฮิตติดลมบนเมื่อช่วงต้นปี และดูเหมือนจะทำได้ดีกว่าด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะนอกจากจะใช้เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารแล้ว เฟซบุ๊คยังมีลูกเล่นใหม่ๆ มาดึงดูดความสนใจสมาชิกอยู่เสมอจนทิ้งห่างคู่แข่งรายอื่น

“ลูกเล่น" ที่ว่าก็คือ “แอพพลิเคชั่น" ที่บรรดานักพัฒนาโปรแกรมทั้งหลายประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่อทำให้สมาชิกติดหนึบและใช้เวลาบนเฟซบุ๊คนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แอพพลิเคชั่นที่มาแรงที่สุดในปีนี้ก็คือบรรดาเกมทั้งหลายแหล่ที่พาเอาผู้คนติดกันงอมแงม ไม่ว่าจะเป็นเกมปลูกผัก ทำฟาร์ม เลี้ยงสัตว์ เปิดร้านอาหาร ตลอดจนแอพพลิเคชั่นที่โดนใจแฟนเฟซบุ๊คทั่วโลก อาทิ Top Friends สำหรับจัดอันดับเพื่อนสมาชิก, iLike สำหรับแบ่งปันเพลงที่คุณชื่นชอบกับเพื่อน และยังสามารถแสดงภูมิความรู้ด้านเพลงของคุณในการแข่งขันด้วย, SkypeMe สำหรับโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต, Flixter สำหรับให้คะแนนภาพยนตร์และพูดคุยเกี่ยวกับหนัง, Birthday Cards สำหรับส่งการ์ดและของขวัญให้เพื่อนในโอกาสต่างๆ เป็นต้น

*แผนที่เครือข่ายสังคม

ขณะที่เฟซบุ๊ค และ ไฮไฟว์ เข้ามาสร้างกระแสนิยมในหมู่พี่น้องชาวไทย เพื่อนๆของเราในประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ เขาก็มีชุมชนออนไลน์ยอดนิยมของตัวเองเช่นกัน ลองมาทำความรู้จักชุมชนออนไลน์ในมุมอื่นของโลกกันดูสักหน่อย

เริ่มกันที่อเมริกาเหนือ นอกจาก เฟซบุ๊ค ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังมี มายสเปซ (MySpace) ซึ่งเคยป็อปปูลาร์สุดๆในหมู่อเมริกันชน ก่อนจะเริ่มแผ่วเมื่อถูกเฟซบุ๊คตีตลาด นอกจากนี้ยังมีวินโดว์ไลฟ์ (Windows Life Profile) และน้องใหม่อย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) ที่มาแรงแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะในหมู่คนบันเทิงสหรัฐ ถึงขนาดมีเว็บไซต์คอยอัพเดทว่า ดาราฮอลลีวูดเขา “ทวีต" ข้อความว่าอย่างไรกันบ้าง ทำให้ผู้คนจำนวนมากหันไปใช้ตาม แต่เมื่อพิจารณาจำนวนสมาชิกแล้วทวิตเตอร์ยังคงตามหลังเฟซบุ๊คอยู่หลายช่วงตัว

โดยขณะที่เว็บเครือข่ายสังคมฮ็อตฮิตในสหรัฐได้แผ่ขยายอิทธิพลไปในทุกทวีปทั่วโลก ก็มีเว็บไซต์บางแห่งที่สามารถแทรกซึมจนครองใจผู้ใช้นอกสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่น Bebo ที่นิยมใช้กันในประเทศเครือจักรภพอังกฤษ รวมถึงไอร์แลนด์ ส่วนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต้องหลีกทางให้ Friendster ขณะที่ Orkut แพร่หลายอย่างมากในบราซิลและอินเดีย ซึ่งสาเหตุที่ Orkut ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในประเทศซึ่งห่างไกลกันทั้งทำเลที่ตั้งและวัฒนธรรมประเพณีนั้น นักวิจัยชี้ว่าเป็นเพราะข้อได้เปรียบที่ Orkut สามารถใช้ได้ดีในพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ตช้า นอกจากนี้ ในหลายประเทศ ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมทำให้เครือข่ายที่สร้างเองในประเทศได้รับความนิยมมากกว่าเว็บนำเข้า อาทิ Baidu Space ของจีน และ Vkonkakte ของรัสเซีย ส่วนชาวญี่ปุ่นเขาเทใจให้ Mixi ที่ซึ่งสมาชิกใหม่ต้องได้รับการอ้างอิงจากสมาชิกเก่า และสมาชิกสามารถแสดงกรุ๊ปเลือดในหน้าโปรไฟล์ ตามความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ว่ากรุ๊ปเลือดสามารถบ่งชี้ว่าผู้ใช้จะมีนิสัยเข้ากันได้หรือไม่

ส่วนเว็บไซต์ที่มาแรงและน่าจับตามองอย่างมากในเอเชียได้แก่ Cyworld ชุมชนออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลี ซึ่งไม่เพียงประสบความสำเร็จในประเทศ แต่ยังสยายปีกเข้าไปในจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม หรือแม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ด้วยลูกเล่นที่แตกต่างไปจากเครือข่ายอื่น อาทิ การใช้เงินตราเสมือนจริงสำหรับจับจ่ายซื้อของแต่งเว็บ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ วอลล์เปเปอร์ และเพลง นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Cyworld ได้รับความนิยมในต่างแดน ทั้งที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ก็เป็นเพราะกระแส Korean Wave หรือ KPOP ด้วยเหตุที่ดารานักร้องเกาหลีมักใช้ Cyworld เป็นที่ติดต่อสื่อสารกับบรรดาแฟนคลับ ส่งผลให้ผู้ที่ชื่นชอบศิลปินจากฝั่งเกาหลีซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วเอเชีย รวมถึงอเมริกา ต่างก็รู้จักและแห่ใช้บริการเว็บไซต์นี้เพื่อเข้าถึงดารานักร้องเกาหลีที่พวกเขาคลั่งไคล้นั้นเอง

Social Gaming

กิจกรรมฮิตประจำปีวัวที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ก็ยังคงเกี่ยวเนื่องกับเว็บไซต์เครือข่ายสังคม นั่นก็คือ การเล่นเกมบนเฟซบุ๊คนั่นเอง

ดังเช่นที่กล่าวไปตอนต้นแล้วว่า เฟซบุ๊คมีโปรแกรมเสริมประเภทเกม ที่ออกแบบให้สมาชิกทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างง่ายดาย แค่เพียงสมัครเป็นสมาชิกเฟซบุ๊คเท่านั้นก็สามารถสนุกสนานเพลิดเพลินและอินเทรนด์ได้ ซึ่งเกมที่ครองอันดับ 1 เมื่อวัดจากจำนวนผู้เข้าใช้งานทั่วโลกก็คือ FarmVille หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในชื่อ “เกมปลูกผัก" นั่นเอง โดยปัจจุบันมีผู้เล่นเกมนี้ 73,331,403 คนต่อเดือน ซึ่งผู้บริหารเฟซบุ๊คก็ได้ออกมากล่าวอ้างว่า ผู้เล่นเกมนี้เกมเดียวมากกว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์รวมกันเสียอีก ทำให้ Farmville กลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใหญ่ที่สุดของเฟซบุ๊ค

โดยเกมประเภทปลูกผักหรือทำฟาร์มนี้ยังรวมถึง Farm Town, Barn Buddy และ Country Story ที่ผู้เล่นจะได้ออกแบบฟาร์มของตัวเองไม่ให้ซ้ำกับคนอื่น ในที่ดินอันจำกัดแปลงหนึ่งซึ่งเอาไว้ปลูกผัก ดูแลรดน้ำ พรวนดิน ฉีดยาฆ่าแมลง เมื่อผลผลิตโตก็นำไปขายได้ค่าตอบแทนเป็นเงินมาซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อขยายแปลงผัก หรือซื้อของตกแต่งฟาร์ม

จริงๆแล้ว เกมปลูกผัก ทำฟาร์ม มีมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างเกม Harvest Moon บนเครื่องนินเทนโด DS แต่มาฮิตระเบิดไปทั่วโลกในเวอร์ชั่นเฟซบุ๊ค ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้เล่นติดเกมเหล่านี้จนถอนตัวไม่ขึ้นนั้นก็เป็นเพราะ นอกจากเราจะได้เห็นพัฒนาการของผักที่เราปลูกเป็นระยะเพื่อเพิ่มเลเวลไปเรื่อยๆแล้ว เรายังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในแปลงผักของเพื่อนได้ด้วย โดยอาจจะช่วยรดน้ำ กำจัดหญ้า หรือฆ่าแมลงให้เพื่อน หรือแม้แต่ขโมยผัก ปล่อยแมลง และวัชพืชใส่แปลงผักเพื่อนก็ยังทำได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องคอยป้องกันไม่ให้เพื่อนมาลักขโมยผักของตัวเองด้วย

นอกจากปลูกผัก ทำฟาร์มแล้ว อีกเกมที่ฮิตไม่แพ้กันก็คือเกมเปิดร้านอาหาร ได้แก่ Caf? World (ผู้เล่น 31,937,894 คนต่อเดือน) และ Restaurant City ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เล่นเป็นเจ้าของร้านอาหาร โดยจะต้องบริหารและดำเนินธุรกิจร้านอาหารของตัวเอง ตั้งแต่คิดเมนู ตกแต่งร้าน ทำอาหาร จ้างเพื่อนมาทำงานที่ร้าน เก็บสะสมวัตถุดิบทำอาหารใหม่ๆ แล้วแลกเปลี่ยนกับเพื่อน หรือไปเยือนร้านอาหารของเพื่อน

เกมเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน นำโดย “Pet Society" ด้วยจำนวนผู้เล่น 21,404,355 คน วิธีการเล่นเริ่มจากการสร้างสัตว์เลี้ยงขึ้น โดยเราสามารถเลือกรูปหน้า หู คิ้ว ตา จมูก สีผิว ให้สัตว์เลี้ยงของเราได้ จากนั้นก็สร้างบ้านให้มันอยู่ และต้องพยายามเก็บเงินมาซื้อของแต่งบ้าน รวมถึงแลกเปลี่ยนของขวัญกับเพื่อนๆ ในหมู่บ้าน

อีกเกมที่เริ่มมีคนพูดถึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่ Happy Aquarium ที่มีผู้เล่นสูงถึง 27,677,183 ต่อเดือน โดยผู้เล่นสามารถให้อาหารและเล่นกับลูกปลาได้ รวมทั้งตกแต่งและทำความสะอาดตู้ปลา เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลาน้อยได้ว่ายน้ำอย่างมีความสุข

ปิดท้ายตัวอย่างเกมฮิต ด้วยเกม Mafia Wars จำนวนผู้เล่น 25,532,483 คน เป็นเกมสร้างกลุ่มแก๊งมาเฟียร่วมกับเพื่อนๆ แล้วต่อสู้กับแก๊งมาเฟียอื่นๆ เกมนี้น่าจะถูกใจคอเกมผู้ชาย เนื่องจากสามารถทำสิ่งเลวร้ายที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริง เช่น เป็นมือปืนรับจ้าง ซื้ออาวุธ และต่อสู้!

ความแรงของโซเชียลเกมทำให้ Zynga เจ้าของเกมดัง Farm Ville และ Mafia Wars มีรายได้เกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วน Playfish ผู้ผลิต Pet Society และ Restaurant City ก็ไม่น้อยหน้าโดยคาดว่าน่าจะมีรายได้ประมาณ 75 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

หลักฐานหนึ่งที่ยืนยันถึงความฮิตของโซเชียล เกมก็คือ อิเลคโทรนิค อาร์ต (อีเอ) บริษัทผู้ผลิตวิดีโอเกมฮิตอย่าง FIFA 10, The Beatles: Rock Band และ The Sims ประกาศทุ่มเงินอย่างน้อย 275 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อบริษัท Playfish ด้วยหวังว่าการซื้อกิจการครั้งนี้จะช่วยให้อีเอเจาะตลาดเกมในชุมชนออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงและให้ผลตอบแทนงดงาม ขณะที่อุตสาหกรรมวิดีโอเกมแบบดั้งเดิมเริ่มซบเซา สืบเนื่องมาจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในยามเศรษฐกิจตกต่ำ

นอกจากนี้ ความฮ็อตของโซเชียลเกมยังส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อยอดขายเครื่องเล่นเกม Wii ของค่ายนินเทนโด ที่ครองบัลลังก์เจ้าแห่งอุตสาหกรรมเกมในปีที่แล้ว แต่มาปีนี้ยอดขายกลับตกลงฮวบฮาบ จนทำให้บริษัทต้องตัดสินใจลดราคาเครื่อง Wii ลง เช่นเดียวกับ Play Station 3 ของค่ายโซนี่ และ Xbox 360 ของไมโครซอฟท์

BlackBerry

*แบล็กเบอร์รี่ vs ไอโฟน

ในรอบปีที่ผ่านมา แบล็กเบอร์รี่ ปั่นกระแสแรงมากในบ้านเรา ชนิดที่ว่าหันไปทางไหนก็เจอคนก้มหน้าก้มตาจ้องจอ “บีบี" ขณะที่นิ้วก็จิ้มแป้นพิมพ์เล็กๆไม่ได้หยุด แต่ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่อินจัดกับแบล็กเบอร์รี่ พิสูจน์ได้จากล่าสุดที่ รีเสิร์ช อิน โมชั่น (RIM) บริษัทสัญชาติแคนาดาผู้ผลิตบีบี เพิ่งรายงานผลกำไรไตรมาส 3 ว่า พุ่งขึ้น 59% ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขายสมาร์ทโฟนที่สูงเป็นประวัติการณ์นี้

