บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของบริษัท บมจ.ปตท. (PTT) ดังต่อไปนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินในประเทศระยะยาว (Long-term local currency IDR) ที่ 'A-' แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น (Short-term Foreign Currency IDR) ที่ ‘F3’
- อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันที่ ‘AAA(tha)’
ฟิทช์ยังได้จัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของปตท. ครั้งที่ 2/2553 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2557 และชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2560 โดยมีมูลค่ารวมไม่เกินหนึ่งหมื่นล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดและใช้ในการลงทุนใหม่
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของปตท.ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศไทย ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และการเป็นตัวจักรของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ คณะผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัท ฟิทช์ให้ความเห็นว่า ปตท.จะยังคงสถานะเป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การจัดหาและการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศไทยต่อไป
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นธุรกิจหลักของปตท.ที่สร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) โดยสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างคงที่ อันเป็นผลมาจากสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้า และการที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีความผันผวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของปตท. ถูกลดทอนลงจากปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคตของบริษัท ความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบและปัจจัยทางด้านการเมือง รวมถึงความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่ปตท.มีอยู่ในระดับหนึ่ง ฟิทช์ยังกล่าวอีกว่าการลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่องน่าจะทำให้หนี้สินสุทธิของปตท.เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามฟิทช์มองว่าสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (Adjusted net debt to operating EBITDAR) ของปตท. น่าจะคงอยู่ที่ระดับประมาณ 2.0 เท่าอย่างต่อเนื่องได้
ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) นั้น ฟิทช์จัดอันดับเครดิตปตท.โดยเริ่มจากการพิจารณาเครดิตของปตท.ในฐานะบริษัทหนึ่ง (Standalone Rating) แล้วจึงพิจารณาถึงปัจจัยเสริมจากความสัมพันธ์ดังกล่าว (Bottom-up Approach) โดยฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของปตท. เพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนของรัฐบาลต่อปตท.ในทางอ้อม (Implicit Support) อย่างไรก็ตามเนื่องจากอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิต Standalone ของปตท. ดังนั้นการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากการสนับสนุนของรัฐบาลต่อปตท.ในทางอ้อมจึงไม่มีผลในกรณีนี้ แนวโน้มเครดิตเป็นลบของอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของปตท.สะท้อนถึงแนวโน้มเครดิตเป็นลบของอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของประเทศไทย
อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท. ที่ระดับ ‘BBB’ ถูกจำกัดให้เท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยเนื่องจากการที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปตท. และการที่ธุรกิจหลักส่วนใหญ่ของปตท. มีการดำเนินงานอยู่ในประเทศไทย
สภาพคล่องของปตท.อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทมีเงินสดและสินทรัพย์ใกล้เคียงเงินสดอยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 เมื่อเทียบกับหนี้สินที่ครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้าที่ 2.73 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ปตท.ยังมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและความสามารถที่สูงในการระดมเงินกู้จากตลาดทุนและธนาคารซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องของบริษัทอีกทางหนึ่ง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของปตท.ได้แก่การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ทำให้ปตท.เสียประโยชน์ อัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศของประเทศไทย ในขณะที่อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท.ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทยจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท.