ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่กินเวลายาวนานกว่า 1 ปีส่งผลกระทบในวงกว้างต่อทุกภาคส่วนของโลก อุตสาหกรรมยานยนต์เองก็หนีไม่พ้นเช่นกัน ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายต้องปิดกิจการลง บางรายต้องขายกิจการ บางรายต้องควบรวมกิจการ อีกหลายรายต้องดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดจากภาวะล้มละลาย แม้แต่ยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป เองก็ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากต้องต่อสู้เพื่อให้ยอดขายในสหรัฐดีดตัวขึ้น แต่ในขณะที่ทางบริษัทกำลังพยายามอย่างเต็มที่นั้น เหตุการณ์ร้ายๆที่ไม่ควรจะเกิดก็เกิดขึ้น
มหากาพย์การเรียกคืนรถครั้งใหญ่ที่สุดของโตโยต้าเริ่มขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อ มาร์ค เซย์เลอร์ เจ้าหน้าที่ทางหลวงสายแคลิฟอร์เนีย ขับรถเล็กซัสมาบนทางหลวงสาย 125 นอกเมืองซานดิเอโก ด้วยความเร็วกว่า 120 ไมล์/ชั่วโมง ก่อนที่รถของเขาจะเสียหลักและลอยข้ามเกาะกั้น พลิกคว่ำหลายตลบ และระเบิดจนไฟลุกท่วม ส่งผลให้เขาและสมาชิกในครอบครัวอีก 3 คนเสียชีวิตทั้งหมด
โตโยต้าคาดการณ์ว่า สาเหตุของโศกนาฏกรรมครั้งนี้อาจเกิดจากพรมยางด้านคนขับเข้าไปติดในคันเร่งทำให้คันเร่งค้าง เมื่อเวลาล่วงเลยมาจนถึงเดือนตุลาคมโตโยต้าจึงตัดสินใจเรียกคืนรถ 3.8 ล้านคันในสหรัฐ พร้อมแนะนำให้ผู้ขับขี่ตรวจดูให้ดีว่าพรมด้านคนขับอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยหรือไม่ หรือไม่ก็นำพรมด้านคนขับออกไปจากรถเลย ซึ่งคำเตือนดังกล่าวมีผลกับรถโตโยต้า คัมรี รุ่นปี 2007-2010, โตโยต้า อวาลอน ปี 2005-2010, โตโยต้า พรีอุส ปี 2004-2009, โตโยต้า ทาโคม่า ปี 2005-2010, โตโยต้า ทุนดร้า ปี 2007-2010, เล็กซัส อีเอส350 ปี 2007-2010 รวมถึง เล็กซัส ไอเอส250 และ ไอเอส350 ปี 2006-2010
แต่แล้วความวัวไม่ทันหายความควายก็เข้ามาแทรก เมื่อปลายเดือนตุลาคมโตโยต้าต้องเรียกคืนรถรุ่นวิตซ์ ที่ผลิตขึ้นในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2005 จำนวน 82,226 คันในญี่ปุ่น หลังจากพบปัญหาขัดข้องที่สวิทช์หน้าต่างไฟฟ้าข้างคนขับซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุไฟไหม้ได้
ข่าวร้ายของโตโยต้ายังไม่สิ้นสุดลงแค่นั้น เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาโตโยต้าต้องเรียกคืนรถยนต์จำนวน 2.3 ล้านคันในสหรัฐเพื่อนำกลับมาแก้ปัญหาเกี่ยวกับคันเร่งค้าง โดยรถรุ่นที่เรียกคืนได้แก่ โตโยต้า ราฟโฟร์ ปี 2009-2010, โตโยต้า โคโรลล่า ปี 2009-2010, โตโยต้า แมทริกซ์ ปี 2009-2010, โตโยต้า อวาลอน ปี 2005-2010, โตโยต้า คัมรี ปี 2007-2010, โตโยต้า ไฮแลนเดอร์ ปี 2010, โตโยต้า ทุนดร้า ปี 2007-2010 และ โตโยต้า ซีคัวญ่า ปี 2008-2010
โดย เอิร์ฟ มิลเลอร์ รองประธานโตโยต้า มอเตอร์ เซลส์ กรุ๊ป กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่ามีความเป็นไปได้ที่ระบบคันเร่งอาจค้างในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนัก พร้อมกันนั้นก็ชี้แจงว่าการเรียกคืนครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเรียกคืนรถที่มีปัญหาเรื่องพรมเข้าไปติดในคันเร่ง
