In Focusธุรกิจไอทียึดพื้นที่ยามเศรษฐกิจฟื้น ปลุกชีพจรโลกรับฤดูเก็บเกี่ยวผลกำไร

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 28, 2010 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ชีพจรธุรกิจทั่วโลกในเดือนมกราคม-เดือนมีนาคมที่ผ่านมาดูเหมือนว่า จะผ่านพ้นขั้นโคม่าไปได้แล้ว หลังจากที่หนึ่งในองคาพยพของระบบเศรษฐกิจที่เคยอ่อนล้า เริ่มมีกำลังวังชามากขึ้น และเมื่อกลิ่นอายจากฤดูมรสุมทางเศรษฐกิจของปีที่ผ่านมาเริ่มจางหายไป ฤดูกาลใหม่จึงกลายเป็นฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวผลกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมไอที

ทุกวันนี้ ผู้คนทั่วโลกต่างเสิร์ชหาข้อมูลจากกูเกิล พกไอพอดของแอปเปิลไว้ดูหนังฟังเพลง ครื้นเครงกับการเม้าท์ผ่านโทรศัพท์มือถือโนเกีย เคลียร์งานบนเครื่องพีซีที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows ของไมโครซอฟท์ และตอบอีเมลในยาฮูอยู่เป็นประจำ

กิจวัตรประจำวันข้างต้นของคนทำงานทั่วโลกอาจเป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า เทคโนโลยีที่บรรดาบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ระดับโลกเปิดตัวขึ้นมา สามารถแทรกซึมอยู่ในทุกช่วงเวลาของการใช้ชีวิตของผู้คนได้อย่างแนบเนียน หลายคนอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใด กลุ่มบริษัทไอทีจึงพากันยึดพื้นที่เก็บเกี่ยวผลกำไรที่เบ่งบาน วันนี้เราขอเชิญทุกท่านมาร่วมเปิดบัญชีผลประกอบการ เพื่อเจาะลึกถึงเหตุผลที่ทำให้บริษัทเหล่านี้มีผลกำไรที่สามารถขยายตัวได้ในปัจจุบัน

*กูเกิล

กำไร: 1.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยหนุน: ยอดการคลิกใช้บริการโฆษณาแบบเสียค่าบริการบนเว็บกูเกิลและเว็บไซต์ในเครือเพิ่มขึ้น 15%

เริ่มกันที่ กูเกิล (Google) เสิร์ชเอนจิ้นเบอร์หนึ่งของโลก ที่ยังคงครองใจนักท่องไซเบอร์จากยุคดอทคอมฟีเวอร์ในปี 2000 มาจนถึงปัจจุบัน โดยในเดือนนี้บริษัทรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกที่พุ่งขึ้นถึง 37% แตะ 1.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับรายได้ที่ขยายตัว 23% สู่ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในยุคที่โลกหมุนเวียนเปลี่ยนผันด้วยข้อมูลข่าวสารจากหลากหลายแขนง หลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่า กูเกิล เป็นหนึ่งในเครื่องมือทำมาหากินของผู้คนทั่วโลกในทุกเพศทุกวัย ไล่ตั้งแต่เด็กอนุบาลเป็นต้นไป จนกระทั่งถึงผู้ใหญ่วัยเกษียณอายุ และจนถึงขณะนี้ กูเกิล ยังคงนั่งแท่นเสิร์ชเอนจิ้นชั้นนำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก

ล่าสุด เว็บไซต์เน็ตมาร์เก็ตแชร์ (www.netmarketshare.com) รายงานส่วนแบ่งทางการตลาดของเสิร์ชเอนจิ้นทั่วโลก ซึ่งปรากฎว่า กูเกิล ยังคงครองบัลลังก์อันดับหนึ่งไปได้อย่างไร้ข้อกังขา ด้วยการคว้าส่วนแบ่งทางการตลาด 86% ทิ้งห่างจากเสิร์ชเอนจิ้นอันดับสองอย่างยาฮู ที่ดูจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่เพียง 6.1%

แพททริก พิแชท (Patrick Pichette) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของกูเกิลระบุในแถลงการณ์ผลประกอบการไตรมาสแรกว่า รายได้และผลกำไรที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากยอดการคลิกแอดโฆษณาที่เพิ่มขึ้นในทุกตลาดหลัก พร้อมกันนี้ยังได้เน้นย้ำถึงอนาคตว่าบริษัทจะยังมุ่งลงทุนด้านนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นการเติบโตในธุรกิจหลักและธุรกิจใหม่ต่อไปอีก

