In Focusภูเขาไฟไอซ์แลนด์เดือด ส่งผลน่านฟ้ายุโรปดับ สายการบินสะเทือน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 21, 2010 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไอซ์แลนด์ ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ (Lyoveldio Island) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกรีนแลนด์ ทางทิศตะวันตกของนอร์เวย์ และทางทิศเหนือของสกอตแลนด์ มีเมืองหลวงคือ เรคยาวิก (Reykjavik) ไอซ์แลนด์มีพื้นที่ประเทศ 103,000 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรเบาบางประมาณ 300,000 คน ภูมิอากาศของประเทศมีฤดูร้อนที่สั้นและฤดูหนาวที่ยาวนานแต่ไม่หนาวจัดเนื่องจากมีน้ำพุร้อนและมีกระแสน้ำอุ่นไหลผ่าน ไอซ์แลนด์จึงถือเป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ไอซ์แลนด์มีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่สวยงามมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำพุร้อน น้ำตก ธารน้ำแข็ง หรือแม้แต่ภูเขาไฟ โดยในวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล (Eyjafjallajokull) บริเวณชายฝั่งตอนใต้ของเกาะไอซ์แลนด์ เกิดการปะทุเป็นครั้งแรกในรอบ 187 ปี หรือนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2366 ภูเขาไฟดังกล่าวได้พ่นลาวาออกมาแต่ไม่รุนแรงมากนัก ทำให้กลายเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สวยงามแปลกตาดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2553 เมื่อภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล เกิดการปะทุครั้งที่ 2 แต่ทว่าการปะทุครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อนถึง 20 เท่า!

จากความงดงามของธรรมชาติกลายเป็นพิบัติภัย เมื่อการปะทุของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างเพราะน้ำแข็งละลายจนระดับน้ำในแม่น้ำโดยรอบเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 ฟุต เกิดน้ำไหล่บ่าลงสู่ที่ต่ำ ถนนบางส่วนถูกตัดขาด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องอพยพประชาชนกว่า 800 คนออกจากพื้นที่เสี่ยง

นอกจากนั้นภูเขาไฟยังพ่นเขม่าควันออกมาอย่างต่อเนื่องเป็นปริมาณมาก กลุ่มควันกระจายไปทั่วท้องฟ้าทางตอนเหนือและตอนกลางของยุโรป และลอยสูงขึ้นไปถึง 30,000 ฟุต ซึ่งถือเป็นภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อการจราจรทางอากาศ เนื่องจากควันที่หนาทึบทำให้ทัศนวิสัยในการบินย่ำแย่ นอกจากนั้นเขม่าควันและเถ้าถ่านอาจเข้าไปในเครื่องยนต์ของเครื่องบิน และอาจทำให้เครื่องยนต์ดับ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการปิดน่านฟ้าครั้งใหญ่ในยุโรป โดยมีการยกเลิกเที่ยวบินในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร ออสเตรีย เบลเยียม บัลแกเรีย เดนมาร์ก เอสโตเนีย สาธารณรัฐเช็ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ฮังการี ลัตเวีย เนเธอรแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน ฯลฯ โดยเฉพาะศูนย์กลางการบินหลักของยุโรปอย่างอังกฤษและเยอรมนีก็ต้องต้องยุติการให้บริการทั้งหมด อย่างสายการบินแห่งชาติลุฟท์ฮันซ่าของเยอรมนีต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสายการบินแห่งนี้ที่ยกเลิกเที่ยวบินทุกแห่งทั่วโลก

แม้การยกเลิกเที่ยวบินส่วนใหญ่เกิดขึ้นในยุโรป แต่เที่ยวบินจากทวีปอื่นๆก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเที่ยวบินของสายการบินสหรัฐไปและกลับจากยุโรปต้องถูกยกเลิกเป็นจำนวนมาก ขณะที่สายการบินในแถบเอเชียแปซิฟิก อาทิ แควนตัส ของออสเตรเลีย, สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ของสิงคโปร์, เอเชียนา แอร์ไลน์ส ของเกาหลีใต้ รวมถึง แอร์ ไชน่า และไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ส ของจีน ต่างต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินไปยังยุโรปเกือบทั้งหมดเช่นกัน ทำให้มีผู้โดยสารจำนวนมากตกค้างอยู่ตามสนามบินสำคัญของเอเชียอย่างสนามบินนานาชาติสิงคโปร์ ฮ่องกง และกรุงเทพฯ

