In Focus"กูเกิล" ตีปีกทำเงินในแดนมังกรต่อ มุ่งสานต่อธุรกิจจากโลกเสรีในดงเซ็นเซอร์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 14, 2010 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในที่สุด รัฐบาลจีนก็ยอมไฟเขียวต่อใบอนุญาตทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศให้กับกูเกิลไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้งัดข้อกันมาตั้งแต่ต้นปีกับกรณีการเซ็นเซอร์ข้อมูล ถึงขนาดที่ ฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐต้องออกโรงช่วยเรียกร้องให้จีนและประเทศอื่นๆยกเลิกการควบคุมอินเทอร์เน็ต แต่มังกรยักษ์หลังม่านไม้ไผ่หาได้สะทกสะท้าน ยื่นคำขาดให้กูเกิลตัดสินใจเอาเองว่าจะอยู่หรือถอนตัวออกจากธุรกิจอินเทอร์เน็ตจีน ส่งผลให้เสิร์ชเอนจิ้นชื่อดังจากดินแดนแห่งเสรีภาพต้องยึดสุภาษิต "เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม"

แม้ว่าจะเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน แต่เมื่อถึงคราวจำเป็น กูเกิลก็จำต้องตัดสินใจเพื่ออนาคตของตน ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากจะตัดใจทิ้งจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลกได้ โดยจากสถิติล่าสุดจากกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน เผยให้เห็นว่า ยอดผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในจีนพุ่งขึ้นเกือบ 9.8 ล้านราย แตะ 113 ล้านรายในช่วงสิ้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา การขยายธุรกิจของบริษัทต่อไปในจีนจึงน่าจะเป็นอีกหนทางสู่ความรุ่งโรจน์มากกว่าที่จะรุ่งริ่ง

ทันทีที่ได้รับไฟเขียวให้เดินหน้าทำธุรกิจในจีนต่อไปได้ กูเกิลก็รีบโพสต์ข้อความแสดงความยินดีในบล็อกของบริษัท พร้อมกับประกาศว่า จะให้บริการค้นหาข้อมูลทางเว็บไซต์และบริการอื่นๆในจีนต่อไป แถมท้ายด้วยข้อความที่อาจทำให้จีนรู้สึกตะหงิดๆ ว่า ถึงจีนจะต่อใบอนุญาตให้ กูเกิลก็ยังคงยึดมั่นในจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ตามประสาบริษัทจากดินแดนแห่งเสรีภาพ โดยเจสสิก้า พาวล์ โฆษกกูเกิลที่ญี่ปุ่น กล่าวว่า บริษัทได้ขอให้รัฐบาลจีนต่ออายุใบอนุญาต เพื่อที่จะได้ให้บริการอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องมีการเซ็นเซอร์ และบริษัทจะยังคงให้บริการค้นหาข้อมูลผ่านทาง Google.com.hk ซึ่งไม่มีการเซ็นเซอร์ต่อไป

แลหลังเมื่อกูเกิลบุกแดนมังกร

ขณะที่เทพีเสรีภาพยืนตระหง่านท้าลมท้าแดดอยู่ในนครนิวยอร์ก ตอกย้ำถึงจุดยืนแห่งอิสระและเสรีภาพอยู่นั้น อีกซีกโลกหนึ่งกลับเหมือนมีม่านไม้ไผ่กางกั้นอยู่ทั่วประเทศ กรณีความคิดเห็นที่แตกต่างกันที่เกิดขึ้นในจีนจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ

นับตั้งแต่ที่กูเกิลบุกแดนมังกรเพื่อให้บริการสืบค้นข้อมูลผ่านทาง Google.cn เมื่อเดือนม.ค. 2548 ธุรกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศก็ถูกสอดส่องจากรัฐบาลจีนอย่างไม่คลาดสายตามาโดยตลอด แถมไม่ใช่แค่การมอง เพราะบางครั้งทางการยังได้ยื่นมือเข้าไปดำเนินการบางอย่างด้วย เมื่อเห็นแนวโน้มแห่งการเข้าถึงข้อมูลทุกประเภทได้อย่างเป็นอิสระในประเทศ (จนเกินไป!) ดังเช่นในเดือนมี.ค. 2551 จีนได้บล็อกการเข้าเว็บไซต์ยูทูบ จากนั้นจีนเดินเรื่องติดตั้งซอฟท์แวร์คัดกรองเว็บไซต์ “Green Dam Youth Escort" ในพีซีทุกเครื่องที่จะวางจำหน่ายในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ปีที่แล้ว แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน (MIIT) ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ก่อนหน้าวันดังกล่าวเพียงหนึ่งวันว่า จีนจะเลื่อนระยะเวลาในการบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวออกไปจากกำหนดการเดิม เนื่องจากผู้ผลิตคอมพิวเตอร์บางรายร้องเรียนว่าการติดตั้งซอฟท์แวร์ดังกล่าวในเครื่องคอมจำนวนมากต้องใช้เวลานานกว่านี้

บริษัท จินฮุย คอมพิวเตอร์ ซิสเต็ม เอนจิเนียริง จำกัด เป็นผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ “กรีนแดม" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกรองเว็บไซต์ที่ปรากฏภาพลามกอนาจารและยั่วยุอารมณ์รุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการช่วยผู้ปกครองกำหนดระยะเวลาในการอยู่หน้าจอของเยาวชน แต่แผนการติดตั้งซอฟท์แวร์กลับทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาในทันทีจากทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากหลายฝ่ายเชื่อว่านี่อาจเป็นเครื่องมือล่าสุดของจีนในการควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ตที่อาจนำเสนอเนื้อหาที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองและเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงเป็นปึกแผ่นของรัฐบาลคอมมิวนิสต์

ความไม่ลงรอยระหว่างทางการจีนและธุรกิจอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำเรื่อยมา จนกระทั่งในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา กูเกิล ก็ได้ออกมาป่าวประกาศว่า อาจจะถอนตัวจากการทำธุรกิจในจีน หลังจากที่บริษัทตรวจพบเมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค. 2552 ว่า แฮคเกอร์ในจีนแอบเจาะเข้าไปในบัญชี Gmail ของนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในจีน ยุโรป และสหรัฐ และยังพบหลักฐานเพิ่มเติมด้วยว่ากลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างน้อย 20 แห่งในภาคอุตสาหกรรมการเงิน เทคโนโลยี สื่อ และเคมีภัณฑ์ตกเป็นเป้าหมายการถูกเจาะระบบ

เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศทันที นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกการควบคุมอินเทอร์เน็ต และกล่าวกับบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐว่า อย่ายอมอ่อนข้อให้กับการตรวจสอบทางอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้จีนออกแถลงการณ์ตอบโต้รมว.ต่างประเทศสหรัฐ พร้อมกับเตือนว่าถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ

นับตั้งแต่นั้นป็นต้นมา สถานการณ์เข้าขั้นขิงก็ราข่าก็แรง จีนไม่สนใจคำขู่ของกูเกิลที่จะปิดสำนักงานและระงับการให้บริการเว็บไซต์ในจีน นอกจากจะเมินคำขู่ดังกล่าวแล้ว เจียง หยู โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนยังประกาศว่า ทางการจีนยินดีต้อนรับบริษัทอื่นที่พร้อมทำตามกฎหมายของจีนให้เข้ามาทำธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตในประเทศได้

แต่ด้วยศักดิ์ศรีบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ของโลก กูเกิลจึงดึงดันที่จะงัดข้อกับจีนต่อไป ด้วยการหยุดเซ็นเซอร์ผลการสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ในจีนช่วงปลายเดือนมี.ค. ส่งผลให้ผู้ที่เข้ามาใช้เว็บไซต์ Google.cn จะถูกรีไดเร็คไปยังเว็บไซต์ Google.com.hk ซึ่งให้บริการสืบค้นข้อมูลเป็นภาษาจีนกลางโดยไม่มีการเซ็นเซอร์ ซึ่งบริการดังกล่าวออกแบบมาเพื่อผู้ใช้งานในจีนแผ่นดินใหญ่โดยเฉพาะ ด้านทำเนียบขาวก็ออกมาแสดงความเสียใจที่การเจรจาต่อรองระหว่างกูเกิลและรัฐบาลจีนเรื่องการเซ็นเซอร์ผลการสืบค้นข้อมูลไม่ประสบความสำเร็จจนต้องทำให้บริษัทตัดสินใจที่จะโยกย้ายบริการสืบค้นข้อมูลต่างๆไปยังฮ่องกงแทน

เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง

ดูเหมือนว่า การใช้ยุทธิวิธีรีไดเร็คดังกล่าวจะเป็นการสะท้อนจุดยืนในการต่อต้านการเซ็นเซอร์ข้อมูลของกูเกิลอย่างชัดเจน จนทำให้หลายฝ่ายชักจะเชื่อแล้วว่า กูเกิลจะยอมถอยทัพออกจากจีนอย่างองอาจ

จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนมิ.ย. กูเกิล ก็ต้องมาตกม้าตาย ยอมอ่อนข้อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การให้บริการในจีนเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของรัฐบาล ด้วยความหวังที่จะได้ทำธุรกิจในดินแดนหลังม่านไม้ไผ่ต่อไป โดยกูเกิลเปลี่ยนท่าทีมาเป็นประนีประนอมกับทางการจีน ด้วยการประกาศหยุดการรีไดเร็คผู้ที่เข้าเว็บไซต์ Google.cn ในจีน ไปยังเว็บไซต์ Google.com.hk ในฮ่องกงโดยอัตโนมัติ หลังทางการจีนขู่ว่าจะไม่ต่อใบอนุญาตทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 30 มิ.ย.ให้กับกูเกิล หากกูเกิลยังยืนกรานที่จะดำเนินการดังกล่าวต่อ

