โบรกเกอร์ ส่วนใหญ่แนะให้"ซื้อ หรือ ถือ"หุ้น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)ประเมินกำไรสุทธิในไตรมาส 3/53 ทำนิวไฮที่ระหว่าง 4.1-4.2 พันล้านบาท ทั้งผลการดำเนินงานดีจากการส่งออก โดยเฉพาะกุ้งที่ปริมาณและราคาเติบโตได้ดีมาก และธุรกิจในต่างประเทศทำรายได้ได้ดี แถมยังมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ราว 200-300 ล้านบาท
ดังนั้น คาดว่าทั้งปี 53 จะมีกำไรสุทธิประมาณ 1.3-1.4 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีกำไร 1.02 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ โบรกเกอร์บางรายปรับราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น เพราะเห็นศักยภาพอนาคตดีขึ้น ขณะที่หลายแห่งช่วงนี้ยังแนะ"ถือ"เพราะราคาปัจจุบันใกล้เต็มมูลค่าแล้ว
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.ทรีนิตี้ ซื้อ 33.50 บล.กสิกรไทย outperform 29.50 บล.ทิสโก้ ถือ 26.25 บล.เอเซียพลัส ถือ 25.50 บล.ฟิลลิป ถือ 25.25
นักวิเคราะห์ บล.เอเชียพลัส คาดว่า ผลประกอบการ CPF ไตรมาส 3/53 จะมีกำไรสุทธิ 4.15 พันล้านบาท ถือเป็นการทำกำไรรายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องมาจากช่วงไฮซีซั่นของปีและมีวอลุ่มการส่งออกเติบโตมากที่สุด รวมทั้ง การส่งออกกุ้งในปีนี้ดีมาก ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายส่งออก 5 หมื่นตัน เติบโตจากปีที่แล้วราว 30% และราคากุ้งยังทรงตัวในระดับสูง 120-125 บาท/กก.ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เลี้ยง แต่ในไตรมาส 3/53 ราคาสัตว์บก เช่น ไก่ หมู ไม่โดดเด่น
ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 53 จะมีกำไรสุทธิ 13,771 ล้านบาท และทำยอดขาย 1.82 แสนล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นมาที่เฉลี่ย 19.7% จากปีก่อนอยู่ที่ 17.7% หลังจากบริษัทหันมาเน้นการจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น
"ราคาหุ้นค่อนช้างใกล้กับ Fair Value ที่ให้ไว้ ที่ 25.50 ของปี 54 เราก็มองว่าราคาใกล้เต็มมูลค่า ถ้ามีอยู่ก้ถือรอปันผลได้ เพราะ yield อยู่ 4% ช่วงนี้ที่ราคาปรับลงมาบ้าง เพราะไม่มี story อะไรที่โดดเด่น" นักวิเคราะห์ กล่าว
ด้าน บล.ทรีนิตี้ คาดการณ์ไตรมาส 3/53 กำไรสุทธิของ CPF น่าจะทำได้ราว 4,200 ล้านบาท เป็นกำไรจากการดำเนินงานราว 3,900 ล้านบาท เป็นกำไรพิเศษ โดยเฉพาะจากอัตราแลกเปลี่ยน 300 ล้านบาท จึงน่าจะเป็นไตรมาสที่มีกำไรสูงสุดในรอบปี
แม้มีความกังวลต่อผลกระทบบาทแข็ง และวัตถุดิบราคาปรับตัวขึ้นทั้งกากถั่วเหลือง และข้าวโพด แต่เนื่องจาก CPF ล็อกราคากากถั่วเหลืองได้ต่ำจนถึงกลางปี 54 ผลกระทบวัตถุดิบในส่วน 30% จึงหมดปัญหาไป ขณะที่ราคาข้าวโพดทำสัญญาซื้อล่วงหน้า 3 เดือน ทำให้กำไรสุทธิครึ่งหลังปี 53 คงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนักจากเรื่องวัตถุดิบราคาขึ้น และเชื่อว่าปัญหาราคาวัตถุดิบไม่ส่งผลกระทบไปจนกว่าจะถึง 2H54
อย่างไรก็ตาม หากวิกฤติค่าเงินบาทและราคาวัตถุดิบสูงแบบนี้ดำเนินต่อไปจะกลับกลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง CPF และ TUF ด้วยสถานการณ์รายใหญ่ทนได้ แต่รายเล็กสู้ไม่ไหวอาจต้องล้มหายตายจากไป ทำให้รายใหญ่ทั้งสองเตรียมจะ Gain มาร์เก็ตแชร์เพิ่มได้อีก โดยเฉพาะในส่วนธุรกิจอาหารสัตว์
ดังนั้น มองไปข้างหน้าผ่านช่วงนี้ไปได้ โอกาสของ CPF มีอีกมากจากการธุรกรรมร่วมกันทั้ง Feed: Farm: Food ไม่เฉพาะในไทย แต่ในหลายประเทศที่มีศักยภาพดีทั้ง อินเดีย ไต้หวัน ตุรกี เคนยา และ รัสเซีย ปีนี้ธุรกิจในประเทศที่ทำกำไรดีเด่นสุดคือ อินเดีย มาเลเซีย และไต้หวัน แต่หากพิจารณาในแง่ธุรกิจที่จะสามารถเติบโตและขยายใหญ่ขึ้นได้อีกมาก ต้องเล็งจับตาไปที่ อินเดียและตุรกี
"เราปรับราคาเป้าหมายของ CPF ขึ้นจาก 27.75 บาท เป็น 33.50 บาท แนะนำซื้อต่อไป"บทวิเคราะห์ระบุ
นางสาวนารี อภิเศวตกานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) คาดว่า แนวโน้มผลกำไรสุทธิไตรมาส 3/53 ดีกว่าไตรมาส 2/53 เล็กน้อย โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิราว 4 พันล้านบาท ยังไม่ร่วมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ เบื้องต้นคาดว่าจะได้กำไร FX ประมาณ 200 ล้านบาท ไม่น่าจะแตกต่างจากไตรมาส 2/53 อีกทั้งยังได้รับรู้กำไรจากบมจ.ซีพี ออลล์(CPALL)ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4/53 คาดว่าผลกำไรจะอ่อนตัวลง เพราะการส่งออกชะลอตัว ฉะนั้น ในครึ่งปีหลังจะไม่มีปัจจัยใหม่ผลักดันราคาหุ้นมากนัก ราคาช่วงนี้จึงทรงๆ และไม่มีข่าวบวกสำหรับกลุ่มเกษตร
"ราคาพื้นฐานประเมินไว้ที่ 25.25 บาทเท่านั้นเอง ราคาหุ้นแทบไม่ค่อยมี upside และ outlook ไตรมาส 4 อาจจะ soft ลงไปด้วย ช่วงนี้เริ่มกินเจ ราคาเนื้อสัตว์ก็อ่อนตัว"นางสาวนารี กล่าว
อย่างไรก็ตาม มองว่าธุรกิจเกษตรก็เป็นธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว และหากราคาวัตถุดิบสัตว์สูงขึ้น ราคาเนื้อสัตว์ก็ปรับขึ้นได้ แต่ในปีนี้เรื่องการส่งออกกุ้งโดดเด่น และทั้งปีผลกำไรดีกว่าปีก่อน ซึ่งไตรมาส 4/53 จะมีกำไรพิเศษจากขายโลตัสในจีนเข้ามาด้วย
ทั้งนี้ กำไรสุทธิในปี 53 ประมาณการไว้ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1.02 หมื่นล้านบาท