องค์กรการบินพลเรือนสากลของสหรัฐชี้ว่าวิกฤตการบินครั้งนี้มีความร้ายแรงกว่าวิกฤตการบินช่วงเกิดเหตุวินาศกรรมสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 เนื่องจากช่วงนั้นการบินหยุดชะงักเพียงแค่ 3 วัน ขณะที่การปะทุของภูเขาไฟลูกนี้ทำให้การบินอยู่ในภาวะไม่ปกติมานานร่วมสัปดาห์แล้ว และสร้างผลกระทบรุนแรงถึงขั้นทำให้สายการบินต่างๆ ต้องยกเลิกเที่ยวบินเกินครึ่งแสนเที่ยว และทำให้มีผู้โดยสารตกค้างหลายล้านคนทั่วโลก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินระบุว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การเดินทางของยุโรป และอาจรวมถึงในประวัติศาสตร์โลกด้วย

การจราจรทางอากาศที่หยุดชะงักลงทำให้ผู้คนหันไปเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ โดยยูโรสตาร์ รถไฟที่วิ่งลอดช่องแคบอังกฤษ มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 คน ขณะที่เรือเฟอร์รี่ข้ามช่อบแคบอังกฤษก็มียอดจองตั๋วจนล้นเช่นกัน นอกจากนั้นผู้โดยสารบางส่วนยังเลือกใช้บริการแท็กซี่ให้เดินทางไปส่งยังเมืองที่ห่างไกลออกไปด้วย

นอกจากจะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนทั่วไปหลายล้านคนแล้ว วิกฤตครั้งนี้ส่งผลต่อผู้คนในหลากหลายวงการ อย่างผู้นำโลกหลายคนซึ่งรวมถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐ, นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี, นายกรัฐมนตรีสตีเฟน ฮาร์เปอร์ แห่งแคนาดา, นายกรัฐมนตรีโฮเซ หลุยส์ โรดริเกซ ซาปาเทโร แห่งสเปน, ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส และสมเด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งอังกฤษ ก็ไม่สามารถเดินทางไปร่วมพิธีศพของประธานาธิบดี เลค คาซีนสกี แห่งโปแลนด์ และภริยา ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกได้ ขณะที่ผู้นำหลายชาติในละแวกใกล้เคียงกับโปแลนด์ต้องเดินทางไปร่วมพิธีด้วยรถยนต์หรือรถไฟแทน

ด้านวงการกีฬาก็หนีไม่พ้นปัญหาครั้งนี้ โดยกลุ่มหมอกควันจากการปะทุของภูเขาไฟในประเทศไอซ์แลนด์อาจส่งผลกระทบต่อโปรแกรมการแข่งศึกฟอร์มูลาวันชิงแชมป์โลกสนามต่อไป เนื่องจากหลายทีมกำลังประสบปัญหาในการเดินทางจากศึกไชนีส กรังด์ปรีซ์ ที่ประเทศจีน กลับไปยังยุโรปเพื่อเตรียมตัวแข่งสนามหน้าที่ประเทศสเปนในวันที่ 9 พฤษภาคม ขณะเดียวกันทีมฟุตบอลชื่อดังอย่าง บาร์เซโลน่า จ่าฝูงลาลีกา สเปน ก็ต้องใช้เวลาร่วม 2 วัน เดินทางด้วยรถโค้ชแทนการนั่งเครื่องบิน เพื่อไปแข่งฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก รอบรองชนะเลิศ นัดแรกที่ไปเยือน อินเตอร์ มิลาน โดยต้องไปนอนพักที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส 1 คืน ก่อนเข้าเมืองมิลานประเทศอิตาลี เบ็ดเสร็จแล้วต้องเดินทางไกลถึง 985 กิโลเมตรเพื่อลงแข่งนัดเดียว นอกจากนั้นยังมีการเลื่อนโปรแกรมการแข่งขันกีฬาหลายประเภทในหลายประเทศด้วย

นอกจากนี้พิบัติภัยดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อค่ายรถญี่ปุ่นอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อ นิสสัน มอเตอร์ ต้องระงับการผลิตรถยนต์ที่โรงงานสองแห่งในญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว หลังจากที่ทางโรงงานไม่สามารถนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ได้ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางอากาศหยุดชะงัก

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association - IATA) คาดว่า ปัญหาเถ้าถ่านและหมอกควันที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจการบินถึงวันละ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.6 พันล้านบาท) นอกจากนั้นยังส่งผลให้หุ้นของบริษัทสายการบินต่างๆ ถูกเทขายอย่างหนักด้วย

ด้านนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าการปะทุของภูเขาไฟลูกนี้จะทวีความรุนแรงขึ้นหรือบรรเทาเบาบางลง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าความรุนแรงของการปะทุไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาใหญ่เกิดจากกระแสลมที่พัดเถ้าถ่านจนแผ่ขยายออกไปในวงกว้าง

