In Focus"แลร์รี่ คิง" สิ้นมนต์ขลัง ปิดตำนานปรมาจารย์แห่งวงการทอล์คโชว์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 7, 2010 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาพชายวัย 76 ปีใส่แว่นตากรอบหนาและสวมเสื้อเชิ้ตยาวแขนพับคาดสายเอี๊ยม นั่งจ้อกับคนดังผ่านจอทีวีในรายการ "Larry King Live" ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นจะกลายเป็นภาพแห่งตำนานในไม่ช้า เมื่อแลร์รี่ คิง พิธีกรระดับปรมาจารย์ประกาศผ่านบล็อกของรายการว่า จะขอปลดระวางตัวเองในฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ เพื่อใช้เวลาที่มีอยู่กับสมาชิกในครอบครัว

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์คู่ขนานที่เกิดขึ้นในมุมตรงข้ามของวงการทอล์คโชว์ ยังเป็นเครื่องตอกย้ำถึงสถานะความเป็นตำนานของแลร์รี่ คิง ผู้เปรียบเสมือน "คลื่นลูกเก่า" ที่ถูกเก็บเข้ากรุ เมื่อนิตยสารฟอร์บส์ระบุว่า โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรสาวผิวสี คือผู้ทรงอิทธิพลอันดับหนึ่งของโลกจากการจัดอันดับ "100 คนดังผู้ทรงอิทธิพล" ประจำปีนี้ เท่ากับเป็นการบดขยี้รัศมีของแลร์รี่ คิง ให้กลายเป็นอดีตพิธีกรลายครามที่คงเอกลักษณ์การแต่งตัวด้วยการสวมเสื้อเชิ้ตยาวแขนพับ แมตช์กับเนคไท ใส่แว่น และคาดสายเอี๊ยม มาจวบจนปัจจุบัน

*จากดินสู่ดาว

แลร์รี่ คิง หรือ ลอว์เรนซ์ ฮาร์วีย์ ไซเกอร์ (Lawrence Harvey Zeiger) ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 และเริ่มสั่งสมประสบการณ์ความเก๋าในสังเวียนสื่อมวลชนตั้งแต่สมัยวัยรุ่นเมื่ออายุได้ 22 ปี จากบทบาทหน้าที่ของ "Mail Man" มาสู่ "Voice Man" แรกทีเดียวคิงเริ่มทำงานในที่ทำการไปรษณีย์ของสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งต่อมาได้ผันตัวเองมาจับงานดีเจประจำสถานีวิทยุและโทรทัศน์ท้องถิ่นในไมอามีในปีพ.ศ.2500 และด้วยน้ำเสียงและหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ของแลร์รี่ คิง ทำให้เขากลายเป็นที่ติดตามของชาวไมอามีภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

แลร์รี่ คิง สะสมชั่วโมงบินจากการทำงานเป็นดีเจวิทยุในช่วงครึ่งวันเช้า และเปลี่ยนไปทำหน้าที่รายงานข่าวทางสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในช่วงบ่าย ก่อนที่จะดีกรีความเก๋าจะปรากฎขึ้นเมื่อเขาเริ่มเปิดซิงสัมภาษณ์คนในท้องถิ่น และผู้ถูกสัมภาษณ์คนแรกที่ปูทางให้คิงก้าวขึ้นเป็นนักสัมภาษณ์ระดับพระกาฬในเวลาต่อมา คือ พนักงานเสิร์ฟอาหารในไมอามีนั่นเอง

สามปีให้หลัง แลร์รี่ คิง ขึ้นรั้งตำแหน่งพิธีกรรายการทีวีรายการแรกที่มีชื่อว่า "Miami Undercover" ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้บุกเบิกการจัดรายการที่ให้แขกรับเชิญร่วมพูดคุยข่าวฮ็อตประเด็นร้อนในแต่ละวัน จนกระทั่งเริ่มต้นรายการวิทยุที่ทำให้ผู้ฟังรู้จักคำว่า "หน้าไมค์" ภายใต้รูปแบบการโทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นในรายการที่ออกอากาศทุกวัน ตั้งแต่ช่วงสองยามไปจนถึงรุ่งสางของวันใหม่

ในที่สุด ความเป็นดาวจรัสแสงของแลร์รี่ คิงก็ได้เวลาทอประกาย เมื่อรายการ "Larry King Live" ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ถือกำเนิดขึ้นในปีพ.ศ. 2528 จวบจนวันนี้แลร์รี่ คิง รับหน้าที่พิธีกรสัมภาษณ์คนดังจากทุกวงการมานานถึง 25 ปี ด้วยเหตุนี้ วาทะของคิงที่ว่า "You have to start from the bottom, if you wanna be on top" จึงเป็นสิ่งสะท้อนถึงตัวตนและประสบการณ์ความเก๋าของเขาได้อย่างชัดเจน

*ที่สุดแห่ง Larry King Live

นับตั้งแต่รายการ Larry King Live แจ้งเกิดได้อย่างสง่างามบนหน้าจอโทรทัศน์ มาวันนี้ชื่อของ Larry King Live ได้รับการบันทึกลงในกินเนส บุ๊ค ออฟ เวิลด์ เรคคอร์ด ให้เป็นรายการสนทนารายการเดียวในโลก ที่มีการเผยแพร่ออกอากาศนานที่สุด และมีผู้ดำเนินรายการเพียงคนเดียวมาตลอด ซึ่งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา คิงสัมภาษณ์คนดังไปแล้วกว่า 40,000 คน

แขกรับเชิญคนแรกของรายการ Larry King Live คือนายมาริโอ โกวโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในปีพ.ศ. 2528 ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐทุกคนล้วนตบเท้าเข้าร่วมรายการนี้มาแล้วทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่เซเลเบรตี้คนดังทุกวงการจากทั่วทุกมุมโลก ตลอดจนนักกีฬา หรือบุคคลธรรมดาก็ล้วนมาเคยประจำการที่โต๊ะสนทนากลางรายการตัวเดียวกัน

ประธานของซีเอ็นเอ็นในอเมริกาหยอดคำหวานถึงการทำงานของแลร์รี่ คิง ว่า เขาคือนิยามของศิลปะแห่งการสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ อีกทั้งยังเป็นแบบฉบับของความตรงไปตรงมา ที่มีลักษณะของความเป็นคนช่างสงสัย และมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ที่สำคัญ คิงมีความสามารถในการสัมภาษณ์บุคคลทุกประเภทตั้งแต่กษัตริย์ ผู้นำของโลก นักแสดง และคนธรรมดา ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า เขาคือสัญลักษณ์แห่งวงการทอล์คโชว์อย่างแท้จริง และคงไม่มากเกินไปหากจะกล่าวว่า แลร์รี่ คิง เป็น Hall of Fame ที่ยังมีลมหายใจและยังมีไฟอยู่เหลือล้น

สำหรับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของรายการ Larry King Live ในเรื่องที่สุดแห่งความซ่าดูท่าจะเป็นตอนแขกรับเชิญสาวเลดี้ กาก้า ที่หลายคนกังขาว่า ปู่แลร์รี่ คิง คงไม่สามารถสื่อสารกับนักร้องสาวรุ่นราวคราวลูกได้แน่ แต่บิล มาเฮอร์ ดาราตลกผู้ร่วมรายการในวันถัดมาออกโรงแซวว่า "คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แลร์รี่ คิง จะไม่เข้าใจเลดี้ กาก้า เพราะผมเองก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีใครเข้าใจสาวซ่าอย่างเลดี้ กาก้าบ้าง"

ส่วนที่สุดแห่งความหลอน คือ ตอนออนแอร์เทปบันทึกบรรยากาศภายในเนเวอร์แลนด์ที่มีชื่อตอน "อินไซต์ เนเวอร์แลนด์" ซึ่งออกอากาศหลังจากที่ไมเคิล แจ๊คสัน ล่วงลับไปได้เพียง 1 สัปดาห์ โดยในเทปนั้นมีผู้ชมเห็นเงาของราชาเพลงป๊อปปรากฏตัวอยู่ตรงผนังห้องนอนที่ถูกปิดตาย นับตั้งแต่ราชาเพลงป๊อปย้ายออกจากคฤหาสน์หลังดังกล่าว

*สูงสุดคืนสู่สามัญ

เสน่ห์ความแก่แต่เก๋าที่เริ่มเสื่อมคลายของแลร์รี่ คิง ปรากฏให้เห็นจากหลักฐานในรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สเมื่อไม่นานมานี้ที่ระบุว่า รายการ Larry King Live มีผู้ชมเฉลี่ยแต่ละคืนลดลงถึงครึ่งหนึ่งจากช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีพ.ศ. 2551

ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ เรตติ้งของรายการหล่นลงมารั้งอันดับ 3 ตามหลังรายการของช่อง Fox News และ MSNBC หนำซ้ำพิธีกรรุ่นลายครามก็ไม่พ้นโดนเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสไตล์การสัมภาษณ์แบบจืดชืดและไร้สีสัน ขณะที่บรรดานักวิจารณ์ตำหนิว่า ลักษณะการโยนคำถามที่ไหลตามน้ำของแลร์รี่ คิง เปรียบเสมือนเด็กโข่งที่ไม่ยอมทำการบ้านมาโรงเรียน

ฟากแลร์รี่ คิง ออกโรงชี้แจงทันควันถึงหลักในการสัมภาษณ์ว่า เขาพยายามตั้งคำถามให้สั้นเข้าไว้ และไม่ต้องการโยนคำถามที่มีวาระแอบแฝงให้แขกรับเชิญต้องอึดอัดใจ ส่วนเรื่องการเบ่งอีโก้ของตนเพื่อโจมตีแขกรับเชิญในรายการก็ไม่ใช่วิสัยของพิธีกรระดับปรมาจารย์อย่างแลร์รี่ คิง ซึ่งบางเหตุผลอาจจะเป็นจริงอย่างที่กล่าวมา เพราะมีนักวิจารณ์บางส่วนเห็นด้วยว่า แม้บรรยากาศการจัดรายการสไตล์นี้จะไม่เร้าใจคนดู แต่ถูกใจผู้มาเยือน

อีกประเด็นสำคัญที่หลายคนจับตาเมื่อถึงเวลา "เก่าไปใหม่มา" นั่นคือ การเลือกพิธีกรที่มารับช่วงต่อจากแลร์รี่ คิง ซึ่งเจ้าตัวเสนอชื่อไรอัน ซีเครสต์ พิธีกรแห่ง American Idol ขณะที่ซีเอ็นเอ็นมีแผนดึงอีเลียต สปิตเซอร์ อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กของพรรคเดโมแครต ที่ตกเก้าอี้เพราะนางทางโทรศัพท์ มาร่วมจัดรายการข่าวการเมืองสังคม กับคอลัมนิสต์อนุรักษนิยมแคธลีน ปาร์กเกอร์ ขณะที่แคที คูริก จากสถานี CBS และเพียร์ส มอร์แกน กรรมการรายการเรียลลิตี้ America's Got Talent ก็มีลุ้นว่าอาจได้รับการทาบทามให้เป็นผู้ดำเนินรายการในยุคที่ความนิยมในตัวเฒ่าทระนงเสื่อมลงตามกาลเวลา

