นับเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้วที่ขนมไหว้พระจันทร์ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีน แต่ในช่วงหลายปีมานี้ขนมไหว้พระจันทร์กลับถูกมองว่าเป็นตัวแทนของความฟุ่มเฟือยและการประจบสอพลอ อย่างไรก็ดี ในปีนี้ โชคดีที่มีการออกกฎเกณฑ์ใหม่ให้มีการคุมเข้มเรื่องบรรจุภัณฑ์ของอาหาร ส่งผลให้ขนมไหว้พระจันทร์กลับคืนสู่รากเหง้าแห่งประเพณีและวัฒนธรรมอีกครั้ง
หลายปีที่ผ่านมาจนกระทั่งปีที่แล้ว ขนมไหว้พระจันทร์ในจีนถูกบรรจุในกล่องสีทอง หรือไม่ก็กล่องซึ่งประดับประดาไปด้วยอัญมณี แถมภายในกล่องยังมีนาฬิกาแบรนด์เนม ไวน์ หรือแม้กระทั่งพระพุทธรูปทองคำองค์เล็กๆ เพื่อทำหน้าที่เป็นของขวัญสำหรับบรรดาเจ้านาย เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเพื่อนฝูง
สนนราคาของของขวัญกล่องดังกล่าวเพียง 1 กล่องอาจจะสูงถึง 10,000 หยวน หรือ 1,490 ดอลลาร์สหรัฐ
กฎเกณฑ์ใหม่ที่สำนักงานมาตรฐานจีนได้ออกบังคับใช้นั้น ระบุว่า ห้ามใช้กล่องบรรจุอาหารที่มีหีบห่อมากกว่า 3 ชั้น และต้นทุนในการทำหีบห่อนั้น จะต้องไม่สูงเกิน 12% ของราคาจำหน่าย
โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และดูเหมือนว่า จะส่งผลกระทบต่อตลาดขนมไหว้พระจันทร์อย่างมาก ซึ่งวันไหว้พระจันทร์ในปีนี้ตรงกับวันที่ 22 กันยายน
ทั้งนี้ จนถึงวันจันทร์ที่ผ่านมา หรือสองวันก่อนที่เทศกาลจะเริ่มต้นขึ้นนั้น ยังไม่มีรายงานเรื่องขนมไหว้พระจันทร์ในกล่องสวยหรูและราคาแพงหูฉี่ในเมืองใหญ่ของจีน โดยปรากฏว่า ตามชั้นวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตปีนี้ กลับพบขนมไหว้พระจันทร์ที่มีขนาดบางลง และวัสดุที่ใช้ห่อขนมนั้นก็แทบจะเป็นวัสดุธรรมดาที่ไม่ได้มีราคาแพง ไม่ได้มีการประดับประดาอย่างหรูหราเหมือนแต่ก่อน
พนักงานขายของห้างวอลมาร์ทในกรุงปักกิ่งรายหนึ่ง กล่าวว่า กระดาษที่ใช้ห่อหุ้มขนมไหว้พระจันทร์นั้นมีความหนาน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และกล่องขนมไหว้พระจันทร์ก็ทำจากกระดาษรีไซเคิลมากกว่าทำจากโลหะ
นอกจากนี้ สิ่งที่หายไปจากขนมไหว้พระจันทร์ในปีนี้ก็คือ ป้ายราคาที่สูงลิบลิ่ว สำหรับที่ห้างคาร์ฟูร์ในปักกิ่งนั้น กล่องขนมไหว้พระจันทร์อย่างหรูที่มีขนาดบรรจุ 6-10 ชิ้นนั้น แทบจะไม่มีกล่องไหนที่มีราคาสูงกว่า 500 หยวน (74 ดอลลาร์) เลย และหากคิดเป็นราคาต่อชิ้นแล้ว จะอยู่ที่เพียง 50 หยวนเท่านั้น
ชั้นวางขายขนมไหว้พระจันทร์ในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในจีนนั้น ก็จำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ในราคาที่ถูกลงเช่นกัน และหีบห่อของขนมไหว้พระจันทร์เองก็ปรากฏโฉมในรูปแบบที่เรียบง่าย