นักวิทยาศาสตร์อีกส่วนกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีหมอกควันแผ่กระจายไปทั่วบริเวณเมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิด และเมื่อหมอกควันมีความหนาแน่นที่สุดมันก็จะค่อยๆ จางหายไปเอง แต่หากภูเขาไฟยังปะทุไม่หยุด หมอกควันกลุ่มใหม่ก็จะรวมตัวกับกลุ่มเดิมที่ยังไม่สลายไป จากนั้นก็จะปกคลุมน่านฟ้าขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ

วันเสาร์ที่ 17 เมษายน ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล เกิดการปะทุเล็กๆ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งไอซ์แลนด์เปิดเผยว่า ชาวไอซ์แลนด์ส่วนมากเริ่มกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติแล้ว พร้อมยืนยันว่านักท่องเที่ยวที่อยู่ในไอซ์แลนด์ปลอดภัยดี และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาทางส่งนักท่องเที่ยวให้ถึงจุดหมายปลายทางโดยเร็วที่สุด ในวันเดียวกันนั้นเอง สายการบินเคแอลเอ็ม รอยัล ดัทช์ แอร์ไลน์ส, แอร์ฟรานซ์, ลุฟท์ฮันซ่า และออสเตรียน แอร์ไลน์ส ได้นำเครื่องบินขึ้นบินทดสอบโดยไร้ผู้โดยสาร และไม่พบความเสียหายหรืออันตรายใดๆ จากเถ้าถ่านภูเขาไฟ

วันจันทร์ที่ 19 เมษายน สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มาตรการระงับการให้บริการด้านการบินของรัฐบาลประเทศต่างๆในยุโรปว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม และส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินพลเรือนได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยนายจิโอวานนี บิซีญานี ผู้อำนวยการและซีอีโอของ IATA ประเมินว่าความเสียหายของสายการบินทั่วโลกในขณะนี้อาจสูงถึงวันละ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าที่เดิมที่เคยประเมินไว้ที่วันละ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แรงกดดันจากสายการบินต่างๆ ทำให้ประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) บรรลุข้อตกลงระหว่างกันที่จะลดพื้นที่ห้ามบินลง โดยที่ประชุมรัฐมนตรีคมนาคมอียูมีมติให้เปิดน่านฟ้าเพื่อให้บริการด้านการบินบางส่วน โดยมีการแบ่งน่านฟ้ายุโรปออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ "no-fly zone" หรือเขตห้ามบิน เนื่องจากเขม่าควันของภูเขาไฟมีความหนาทึบจนไม่สามารถขึ้นบินได้ ส่วนที่สองคือ "caution zone" หรือเขตระมัดระวัง เนื่องจากความหนาของเขม่าควันยังคงอยู่ในระดับอันตราย ดังนั้นเครื่องบินที่จะบินผ่านต้องตรวจสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์ให้พร้อม และส่วนที่สามคือ "open-skies zone" หรือเขตน่านฟ้าเปิดที่อนุญาตให้เครื่องบินผ่านได้ตามปกติ การประกาศดังกล่าวส่งผลให้การจราจรทางอากาศในยุโรปเริ่มเปิดให้บริการประมาณ 30% จากตารางบินปกติเฉลี่ยวันละ 24,000 เที่ยว โดยหลายประเทศในยุโรป อาทิ สเปน สวีเดน อิตาลี เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ได้ทยอยเปิดน่านฟ้าบางส่วนแล้ว

ถึงกระนั้นหลายฝ่ายก็ยังแสดงความกังวลว่าการเปิดน่านฟ้าในตอนนี้อาจเร็วเกินไป เพราะแม้ว่าระดับเถ้าถ่านที่พวยพุ่งสู่อากาศจะลดลงเหลือ 4-5 กิโลเมตร แต่การปะทุของภูเขาไฟยังรุนแรงต่อเนื่อง นอกจากนั้นกระแสลมยังมีความแปรปรวน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพสหรัฐได้เตือนไปยังนาโต้ว่า ในอดีตเคยเกิดผลึกแก้วในเครื่องยนต์ของเครื่องบินเอฟ-16 ที่บินผ่านเถ้าภูเขาไฟมาแล้ว

จนถึงตอนนี้วิกฤตการบินในยุโรปซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายความรุนแรงลงไปตามลำดับแต่ยังไม่กลับเข้าสู่สภาพปกติเสียทีเดียว เราก็ได้แต่หวังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะช่วยสร้างมาตรฐานใหม่ในการแก้ปัญหาด้านการบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อไปในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