ต่อมาไม่นานนักโตโยต้าก็เรียกคืนรถอีกประมาณ 2 ล้านคันในยุโรป นอกจากนั้นยังเรียกคืนรถอเนกประสงค์รุ่นราฟโฟร์ประมาณ 75,000 คันในจีน เนื่องจากรถรุ่นดังกล่าวอาจมีปัญหาที่คันเร่งเช่นกัน และหลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ โตโยต้า มอเตอร์ เซลส์ ยูเอสเอ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลด้านการขายของโตโยต้า มอเตอร์ ในสหรัฐ ได้แจ้งกับดีลเลอร์ประมาณ 1,250 รายในสหรัฐให้ระงับการขายและการผลิตรถทั้ง 8 รุ่นที่ถูกเรียกคืนไปก่อนหน้านี้
ก่อนสิ้นสุดเดือนมกราคม โตโยต้าก็ประกาศเรียกคืนรถเพิ่มอีก 1.09 ล้านคันในสหรัฐ เนื่องจากปัญหาเรื่องพรมปูพื้นอีกครั้ง โดยในรอบนี้รถที่ถูกเรียกคืนมีอยู่ 5 รุ่นด้วยกันคือ โตโยต้า ไฮแลนเดอร์ ปี 2008-2010, โตโยต้า โคโรลล่า ปี 2009-2010, โตโยต้า เวนซ่า ปี 2009-2010, โตโยต้า แมทริกซ์ ปี 2009-2010 และ โตโยต้า ปอนเทียค วิเบ ปี 2009-2010
นอกจากนั้นการเรียกคืนรถยังลามไปถึงค่ายรถยักษ์ใหญ่อันดับสองของยุโรปอย่าง เปอร์โยต์-ซีตรอง ที่ประกาศเรียกคืนรถเปอร์โยต์ 107 และ ซีตรอง ซี1 ร่วมแสนคันทั่วยุโรปเพื่อเปลี่ยนแป้นเหยียบคันเร่ง สืบเนื่องจากรถเหล่านี้ผลิตจากโรงงานในเมืองโคลิน สาธารณรัฐเช็ก ซึ่งเป็นโรงงานที่ทางเปอร์โยต์ซีตรองกับโตโยต้าร่วมกันทำการผลิตรถ และเป็นโรงงานผลิตรถยนต์รุ่นหนึ่งของโตโยต้าที่เพิ่งประสบปัญหาเรื่องคันเร่งค้างเช่นกัน
ปรากฏการณ์การเรียกคืนรถมากเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้ทำให้ มาซายูกิ นาโอชิม่า รัฐมนตรีการค้าของญี่ปุ่น ออกโรงเรียกร้องให้โตโยต้าหามาตรการที่เด็ดขาดมาใช้เพื่อรับประกันความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อรถยนต์ของบริษัท หลังยอดเรียกคืนรถทะลุหลายล้านคันแล้ว ด้วยเกรงว่านอกจากปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของบริษัทรถยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อยอดขายทั่วโลก และอาจถึงขั้นกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก็เป็นได้
ในที่สุดเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทโตโยต้า ก็ออกมากล่าวขอโทษกลางเวทีประชุมเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ NHK ว่า ทางบริษัทต้องขอโทษอย่างยิ่งที่ทำให้ลูกค้าต้องกังวลใจ และเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ทำให้ลูกค้าเกิดความไม่สะดวก
จากนั้นช่วงต้นสัปดาห์บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เซลส์ ยูเอสเอ ก็ประกาศว่าได้เริ่มแก้ไขปัญหาแป้นคันเร่งของรถโตโยต้ารุ่นที่เรียกคืนแล้ว พร้อมกันนั้นยังได้พัฒนาวิธีการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพสำหรับรถที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้รถโตโยต้าบางส่วนในสหรัฐและแคนาดายังไม่พอใจกับการแก้ปัญหาของโตโยต้า และได้รวมตัวกันยื่นฟ้องดำเนินคดีต่อโตโยต้า