*ยาฮู

กำไร: 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยหนุน: แผนรัดเข็มขัดเป็นไปตามเป้า + ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ขยายตัว 20%

ยาฮู (Yahoo) บริษัทผู้ให้บริการฟรีอีเมล์รายใหญ่ของสหรัฐ เจ้าเว็บไซต์ที่มีภาพลักษณ์อารมณ์ดี ขี้เล่น และเป็นกันเอง ประกาศผลกำไรไตรมาสแรกของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าจากปีก่อนแตะที่ 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่รายรับขยับขึ้น 1% สู่ระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากตัวเลขผลกำไรข้างต้นส่งผลให้ในเดือนมกราคม-มีนาคมของปีนี้เป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของยาฮู นับตั้งแต่เปลี่ยนซีอีโอคนใหม่เป็นแครอล บาร์ตซ์ (Carol Bartz) บอสหญิงสุดแกร่งผู้มีสปิริตแรงกล้าโดยเธอประกาศจะนำพาแสนยานุภาพของยาฮูให้เป็นที่ประจักษ์บนสังเวียนธุรกิจอินเทอร์เน็ตในระหว่างการเปิดจุกแชมเปญฉลองวันเกิดครอบรอบ 15 ปีของยาฮูเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทั้งๆที่เธอเพิ่งครบรอบการทำงานกับองค์กรนี้ได้เพียง 14 เดือน

ทิม มอร์ส (Tim Morse) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของยาฮูระบุว่า ธุรกิจโฆษณาออนไลน์หรือการขึ้นป้ายแบนเนอร์บนเว็บไซต์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของยาฮูมีสัดส่วนเติบโตขึ้นถึง 20% จากปีก่อน ซึ่งตัวเลขนี้ตีความได้ว่า บรรดานักโฆษณาทุนสูงกำลังกลับมา และทิศทางการเติบโตในธุรกิจนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอยครั้งรุนแรงในรอบกว่าหลายสิบปี

ขณะเดียวกัน นอกจากธุรกิจโฆษณาออนไลน์แล้ว ยาฮูยังมีรายได้จากธุรกิจให้บริการอีเมล และส่วนหนึ่งมาจากยอดการชำระเงินคืนมูลค่า 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อันเกิดจากการร่วมทำสัญญาด้านการสืบค้นข้อมูลทางเว็บไซต์กับไมโครซอฟท์

เหนือสิ่งอื่นใด ต้องยกความดีความชอบให้กับนโยบายรัดเข็มขัดที่ทรงประสิทธิภาพของยาฮู ที่ช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานประจำไตรมาสล่าสุดลงได้ 10% ซึ่งรวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กรในยุคของแครอล บาร์ตซ์ ที่ประกาศลอยแพพนักงานราว 800 คน ก่อนจะกลับมาว่าจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอีก 700 คนตลอด 3 เดือนสุดท้ายของปีที่ผ่านมา

*แอปเปิล

กำไร : 3.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยหนุน: ยอดขายไอโฟนพุ่งกระฉูดเฉียด 9 ล้านเครื่อง

แอปเปิล (Apple) บริษัทเจ้าของโลโก้ "ลูกแอปเปิลมีรอยกัด" ที่แฝงไว้ด้วยนัยอันแยบยล คมคาย แต่สื่อความหมายได้โดนใจยังคงมีกำไรสดใสสมฐานะ "บริษัทที่น่าชื่นชมที่สุดในโลกประจำปี 2010" ของนิตยสารฟอร์จูน โดยในไตรมาสที่ผ่านมา แอปเปิลทำกำไรได้สูงลิบถึง 90% แตะที่ 3.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางผลประกอบการที่พุ่งขึ้น 49% แตะระดับ 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทุกคนคงเห็นตรงกันว่า ไม่มีอะไรจะกระตุ้นผลกำไรของแอปเปิลให้สดใสได้มากไปกว่ายอดขาย "ไอโฟน" ที่พุ่งขึ้นเฉียด 9 ล้านเครื่องในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ พร้อมทำสถิติเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงกว่าสองเท่า และยังทำให้แอปเปิลสามารถทำกำไรได้เหนือกว่าคำคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จากทุกสำนัก ขณะที่ยอดขายคอมพิวเตอร์แมคอินทอชเพิ่มขึ้นเกือบ 3 ล้านเครื่องคิดเป็นอัตราการเติบโต 33% ส่วนยอดขายไอพอด (iPod) แม้จะขยับลงไป 1% แต่ก็ยังอยู่ที่หลัก 10 ล้านเครื่อง