และในที่สุด กูเกิล ก็ได้ออกมาประกาศข่าวดีของตนเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจีนได้ต่อใบอนุญาตทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนให้กับบริษัทแล้ว

การที่กูเกิลสามารถทำมาหากินในจีนได้ต่อไปนั้น คงมีหลายคนสงสัยว่าทำไมอยู่ดีๆ จีนถึงยอมเปิดทางให้ ซึ่งในเรื่องนี้ สื่อต่างชาติบางสำนักมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนเองก็เต็มใจที่จะประนีประนอมด้วย ตราบใดที่จีนไม่ได้ถูกสังคมภายนอกมองว่า มังกรแห่งดินแดนหลังม่านไม้ไผ่นี้ยอมก้มหัวให้กับเจ้าของเสิร์ชเอนจิ้นชื่อดังจากดินแดนแห่งเสรีภาพ และการที่จีนไฟเขียวกูเกิลทำธุรกิจต่อไปนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า หนทางข้างหน้าสำหรับกูเกิลจะไร้ซึ่งขวากหนาม หรือการเซ็นเซอร์ในดินแดนม่านไม้ไผ่จะสิ้นสุดลง

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า การที่ชนชั้นกลางของจีน ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจแดนมังกรนั้น ก็ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนช่วยกันไม่ให้บริษัทต้องถูกเนรเทศจากตลาดที่จะสามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล เพราะชนชั้นกลางและชนชั้นสูงของจีนต่างนิยมชมชอบสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ Google.cn เพราะมีข้อมูล เพลง ตลอดจนผลิตภัณฑ์ต่างๆจากฝั่งตะวันตกรองรับความต้องการของพวกเขา

สำหรับกรณีที่กูเกิลทำหน้า landing page บนเว็บไซต์ Google.cn เพื่อหยุดการรีไดเร็คผู้ใช้ไปยังไซต์ Google.com.hk โดยอัตโนมัตินั้น ผู้สันทัดกรณีมองว่า ก็เพื่อตบตาหรือจัดฉากให้เห็นว่า กูเกิลยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางการจีนแล้ว ขณะที่จีนเองก็ไม่เสียหน้าในเรื่องของการยึดมั่นตามนโยบายและหลักการที่ได้ป่าวประกาศไปในช่วงที่เกิดความขัดแย้งว่า บริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในจีนจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ทางการจีนได้กำหนดไว้

ตัวอย่างของบริษัทต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในจีนแล้วมีเรื่องมีราวขึ้นมานั้น ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้น กรณีที่จีนได้กักตัวผู้บริหารและพนักงาน 4 รายของบริษัท ริโอ ทินโต บริษัทเหมืองยักษ์ใหญ่จากออสเตรเลียที่เข้ามาทำธุรกิจในจีนหลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ก็เป็นอีกกรณีที่ชี้ให้เห็นว่า บริษัทต่างชาติรายใดไม่ทำตามกฎของดินแดนแห่งม่านไม้ไผ่แล้ว อาจจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเหมือนกับผู้บริหารและพนักงานแผนกสินแร่เหล็กในเอเชียของริโอ ทินโต ที่ถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 7-14 ปี ด้วยข้อหาโจรกรรมข้อมูลที่เป็นความลับและการติดสินบน โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ซีอีโอของริโอ ทินโต ประกาศยอมรับคำตัดสินของศาลจีน และชี้ว่า คำตัดสินดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการสานสัมพันธ์เพื่อทำธุรกิจในจีนของบริษัท

ทั้งนี้ แม้ว่าบริษัทเจ้าของเสิร์ชเอนจิ้นชื่อดังอาจจะกำลังตีปีกเริงร่า พร้อมเดินหน้าวางแผนการทำธุรกิจในจีนต่อไปอยู่ในขณะนี้ แต่นักวิเคราะห์หลายรายก็เตือนว่า ความแตกต่างด้านปัจจัยพื้นฐานระหว่างจีนและกูเกิลจะยังคงมีอยู่ และอาจเป็นประเด็นที่นำไปสู่ปัญหาในอนาคตได้

สถานการณ์ต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ต้องจับตาดูว่า กูเกิลจะต้องซดน้ำแกงอีกกี่ถ้วยถึงจะเติบโตได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในแดนมังกร ให้สมกับที่ตนยอมลดราวาศอกให้กับทางการจีนในครั้งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