ในซูเปอร์มาร์เก็ตเมอร์รี่ มาร์ท ในกรุงปักกิ่ง ลูกค้าจำนวนหนึ่งต่างรุมล้อมที่ชั้นวางจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ และหยิบขนมไหว้พระจันทร์ที่มีขนาดบางลง ซึ่งมีไส้ต่างๆ เช่น เม็ดบัว ถั่ว และไข่แดง ขนมไหว้พระจันทร์เหล่านี้ถูกห่อมาในกระดาษแบบเรียบง่าย และกองซ้อนๆกันไปภายใต้ป้ายราคาที่ระบุตัวเลขเพียง 9 หยวน (1.3 ดอลลาร์)
ลูกค้ารายหนึ่งซึ่งใช้แซ่กุ่ย กล่าวว่า แม้ว่าขนมไหว้พระจันทร์จะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นของขวัญ แต่วันไหว้พระจันทร์ก็ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้มารวมตัวกัน
"ขนมไหว้พระจันทร์ไม่ว่าจะราคาชิ้นละ 10 หยวน หรือ 100 หยวนนั้น รสชาติเรียกได้ว่าแทบจะไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก" กุ่ยกล่าว
ขนมไหว้พระจันทร์ที่หรูหราและถูกบรรจุมาเป็นอย่างดีนั้นถูกวิจารณ์จากสื่อว่า เกี่ยวพันกับลัทธิวัตถุนิยมและการทุจริตคอร์รัปชั่น และยังถูกมองว่าไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกล่องขนมไหว้พระจันทร์ที่หรูหรานั้นใช้กระดาษ โลหะ ไม้ และวัสดุอื่นๆในการผลิตอย่างสิ้นเปลือง และยากที่จะนำมารีไซเคิล
อย่างไรก็ดี แม้กล่องขนมไหว้พระจันทร์ที่หรูหราฟุ่มเฟือยจะหายหน้าหายตาไปจากชั้นวาง แต่วัฒนธรรมในการให้ของขวัญเนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์ในชาวจีนบางกลุ่มไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเท่าไรนัก
ลูกค้าแซ่หลิวรายหนึ่งกล่าวถึงการให้ขนมไหว้พระจันทร์ที่มีราคาแพงเพื่อเป็นของกำนัลแก่บุคคลสำคัญและเพื่อนสนิทมิตรสหายว่า ตอนนี้การให้ขนมไหว้พระจันทร์ได้กลายเป็นประเพณีที่เราต้องปฏิบัติตามด้วยความเหนื่อยหน่าย
ในทางตรงกันข้าม หลายครอบครัวได้รับขนมไหว้พระจันทร์จำนวนมากจากเพื่อนฝูงในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับตามมารยาทหรือตามธรรมเนียม
อู๋ เจียนหัว วิศวกรอาวุโสที่อาศัยอยู่ในเมืองฟูโจวทางตะวันออกของจีน กล่าวว่า เมื่อถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์เมื่อไหร่ เราจะต้องทิ้งขนมไหว้พระจันทร์จำนวนมากที่เราไม่สามารถรับประทานได้ทัน
เว็บไซต์ของพีเพิล เดลี่รายงานว่า เมื่อปี 2552 เพียงปีเดียว จีนได้ผลิตขนมไหว้พระจันทร์ 250,000 ชิ้น เพื่อต้อนรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ และกระดาษที่นำมาใช้ในการห่อขนมไหว้พระจันทร์นั้นมาจากต้นไม้กว่า 6,000 ต้น
คงต้องรอจนกว่าที่ชาวจีนระดับสามัญชนจะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมเนียมการให้ของขวัญตามเทศกาล รวมทั้งการสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานการรีไซเคิลและการบรรจุหีบห่อที่ดีกว่าเดิม ในระหว่างนี้ เทศกาลไหว้พระจันทร์ก็จะยังคงเป็นช่วงเวลาของการบริโภคแบบทิ้งๆขว้างๆและสิ้นเปลืองต่อไป
เหยา หยวน และเจิง หยุนเจีย จากสำนักข่าวซิวหัวรายงาน