ปีเตอร์ ออพเพนไฮเมอร์ (Peter Oppenheimer) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของแอปเปิลกล่าวว่า แอปเปิลทำยอดขายไอโฟนได้มากกว่าไตรมาสก่อนๆ โดยเฉพาะยอดขายที่แข็งแกร่งจากกลุ่มผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่มีอยู่เดิม และการเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายไอโฟนในหลายประเทศ

ทั้งนี้ แม้ผลิตภัณฑ์ในอาณาจักรของสตีฟ จอบส์ ยังคงทำรายได้ให้กับแอปเปิลอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่แอปเปิลยังไม่หยุดยั้งในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆมาเอาใจขาช็อป โดยล่าสุดแอปเปิลคลอด "ไอแพด" (iPad) มาออกอาละวาดกวาดเงินจากบรรดาสาวก ที่สร้างปรากฏการณ์ตอบรับกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งด้วยสถิติยอดขาย 500,000 เครื่องในสัปดาห์แรกที่วางจำหน่ายในสหรัฐ เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ ไอแพด 3G มีกำหนดดีเดย์วางจำหน่ายวันศุกร์ที่ 30 เมษายนนี้แล้ว

*ไมโครซอฟท์

กำไร: 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปัจจัยหนุน: ยอดขายระบบปฏิบัติการ Windows 7 ทะยานแข็งแกร่ง

ไมโครซอฟท์ คอร์ป (Microsoft) เพื่อนรักคู่ทุกข์คู่ยากของผู้ใช้ระบบปฏิบัติการบนเครื่องพีซีเปิดเผยถึง กำไรสุทธิในไตรมาสแรกที่ขยายตัว 35% แตะ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ บนรายได้ที่ไต่ระดับขึ้น 6% แตะ 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

พระเอกของไมโครซอฟท์ครั้งนี้คงหนีไม่พ้น Windows 7 บุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ไมโครซอฟท์ทำกำไรได้อย่างมหาศาล เนื่องจากระบบปฏิบัติการใหม่ล่าสุดนี้ทำยอดขายได้แข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการเติบโตของธุรกิจ Windows เพิ่มขึ้นราว 28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และจนถึงตอนนี้ระบบปฏิบัติการดังกล่าวได้ถูกนำไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ 10% ของคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่วางจำหน่ายในท้องตลาด

กูรูตลาดไอทีมองว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ตลาด Windows เติบโตขึ้น คือ การอัพเกรดระบบปฏิบัติการขององค์กรและการซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ของผู้บริโภค ซึ่งประเด็นหลังนี้เองเป็นจุดที่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไมโครซอฟท์ได้รับอานิสงส์เต็มที่จากการเติบโตของตลาดพีซีทั่วโลก โดยบริษัทวิจัยไอดีซีระบุว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ ตลาดคอมพิวเตอร์พีซีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยกเว้นญี่ปุ่นมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2552 ซึ่งรายงานดังกล่าวสอดคล้องกับการ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยตลาดคอมพิวเตอร์ที่ชี้ว่าตลาดพีซีปีนี้จะฟื้นตัวขึ้น หลังจากเมื่อปีที่แล้วยอดขายลดลง 7% หนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001

นอกเหนือจากพระเอกคนปัจจุบันอย่าง Windows 7 แล้ว ไมโครซอฟท์ยังมีนักแสดงเด่นๆ อีกหลายราย เป็นต้นว่า เสิร์ชเอนจิ้นอย่าง Bing และผลิตภัณฑ์เพื่อนักเล่นเกมอย่าง Xbox Live ที่ล้วนเติบโตได้ดีมีแววรุ่งทั้งนั้น แต่ดูเหมือนว่าของดีที่ไมโครซอฟท์มีอยู่จะยังไม่พอ เพราะบริษัทจากเมืองเรดมอนด์ วอชิงตันแห่งนี้แย้มถึงทีเด็ดในการดันพระเอกหน้าใหม่เพื่อหวังให้แจ้งเกิดในวงการไอทีอีกหลายระลอก ประเดิมที่โปรแกรม MS Office 2010 ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายในเดือนมิถุนายนนี้ ขณะที่สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Windows Phone 7 จะเริ่มวางจำหน่ายได้ในช่วงปลายปี นอกจากนี้ อุปกรณ์เสริมสำหรับคอเกมที่มีชื่อโค้ดเนมว่า Project Natal ก็เตรียมออกมาเรียกเรทติ้งจากนักเล่นเกมด้วยเช่นกัน

*โนเกีย

กำไร: 349 ล้านยูโร

ปัจจัยหนุน: มูลค่ายอดขายสมาร์ทโฟนขยายตัว 3% แตะ 9.5 พันล้านยูโร

ปิดท้ายกันที่ โนเกีย (Nokia) ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่สุดของโลกจากฟินแลนด์ ที่แม้จะมาอย่างเงียบๆ แต่ก็เต็มเปี่ยมด้วยศักยภาพที่ประมาทกันไม่ได้ เพราะท่ามกลางสมรภูมิรบในตลาดสมาร์ทโฟนที่ร้อนผ่าว โนเกียยังคงเป็นจ้าวตลาดโทรศัพท์มือถืออันดับ 1 ของโลก ด้วยสถิติการทำกำไรไตรมาสแรกของปีนี้ที่ 349 ล้านยูโร

อย่างไรก็ตาม โอลลี-เปกกา คัลลาสวูโอ (Olli-Pekka Kallasvuo) ซีอีโอของโนเกียยอมรับว่า โนเกียจะยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากในกลุ่มผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะคู่แข่งตัวเอ้จากแอปเปิล ที่คลอดไอโฟนออกมาได้โดนใจคนรุ่นใหม่ ยังไม่นับรวมรีเสิร์ช อิน โมชัน หรือ อาร์ไอเอ็ม ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอร์รี่ หรือบีบี ที่กำลังฮิตติดลมบนอยู่ในขณะนี้

แต่ถึงกระนั้นในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ ยอดขายสมาร์ทโฟนของโนเกียยังคงเพิ่มขึ้น 3% แตะที่ 9.5 พันล้านยูโร ส่วนยอดขายมือถือโดยรวมขยายตัว 8% แตะระดับ 6.7 พันล้านยูโรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว

นอกจากนี้ บริษัทวิจัยคานาลิส ได้สำทับปรากฏการณ์ยอดขายที่ยังไปได้สวยของโนเกียว่า ระบบปฏิบัติการซิมเบียนที่โนเกียใช้อยู่ยังคงครอง 47% ของส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในช่วงปีที่ผ่านมา ตามด้วยแบล็คเบอร์รี่ในอัตรา 21% และไอโฟนของแอปเปิลที่ระดับ 15%

ทั้งนี้ คงเป็นเรื่องปฏิเสธไม่ได้ที่ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือของโนเกียจะถูกบดบังรัศมีไปบ้าง ท่ามกลางแรงกดดันจากค่ายโทรศัพท์มือถือน้องใหม่จากฝั่งอเมริกา ซึ่งมาพร้อมสินค้าที่เพียบพร้อมด้วยไอเดียสดใหม่ ภายใต้นวัตกรรมที่ล้ำหน้าโนเกียไปหลายขุม แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า 4 ใน 10 ของโทรศัพท์มือถือที่ขายได้ทั่วโลกยังคงเป็นโทรศัพท์มือถือที่พะยี่ห้อว่า "NOKIA" ค่ายโทรศัพท์มือถือชื่อดังจากประเทศฟินแลนด์

การรายงานผลประกอบการของบริษัทไอทีที่เกิดขึ้นในระยะนี้ เป็นเพียงภาคอุตสาหกรรมหนึ่งในระบบเศรษฐกิจที่มีผลกำไรสดใส เพราะนอกจากธุรกิจดังกล่าวแล้ว ภาคอุตสาหกรรมการเงินในสหรัฐก็รายงานผลประกอบการที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน อาทิเช่น โกลด์แมน แซคส์ที่ทำกำไรได้อย่างอู้ฟู่ แม้จะถูกก.ล.ต.สหรัฐตราหน้าในข้อหาฉ้อโกง ขณะที่นักวิเคราะห์ในฟากฝั่งอุตสาหกรรมยานยนต์เชื่อว่า ผลกำไรของโตโยต้า จะยังคงใส่เกียร์เดินหน้าฝ่าวิกฤตเรียกคืนรถจากทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

สุดท้ายนี้...แม้ผลผลิตทางนวัตกรรมที่งอกงามขึ้นจากการบ่มเพาะประสบการณ์ที่เคี่ยวกรำยาวนานของบริษัทไอทีทั่วโลก จะยังคงปูทางให้มีการเก็บเกี่ยวผลกำไรได้อย่างไม่ขาดสาย แต่สำหรับโลกที่เทคโนโลยีมาเร็วและแรงกว่าสิ่งอื่นใด บริษัทเหล่านี้ยังคงต้องเร่งฝีเท้าพัฒนาธุรกิจของตนต่อไป เพื่ออนาคตที่สดใสในฤดูกาลหน้า


แท็ก In Focus:   ไอที   มาดู  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