*ปู่ (ซู่) ซ่า บ้าพลัง

นอกเหนือจากเรื่องราวการเป็นบุคคลระดับตำนานแห่งวงการทอล์คโชว์แล้ว ตำนานรักของคุณปู่ลายครามนามแลร์รี่ คิง ก็เป็นที่สนใจของบรรดาแมงเม้าท์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยก่อนหน้าที่คิงจะประกาศแขวนสายเอี๊ยมที่เปรียบเสมือนเครื่องหมายการค้าของเขาในรายการนี้ เขาเคยมีข่าวฟ้องหย่ากับภรรยาคนปัจจุบัน ซึ่งรุนแรงถึงขั้นที่ว่าภรรยาจะฆ่าตัวตายมาแล้ว

ชีวิตรักของแมวเก้าชีวิตอย่างแลร์รี่ คิง เริ่มต้นผลิบานในวัย 19 ปี เมื่อคิงได้แต่งงานกับฟรีด้า มิลเลอร์ (Freda Miller) เจ้าสาวคนแรกของเขาในปีพ.ศ.2495 จนกระทั่งคิงได้หยุดชีวิตไว้ที่ฌอน เซาท์วิค ภรรยาคนที่ 7 วัย 50 ปี ที่ปัจจุบันอยู่กินกันมาได้ 13 ปีเต็ม

ย้อนหลังกลับไปก่อนที่จะมีข่าวหย่าร้างกับภรรยาคนปัจจุบันนั้น ขาเม้าท์ทั่วสหรัฐต่างลือกันแซ่ดว่า แลร์รี่ คิง แอบนอกใจเซาท์วิค และหันไปกิ๊กกับแชนนอน น้องสาวของภรรยาตัวเอง ซึ่งคิงสวมมาดป๋าใหญ่ใจป้ำหาของขวัญมาบำเรอความสุขแชนนอนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของที่เป็นเครื่องบ่งบอกความอู้ฟู่ หรือจะพาไปนอนดูดาวที่โรงแรมหรูในเบเวอร์ลี่ ฮิลล์ส แต่ขณะเดียวกันหลายคนมองว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของแลร์รี่ คิง สามารถแก้เผ็ดภรรยาตัวเองได้เจ็บแสบใช่เล่น เพราะก่อนหน้านี้มีคนเคยเห็นเซาท์วิคแอบนอกใจคิง และหันไปปิ๊งโค้ชสอนเบสบอลของลูกชายตัวเองเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ชีวิตรักยุ่งๆ ในมุ้งของปู่แลร์รี่ คิงที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีที่ผ่านมาอาจคลี่คลายความยุ่งเหยิงลงไปบ้าง หลังจากที่คุณปู่ (ซู่) ซ่าประกาศลาจอซีเอ็นเอ็น ด้วยเหตุผลว่า "ผมอยากใช้เวลาในช่วงบั้นปลายชีวิตอยู่กับภรรยา และอยากไปดูลูกแข่งกีฬาบ้าง"

ทั้งนี้ การประกาศอำลาวงการเพื่อปลดระวางตัวเองจากจอทีวีของพิธีกรชั้นครูดูมิใช่เรื่องน่าเสียใจไปซะทีเดียว เพราะแลร์รี่ คิง ยืนยันว่าตนยังคงเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งในชายคาซีเอ็นเอ็น และจะร่วมจัดรายการพิเศษหากมีสถานการณ์สำคัญระดับประเทศและนานาชาติ ที่สำคัญแฟนๆ รายการทั้งรุ่นเดอะ รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ สามารถเกาะติดความเคลื่อนไหวของของแลร์รี่ คิง ได้อย่างใกล้ชิดบนทวิตเตอร์ของเขา (http://twitter.com/kingsthings) จากข้อความที่เจ้าตัวโพสต์เอาไว้ว่า "I may be ending the nightly show in the Fall, but I have no plans to leave Twitter!"

...และถึงแม้เฒ่าทระนงแห่งวงการทอล์คโชว์นามแลร์รี่ คิง จะเตรียมถอดสายเอี๊ยมและแขวนไมค์ในรายการ Larry King Live แต่ตำนานความเก๋าของปู่เฒ่าที่ยังมีลมหายใจจะยังติดตาตรึงใจผู้ชมไปตลอดกาล...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