สมาคมผู้จำหน่ายยานยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดขายรถใหม่ของญี่ปุ่นประจำเดือนมกราคมปรับตัวสูงขึ้น 36.8% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 238,362 คัน นับเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันที่ยอดขายรถในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
เมื่อแยกตามประเภท ปรากฏว่า ยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งไม่นับรวมรถยนต์ขนาดเล็กที่มีเครื่องยนต์ต่ำกว่า 660 ซีซี เพิ่มขึ้น 2.8% แตะ 219,844 คัน อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถบรรทุกร่วงลง 9.0% แตะ 17,556 คัน และยอดขายรถบัสร่วงลง 7.6% เหลือ 962 คัน โดยสาเหตุที่ทำให้ยอดขายรถบรรทุกและรถบัสร่วงลงนั้นเป็นเพราะการลงทุนประเภท fixed business ในญี่ปุ่นปรับตัวลดลง
เมื่อแยกตามแบรนด์ โตโยต้ามียอดขาย 117,154 เพิ่มขึ้น 42.9% ฮอนด้ามียอดขาย 26,510 คัน พุ่งขึ้น 65.3% นิสสันมียอดขาย 38,260 คัน เพิ่มขึ้น 24.3% มาสด้ามียอดขายเพิ่มขึ้น 31.9% และซูซูกิมียอดขายเพิ่มขึ้น 8.4%
ขณะที่มิตซูบิชิ ฟูโซ่, ฮิโน่ และอิซูซุ ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ใช้งานหนัก มียอดขายในเดือนม.ค. 2553 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมิตซูบิชิ ฟูโซ่ มียอดขาย 1,116 คัน ลดลง 25.9% ฮิโน่มียอดขาย 1,908 คัน ลดลง 2.8% และอีซูซุ มียอดขาย 2,350 คัน ลดลง 10.7%
ทั้งนี้ แม้ยอดขายที่เพิ่มขึ้นจะถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ผลิตรถของญี่ปุ่น แต่บริษัทเหล่านี้ก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในช่วงสองถึงสามเดือนจากนี้ จากกรณีที่โตโยต้าเรียกคืนรถประมาณ 7 ล้านคันทั่วโลกอันเนื่องมาจากปัญหาคันเร่งค้าง และฮอนด้าประกาศเรียนคืนรถ 646,000 คัน จากสาเหตุน้ำรั่วที่สวิตซ์กระจกประตูด้านคนขับ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร-ไฟไหม้รถ
การเรียกคืนรถดังกล่าวกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากสื่อในสหรัฐอเมริกา ที่ซึ่งรถสัญชาติญี่ปุ่นสามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดรถของค่ายบิ๊กทรีสหรัฐ เนื่องจากคุณสมบัติด้านประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่า แม้ผู้ผลิตรถของญี่ปุ่น โดยเฉพาะโตโยต้า อาจมีส่วนแบ่งลดลงในสหรัฐและยุโรป เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับความปลอดภัยถูกสั่นคลอน แต่ก็เชื่อว่า ยอดขายรถของบริษัทเหล่านี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนดังกล่าวมากนัก