สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เปิดเผยว่า ธุรกิจสายการบินทั่วโลกกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเกินคาด โดยเฉพาะในเอเชียและลาตินอเมริกา
แนวโน้มอุตสาหกรรมที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วทำให้ทางสมาคมตัดสินใจปรับลดคาดการณ์ตัวเลขขาดทุนปี 2552 ลงเหลือ 9.4 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขาดทุน 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ตัวเลขขาดทุนของปี 2553 ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 2.8 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะขาดทุน 5.6 พันล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกันทางสมาคมคาดว่าจำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นประมาณ 2% สำหรับเที่ยวบินรับส่งผู้โดยสาร และเพิ่มขึ้น 3.1% สำหรับเที่ยวบินขนส่งสินค้า แม้ว่าจำนวนเครื่องบินจะล้นตลาดและงบประมาณการเดินทางขององค์กรต่างๆ จะลดลงก็ตาม หลังจากที่เที่ยวบินทั้งสองประเภทร่วงลงถึง 14% ในปี 2552
ด้านดีมานด์ของผู้โดยสารน่าจะขยายตัว 5.6% ขณะที่ดีมานด์การขนส่งสินค้าอาจทะยาน 12% นอกจากนั้น IATA ยังเชื่อว่าดีมานด์ที่แข็งแกร่งจากเอเชียและลาตินอเมริกาจะช่วยชดเชยดีมานด์ที่ซบเซาในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
IATA ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทสายการบิน 240 แห่งทั่วโลก คาดว่าสายการบินในยุโรปจะขาดทุน 2.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดในโลก ส่วนสายการบินในสหรัฐอาจขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์อันเนื่องมาจากอัตราว่างงานที่สูงขึ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ซบเซา
โจวานนี บิซิญานี หัวหน้าผู้บริหาร IATA กล่าวว่า อุตสาหกรรมการบินอาจต้องใช้เวลา 3 ปีในการฟื้นตัว และตอนนี้ก็มาถึงครึ่งทางแล้ว และเขาเชื่อว่าในปีนี้สายการบินทั่วโลกจะมีรายได้มากกว่าปีที่แล้วถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ยังน้อยกว่าระดับสูงสุดในปี 2551 อยู่ถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม เขาวิตกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 79 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งหมายความว่าสายการบินต่างๆมีต้นทุนน้ำมันสูงถึง 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเกินกว่า 1 ใน 4 ของต้นทุนการดำเนินงานทั้งหมด
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มีสายการบินกว่า 30 แห่งที่ล้มละลาย ขณะเดียวกันธุรกิจสายการบินก็ขาดทุนเกือบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และปัจจุบันมีหนี้สินกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์