โดยโจทก์ได้ร้องเรียนว่าปัญหาการเร่งเครื่องโดยไม่รู้ตัวไม่ได้มีสาเหตุมาจากความบกพร่องของแป้นเหยียบคันเร่ง แต่เป็นเพราะระบบคันเร่งไฟฟ้าในรถโตโยต้ามากกว่า ขณะที่ทนายความในคดีที่เท็กซัสตำหนิโตโยต้าที่ไม่ดำเนินมาตรการใดๆ เพื่อแก้ปัญหาทั้งที่รับทราบข้อบกพร่องนี้มานานแล้ว อย่างไรก็ตาม จิม เลนท์ซ ประธานโตโยต้า มอเตอร์ เซลส์ ยูเอสเอ ยืนยันว่า ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเกิดปัญหาที่ระบบไฟฟ้าซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเร่งคันเร่งโดยไม่รู้ตัว
แม้โตโยต้าจะออกมายอมรับในความผิดพลาดของบริษัท แต่ดูเหมือนว่าปัญหาจะไม่จบลงง่ายๆ เมื่อ เรย์ ลาฮู้ด รัฐมนตรีคมนาคมสหรัฐ กล่าวว่า ปัญหาการเรียกคืนรถของโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป ยังไม่จบสิ้น โดยทางกระทรวงจะจับตาดูการเรียกคืนรถอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาต่อไปว่าบริษัทมีข้อบกพร่องอื่นๆ อีกหรือไม่ พร้อมตำหนิว่าโตโยต้าออกมาแก้ปัญหาช้าเกินไป ขณะที่สำนักงานความปลอดภัยการเดินทางบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐ ก็กำลังพิจารณาว่าอาจดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับโตโยต้าจากกรณีที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นทางสำนักงานยังเปิดเผยว่าได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบเบรกของรถยนต์โตโยต้าพรีอุสไฮบริดกว่า 100 ราย และในประเทศญี่ปุ่นก็มีการร้องเรียนเรื่องปัญหาระบบเบรกของโตโยต้าพรีอุสเข้ามาจำนวน 14 รายเช่นกัน และนี่อาจเป็นปัญหาระลอกใหม่ที่โตโยต้าต้องรับมือต่อไป
ชินอิจิ ซาซากิ รองประธานบริหารบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ออกมายอมรับว่า บริษัทรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากว่าจะไม่สามารถทำยอดขายรถยนต์ทั่วโลกปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากที่เกิดกรณีเรียกคืนรถหลายล้านคันส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงด้านคุณภาพที่บริษัทสั่งสมมานาน โดยนายซาซากิยอมรับว่ายอดสั่งซื้อรถโตโยต้าปรับตัวลดลงนับตั้งแต่ที่บริษัทได้ประกาศเรียกคืนรถยนต์ในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาคันเร่งค้าง พร้อมกับคาดการณ์ว่ายอดขายรายเดือนอาจร่วงลงมากกว่า 20% เมื่อพิจารณาจากกรณีการเรียกคืนรถในอดีต
และความกังวลของโตโยต้าก็กลายเป็นความจริง เมื่อข้อมูลล่าสุดจาก ออโต้ดาต้า คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ใหม่ของค่ายโตโยต้า มอเตอร์ ในตลาดสหรัฐ ร่วงลง 15.8% ในเดือนม.ค. แตะระดับ 98,796 คัน ทำสถิติร่วงลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ส่งผลให้โตโยต้าถูก ฟอร์ด มอเตอร์ เบียดขึ้นแซงหน้าเป็นค่ายรถยนต์ที่ทำยอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 2 และทำให้โตโยต้าหล่นลงไปอยู่อันดับ 3 เมื่อพิจารณาจากส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐที่ลดลงเหลือ 14.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ส่วนอันดับ 1 ยังคงเป็นของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม)
หลายฝ่ายเชื่อว่าการเพลี่ยงพล้ำของโตโยต้าครั้งนี้อาจเปิดโอกาสให้ค่ายรถยนต์อื่นๆ โดยเฉพาะคู่แข่งรายสำคัญอย่าง ฮอนด้า มอเตอร์ โค แย่งส่วนแบ่งในตลาดและตีตื้นขึ้นมาได้บ้าง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อฮอนด้าเล่นไหลตามน้ำโดยออกมาประกาศเรียกคืนรถในเวลาไล่เลี่ยกัน
โดยรถที่ถูกเรียกคืนคือรถรุ่น ฮอนด้า แจ๊ซ และ ฮอนด้า ซิตี้ จำนวน 646,000 คัน ที่ผลิตขึ้นระหว่างปี 2001-2008 ที่โรงงานของฮอนด้าในประเทศจีน บราซิล และในเมืองซุซูกะ จังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น โดยสาเหตุของปัญหาเกิดจากการที่น้ำสามารถไหลผ่านขอบประตูเข้าไปในสวิตช์แผงวงจรกระจกไฟฟ้าจนอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ฮอนด้าได้รับรายงานหลายครั้งเกี่ยวกับกรณีมีควันขึ้นบริเวณสวิทช์หน้าต่างไฟฟ้า รวมถึงกรณีไฟไหม้ที่บริเวณสวิทช์หน้าต่างไฟฟ้า โดยกรณีหนึ่งเป็นรถในแอฟริกาใต้ซึ่งทำให้เด็กวัยเพียง 2 ขวบต้องเสียชีวิต และอีกสองกรณีเป็นรถในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรถทั้งสามคันล้วนผลิตจากโรงงานในเมืองซุซูกะของญี่ปุ่น
ในบรรดารถที่ฮอนด้าเรียกคืนกว่า 600,000 คันนั้น ประกอบด้วยรถจากสหรัฐ 140,000 คัน จากอังกฤษ 170,000 คัน จากแคนาดา 35,000 คัน จากอเมริกาใต้ 229,000 คัน และจากเอเชียอีก 39,000 คัน อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทไม่มีแผนเรียกคืนรถที่จำหน่ายในญี่ปุ่น เนื่องจากชิ้นส่วนประกอบสวิทช์หน้าต่างไฟฟ้าของรถที่จำหน่ายในญี่ปุ่นแตกต่างจากรถที่จำหน่ายในต่างประเทศ
สำหรับประเทศไทยนั้น นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานกรรมการบริษัทเอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ฮอนด้าไทยได้ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่าเป็นปัญหาจากสวิตช์ที่ประกอบกับประตู ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับฮอนด้าซิตี้ที่ผลิตในปี 2008 มียอดขายในประเทศไทย 2,700 คัน โดยในสัปดาห์หน้าจะแจ้งลูกค้านำรถยนต์ดังกล่าวมาแก้ไข ส่วนฮอนด้าแจ๊ซไม่มีปัญหาเพราะใช้ชิ้นส่วนผลิตคนละบริษัท และคาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลต่อยอดขายแต่อย่างใด
แม้โตโยต้ากับฮอนด้าจะเกิดวิกฤตด้านความเชื่อมั่นในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่แบรนด์โตโยต้าดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากกว่า ดูได้จากยอดเรียกคืนรถของโตโยต้าที่สูงถึงหลักหลายล้านคัน ขณะที่ของฮอนด้าอยู่ที่หลักแสนเท่านั้น จนทำให้กระแสข่าวการเรียกคืนรถของฮอนด้าถูกข่าวการเรียกคืนรถโตโยต้ากลบไปเกือบหมด ดังนั้นหากโตโยต้าไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาได้อย่างเต็มสูบแล้ว และหากโตโยต้ายังปล่อยให้เกิดปัญหาซ้ำซากขึ้นอีก ในระยะยาวยักษ์ใหญ่รายนี้อาจเสียตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์โลกก็เป็นได้