นายวิเชียร เมตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) คาดว่าในเดือน ต.ค.นี้ บริษัทจะสามารถดำเนินการเป็นผู้ทำการตลาดรูปแบบการบริการขายส่งบริการบนโครงข่ายเสมือนจริง (MVNO) หลังจากที่คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที อนุมัติในหลักการภายในสัปดาห์นี้
ขณะเดียวกัน การเจรจาการเข่าโรมมิ่งด้านข้อมูล (Roaming DATA) กับระบบของทีโอทีบนโครงข่ายเดิม ซึ่งได้เจรจามานานแล้ว ขณะนี้ได้ข้อยุติแล้ว โดยทางบริษัทจะทำการโรมมิ่งด้านข้อมูล 5 หมื่นเลขหมายบนโครงข่าย 3G ของทีโอที แลกกับการที่ทีโอทีโรมมิ่งด้านเสียง 2 แสนเลขหมายบนโครงข่ายของบริษัท ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาในเร็วๆนี้
"หลังจากบอร์ดอนุมัติเราก็ต้องมาคุยรายละเอียด ขอบเขตงานที่ได้ เพราะถ้าของเก่าขายไม่หมด เราก็ทำได้เลย...แต่เราต้องการทำ Full MVNO เสมือนเราเป็นโอเปอเรเตอร์ ระบบบิลลิ่งเราก็มีพร้อมทำเต็มระบบ ตั้งแต่ขายซิมตัวเอง หรือขายซิมให้เขา"นายวิเชียร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ บริษัทยังไม่สามารถประเมินเบื้องต้นค่าใช้จ่ายและเงินลงทุนในการทำ MVNO รวมถึงรายได้ เพราะต้องหารือในรายละเอียดว่าจะได้รับเลขหมายมาจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับ capacity ของทีโอทีว่าจะมีอยู่เท่าใด โดยหากโครงข่ายเดิมมีเลขหมายเหลือบริษัทก็จะดำเนินการไปก่อน จากนั้นก็รอโครงข่ายใหม่ 3G ที่ทางทีโอที เพิ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการลงทุน
ปัจจุบัน ทีโอทีมีผู้ให้บริการ MVNO 5 ราย ได้แก่ บมจ.สามารถ ไอ-โมบาย(SIM) , บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) , บริษัท เอ็นอีซี , บริษัท เอ็ม คอนซัลท์ และ บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น ซึ่งแต่ละรายได้รับ 1 แสนเลขหมายในการทำตลาด
นายวิเชียร กล่าวว่า การเข้ามาทำตลาด MVNO ของ ADVANC เป็นการเพิ่ม value added ให้กับบริษัท และบริษัทต้องพยายามหาบริการ 3G ให้กับลูกค้าในระหว่างที่รอการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ครั้งใหม่
ADVANC มี 2 บริษัทย่อยที่ได้ใบอนุญาตในการทำ MVNO จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)เมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ โมบาย บรอดแบรนด์ และ บริษัท ไวร์เลส ดีไวซ์ ซัพพลาย จำกัด (WDS) ซึ่งก็คงต้องเลือกเอาบริษัทใดบริษัทหนึ่งเข้าไปทำการตลาด MVNO
"เรามองตลาด MVNO เป็นการ add value ตอนนี้เราทำอะไรได้เราทำทุกอย่าง ผมต้องทำตลาด 3G แทนที่จะอยู่เฉยๆ ระหว่างรอการเปิดประมูลใหม่ซึ่งไม่รู้เมื่อไร"นายวิเชียรกล่าว