บลจ.ฟินันซ่า เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐโปรตุเกส คาดผลตอบแทน 3.0%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 12, 2010 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บลจ.ฟินันซ่า ออกกองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้ต่างประเทศ 12เดือน1/10" (FAM FFI12M1/10) เน้นลงทุนในตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกส อายุประมาณ 12 เดือน โดยจะทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนที่ประมาณ 3.00% ต่อปี

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร บลจ.ฟินันซ่า เปิดเผยว่า บริษัทจะเปิดจำหน่ายกองทุน FAM FFI12M1/10 ระหว่างวันที่ 13-19 ต.ค.53 มูลค่าโครงการ 500 ล้านบาท อายุประมาณ 12 เดือน กองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในประเทศโปรตุเกส ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

จุดเด่นที่สำคัญของกองทุนนี้ ได้แก่ การนำเสนอทางเลือกด้านการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยนับเป็นทางเลือกใหม่แก่นักลงทุนไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยมีประสบการณ์การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้มาแล้ว

ทั้งนี้ อันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นของรัฐบาลโปรตุเกสอยู่ในระดับสูงสุด (P-1 โดย Moody’s และ F1+ โดย Fitch) ซึ่งเทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประเทศเกาหลีใต้ และอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลโปรตุเกสอยู่ในระดับสูงกว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ (A1 โดย Moody’s และ AA- โดย Fitch)

ปัจจัยที่สนับสนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนคือ ท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลประเทศในกลุ่มยูโรที่จะเข้าช่วยเหลือประเทศที่มีปัญหา เนื่องจากการคงอยู่ของสกุลเงินยูโรเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับประเทศในกลุ่มยูโร โดยเฉพาะเยอรมันนี และฝรั่งเศส โดยรัฐบาลของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ก่อตั้งองค์กรการเงินที่เรียกว่า The European Financial Stability Facility (EFSF ) ในเดือน มิ.ย. 53 เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับสมาชิกที่มีปัญหา และยังมีกองทุนที่เรียกว่า The European Financial Stabilisation Mechanism (EFSM) รวมทั้งเงินเพิ่มเติมจาก IMF ด้วย รวมแล้วถ้าสมาชิกในกลุ่มยูโรปมีปัญหาด้านเงินทุนจะมีวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินรวมทั้งสิ้น 750 พันล้านยูโร ซึ่งมากเพียงพอที่จะรองรับต่อวิกฤติทางการเงินได้

โดยวงเงินดังกล่าวยังไม่เคยได้มีการเบิกใช้จากประเทศสมาชิกนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง อีกทั้ง การทำ Stress Test สำหรับกลุ่มธนาคารของประเทศในภูมิภาคยุโรป เป็นเครื่องยืนยันถึงความเหมาะสมของโครงสร้างเงินทุนของธนาคารในโปรตุเกส แม้กระทั่งภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด พบว่าไม่มีธนาคารใดในโปรตุเกสที่ต้องทำการปรับปรุงโครงสร้างเงินทุน (Recapitalization) เลย

ทั้งนี้ ธุรกิจการเงินและการธนาคารของโปรตุเกสไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตซับไพร์มอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัญหาในจำนวนจำกัดและไม่มีภาวะฟองสบู่ในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินสามารถให้การสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ในประเทศโปรตุเกสได้อย่างต่อเนื่อง

มาตรการทางด้านงบประมาณภาครัฐที่สำคัญในปี 54 ได้แก่ ความพยายามของรัฐบาลโปรตุเกสในการดำรงความสมดุลของบัญชีงบประมาณโดยการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด ลดค่าลดหย่อนด้านภาษี และเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในระดับสากลของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดหาเงินทุนของประเทศและการดำเนินนโยบายทางด้านสังคมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ Ministry of Finance and Public Administration คาดการณ์ว่า GDP ของโปรตุเกสจะเป็นบวกในปี 53 นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