ThaiBMA หนุน TFEX ซื้อขายพันธบัตร 5 ปี แต่ต้องกระตุ้นด้านสภาพคล่อง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 12, 2010 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA)เปิดเผยว่า การที่คณะกรรมการ บมจ.ตลาดอนุพันธ์(ประเทศไทย) หรือ TFEX มีมติให้เปิดซื้อขายฟิวเจอร์สของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี (5-Year Government Bond Futures) ในวันจันทร์ที่ 18 ต.ค.53 ถือเป็นทิศทางที่ดีในการพัฒนาทั้งในส่วนของตลาดอนุพันธ์ และตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย

โดยเฉพาะหากสามารถกระตุ้นนักลงทุนให้เกิดความสนใจ และเกิดสภาพคล่องแล้ว จะเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาพันธบัตรที่เป็นผลจากความเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว

ทั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตลาด เป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากต้องยอมรับว่าตลาดตราสารหนี้เอเชียยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา และแม้ว่าในบางประเทศ เช่น ไต้หวัน หรือ มาเลเซีย เปิดซื้อขายบอนด์ฟิวเจอร์ส มาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังมีปริมาณการซื้อขายไม่มากเท่าที่ควร

“การเปิดซื้อขายฟิวเจอร์สของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี จะช่วยในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ได้ แต่ก็ต้องพยายามหาทางกระตุ้นในเรื่องของสภาพคล่องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้มีจำนวน Market maker ที่มากพอ ส่งเสริมด้านดีมานด์จากนักลงทุนสถาบัน รวมไปถึง ส่งเสริมสภาพคล่องของพันธบัตรรุ่นที่ใช้อ้างอิงด้วย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่จะต้องช่วยกันสนับสนุนในเรื่องนี้" นางสาวอริยา กล่าว

ส่วนของ ThaiBMA ได้หารือร่วมกับ TFEX เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขายระหว่างตลาดพันธบัตรและตลาดบอนด์ฟิวเจอร์ส เพื่อวัตถุประสงค์ในการกำกับดูแลตลาด โดย ThaiBMA จะจัดส่งข้อมูลการซื้อขายพันธบัตรจำนวน 5 รุ่นที่ใช้อ้างอิงในบอนด์ฟิวเจอร์ส รวมถึงข้อมูลราคา Bid-offer และราคา Mark to Market ของพันธบัตรรุ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ TFEX ใช้คำนวณราคา Settlement ของบอนด์ฟิวเจอร์ส

ทั้งนี้ ฟิวเจอร์สของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี จะถือเป็นตัวนำร่องในตลาดบอนด์ฟิวเจอร์ส เพราะหลังจากนี้ก็จะมีการให้ซื้อขายฟิวเจอร์สของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย BIBOR ประเภท 3 เดือน (3-Month BIBOR Futures) ตามมาในเร็วๆนี้ด้วย

“เรื่องนี้ถือเป็นมาตรการหนึ่งในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้และตลาดอนุพันธ์ในบ้านเรา ซึ่งจำเป็นที่ทาง TFEX จะต้องมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ธปท.และ ThaiBMA เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาอุปสรรคและทำให้เกิดความชัดเจน เพราะต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะช่วยกันพัฒนา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตลาด"นางสาวอริยากล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