โดยยอดจำหน่ายแบล็กเบอร์รี่ในไตรมาสนี้ สูงถึง 10.1 ล้านเครื่อง ขณะที่คู่แข่งอย่างแอปเปิลจำหน่ายไอโฟนได้ 7.4 ล้านเครื่องในไตรมาสล่าสุด ส่งผลให้ล่าสุดแบล็กเบอร์รี่มียอดขายเครื่องรวมแล้วกว่า 75 ล้านเครื่องทั่วโลก

ด้านบริษัทวิจัย เอ็นพีดี กรุ๊ป อิงค์ เผยว่า แบล็กเบอร์รี่ Curve เป็นสมาร์ทโฟนที่มียอดขายถล่มทลายสูงสุดในสหรัฐในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับลดราคาช่วยหนุนยอดขาย โดยมี ไอโฟน 3GS และ 3G ของบริษัทแอปเปิล ตามมาเป็นที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ขณะที่รายงานล่าสุดจาก คอมสกอร์ บริษัทสำรวจทางด้านไอที พบว่า จากจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือทั้งหมด 196 ล้านคน ระบุว่ากว่า 40% เป็นผู้ใช้งานแบล็กเบอร์รี่ ตามติดมาด้วยไอโฟนในอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาดประมาณ 25%

ดันแคน สจ๊วร์ต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และวิจัยของ ดีแซม คอนซัลติ้ง กล่าวว่า “นี่แสดงให้เห็นว่า สมาร์ทโฟนของ RIM ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะมันมียอดขายมากกว่าคู่แข่งรายใหญ่สุด"

และด้วยยอดขายที่พุ่งกระฉูดนี้เอง ทำให้ RIM รั้งอันดับ 1 ในรายชื่อ 100 บริษัทที่มีอัตราการขยายตัวรวดเร็วที่สุดประจำปี 2009 จากการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูน จากผลกำไรที่โตขึ้นถึง 84% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ขยายตัว 77% และมีผลตอบแทนรวม 45% ในขณะที่แอปเปิล คู่แข่งรายสำคัญที่มีขนาดใหญ่กว่า RIM ถึง 3 เท่าทั้งด้านยอดขายและมูลค่าตลาด ติดเพียงอันดับ 39 ในการจัดอันดับเดียวกันนี้

*จากนักธุรกิจถึงดารา

เดิมแบล็กเบอร์รี่นิยมเฉพาะในหมู่นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เน้นการใช้งานรับส่งอีเมลและอินเทอร์เน็ต เพื่อติดต่อสื่อสารกับพนักงานที่อยู่คนละประเทศ คนละจังหวัด แต่ในระยะหลังแบล็กเบอร์รี่เริ่มขยายขอบเขตสู่ตลาดผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น ด้วยการเปิดตัวรุ่นใหม่ๆที่เป็นหน้าจอแบบทัช-สกรีน อาทิ แบล็กเบอร์รี Storm รวมทั้งสมาร์ทโฟนรุ่นที่มีกล้องและเครื่องเล่นเพลง

สำหรับปัจจัยที่ดันกระแสแบล็กเบอร์รี่ให้ฮิตติดลมบนก็คือ การได้ดารานักร้อง บุคคลที่มีชื่อเสียง มาเป็นลูกค้า โดยแม้แต่ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ยัง “ติดบีบี" ถึงขั้นโน้มน้าวทีมรักษาความปลอดภัยให้ท่านสามารถใช้แบล็กเบอร์รี่ต่อไปได้หลังรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ นับว่าเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ได้ผลเป็นอย่างดี เพราะทำให้แบล็กเบอร์รี่กลายเป็นสินค้าแฟชั่นที่คนทุกเพศทุกวัยต้องหามาใช้เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ กระแสโซเชียล เน็ตเวิร์ค อย่าง เฟซบุ๊ค มายสเปซ ไฮไฟว์ ทวิตเตอร์ ซึ่งแบล็กเบอร์รี่ก็ตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี

ความสำเร็จในกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันกว่า 80% ของลูกค้าจดทะเบียนใหม่เป็นลูกค้าบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่องค์กรธุรกิจ เทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อน ลูกค้าจดทะเบียนใหม่ยังเป็นลูกค้าประเภทธุรกิจถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของแบล็กเบอร์รี่ในหมู่ผู้บริโภคท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นจากสมาร์ทโฟนที่เป็นคู่แข่ง อาทิ ไอโฟนของแอปเปิล อิงค์, พรี ของปาล์ม อิงค์ และ ดรอยด์ ของโมโตโรล่า อิงค์

สำหรับใครที่ยังไม่มีโอกาสได้ "อิน" กับเทรนด์เหล่านี้ ก็ยังไม่สาย เพราะนักวิเคราะห์ทั้งหลายฟันธงว่า เทรนด์ฮิตทั้ง 3 ในปีวัวนี้ จะยังคงแรงต่อเนื่องแม้ล่วงเข้าสู่ปีเสือ!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