บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ โค ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดอันดับ 2 ของญี่ปุ่นเตรียมขึ้นค่าแรงให้แก่พนักงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีน หลังจากที่บริษัทต้องปิดโรงงานประกอบรถยนต์ทั้ง 4 แห่งในประเทศดังกล่าวตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากกรณีที่พนักงานจากแผนกผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รวมตัวประท้วงเพื่อขอขึ้นค่าแรง
สำนักงานต่างประเทศรายงานอ้างแถลงการณ์ของฮอนด้าว่า พนักงานจะได้รับค่าแรงเพิ่มขึ้น 24% เป็น 1,910 หยวน (280 ดอลลาร์) ต่อเดือน ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่การเจรจาในส่วนที่เหลือยังคงดำเนินต่อไป
ขณะเดียวกัน ฮอนด้าคาดว่าโรงงานผลิตชิ้นส่วนทั้ง 4 แห่งในจีนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยการผลิตบางส่วนที่โรงงานดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวานนี้
ทั้งนี้ ฮอนด้าได้สั่งระงับการผลิตที่โรงงาน 2 แห่งในมณฑลกวางตุ้งเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงโรงงานที่เมืองกว่างโจว และวู่ฮั่น ในมณฑลเหอเป่ยเมื่อวันที่ 26 พ.ค. หลังจากที่ พนักงานจำนวน 1,850 คนของบริษัทฮอนด้า ออโต้ พาร์ท เมนูแฟคเจอริ่ง โค ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ในมณฑลกวางตุ้งได้พากันผละงานประท้วงตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. เพื่อขอเพิ่มค่าแรงขึ้นเป็น 2,000-2,500 หยวน
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่พนักงานจากโรงงานผลิตรถยนต์ของฮอนด้าในประเทศจีนผละงานประท้วง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อยอดการผลิตรถยนต์ของฮอนด้าสูงถึง 3,000 คันต่อวัน
เจ.ดี. พาวเวอร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา จีนมียอดขายรถยนต์ของฮอนด้าราว 17% ของยอดขายทั่วโลก และมียอดขายสูงสุดเป็นอันดับ 5 ในจีนเมื่อเดือนเม.ย. โดยในปีนี้ ฮอนด้าอาจเพิ่มยอดขายในจีนขึ้น 9% เป็น 630,000 คัน
นอกจากนี้ ฮอนด้ามีแผนเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในจีนขึ้นอีก 28% แตะที่ 830,000 คันต่อปีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ พร้อมเตรียมเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ 2 รุ่นเพื่อรองรับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศจีน โดยข้อมูลอย่างเป็นทางการของศูนย์ข้อมูลแห่งรัฐระบุว่า ในปีนี้ยอดขายยานยนต์ของจีนอาจทะยานขึ้น 17% แตะที่ 16 ล้านคัน ขณะที่อุปสงค์ยานยนต์ต่อปีมีแนวโน้มพุ่งทะลุ 30 ล้านคัน
ด้านนักวิเคราะห์จากญี่ปุ่นมองว่า การประท้วงของพนักงานครั้งนี้เป็นสัญญาณที่ทำให้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์เล็งเห็นถึงต้นทุนแรงงานที่พุ่งสูงขึ้นในจีน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ในภาคอุตสาหกรรมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศกล่าวว่า สหภาพการค้าและนายจ้างมีรายงานการผละงานประท้วงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศจีน