ทริส ประกาศเครดิองค์กร DTC ที่ A- แนวโน้ม Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 15, 2010 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บมจ.ดุสิตธานี (DTC) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงชื่อเสียงของบริษัทในฐานะเป็นโรงแรมที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยและฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้ที่ต่ำ และการจัดอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงกลุ่มโรงแรมของบริษัทที่กระจายตัวอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ตลอดจนผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และศักยภาพในการขยายสู่ธุรกิจบริหารโรงแรมด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากธรรมชาติของธุรกิจโรงแรมที่มีความผันผวน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและปัญหาการเมืองภายในประเทศซึ่งส่งผลทำให้ผลประกอบการของบริษัทลดลง นอกจากนี้ ทรัพย์สินของบริษัทยังมีสภาพค่อนข้างเก่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นเนื่องจากบริษัทมีนโยบายในการใช้งบประมาณซ่อมบำรุงที่ระมัดระมัดระวัง

ในขณะที่การพัฒนาระบบเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจบริหารโรงแรมยังทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงซึ่งส่งผลกระทบทำให้บริษัทมีอัตรากำไรที่ลดลง ดังนั้น ความท้าทายของบริษัทจึงเป็นเรื่องของการเพิ่มความสามารถในการทำกำไรจากทั้งโรงแรมของบริษัทเองและจากธุรกิจบริหารโรงแรม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงผลประกอบการที่อ่อนตัวลงและความสามารถของบริษัทในการปรับตัวในภาวะวงจรขาลงของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แนวโน้มอันดับเครดิตอาจเปลี่ยนเป็น “Stable" หรือ “คงที่" หากบริษัทสามารถปรับปรุงอัตรากำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานให้ดีขึ้น ทั้งนี้ บริษัทจำเป็นจะต้องคงนโยบายการเงินที่ระมัดระวังและรักษาสภาพคล่องในระดับสูงเอาไว้ให้ได้ตลอดเวลา

ในปี 52 ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงโดยมีรายได้ลดลง 13.5% จากปีก่อนและมีผลขาดทุน 108 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 53 แม้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 77 ล้านบาท จาก 67 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 52 อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่องจากกว่า 20% ในอดีตเป็น 18.6% ในปี 51 และลดเหลือประมาณ 13% ในช่วงปี 52 และ 6 เดือนแรกของปี 53 บริษัทมีต้นทุนการดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงส่วนหนึ่งเนื่องจากการมีพนักงานจำนวนมากเพื่อรองรับธุรกิจบริหารโรงแรม

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีสภาพคล่องที่ดีเนื่องจากมีภาระหนี้ที่ต่ำ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 35%-40% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และอยู่ที่ระดับ 19.62% (ยังไม่ได้ปรับปรุงให้เป็นตัวเลขเต็มปี) สำหรับ 6 เดือนแรกของปี 53 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายค่อนข้างคงที่ที่ 7 เท่าเนื่องจากบริษัทไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ ดังนั้น ในระหว่างปี 52 และครึ่งแรกของปี 53 ภาระหนี้และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจึงลดลงตามการชำระหนี้

ปัจจุบัน DTC มีแผนจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการซื้อโรงแรมดุสิตธานีลากูน่ารีสอร์ทภูเก็ต (ดุสิตลากูน่า) มูลค่าประมาณ 2,700 ล้านบาท โรงแรมดุสิตลากูน่าเปิดดำเนินงานมานาน 23 ปีโดยมีบริษัทเป็นผู้บริหารตั้งแต่แรก กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะจัดหาเงินทุนประมาณ 4,100 ล้านบาทเพื่อซื้อโรงแรมดุสิตลากูน่าและดุสิตดีทูเชียงใหม่และจะทำสัญญาเช่าโรงแรมดุสิตธานีหัวหินนาน 30 ปี บริษัทวางแผนจะลงทุนในสัดส่วนไม่เกิน 1 ใน 3 ของกองทุนและจะเช่าหรือเช่าช่วงโรงแรมทั้ง 3 แห่งมาดำเนินการเองโดยรับประกันค่าเช่าในช่วง 4 ปีแรก คาดว่ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะจ่ายผลตอบแทนประมาณ 7% ต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทยังตกลงจะขายโรงแรมรอยัลปริ้นเซสหลานหลวงแก่บุคคลภายนอกด้วย ดังนั้น ผลประกอบการของบริษัทจากปี 2554 จะรวมผลประกอบการของโรงแรมดุสิตลากูน่าแต่ไม่รวมของโรงแรมรอยัลปริ้นเซสหลานหลวง แม้โรงแรมดุสิตลากูน่าจะมีผลประกอบการค่อนข้างดีและได้ปรับอัตราค่าห้องพักต่อคืนที่สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของบริษัท แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอาจยังไม่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากอัตราค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น การทำรายการดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 53 โดยที่บริษัทจะไม่มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น

บริษัทยังมีความเสี่ยงจากการลงทุนในโรงแรมดุสิตลากูน่าหากไม่สามารถจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ให้สำเร็จ ในการนี้ บริษัทอาจจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มจำนวนมากซึ่งอาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิต บริษัทมีโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจบริหารโรงแรมเนื่องจากชื่อเสียงของดุสิตธานีในฐานะโรงแรมที่มีเอกลักษณ์ในด้านความเป็นไทย

ทั้งนี้ รายได้ค่าบริหารซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงและจะช่วยปรับปรุงความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทนั้นยังคงมีสัดส่วนไม่มาก ปัจจัยที่ควรระมัดระวังคือการลดลงของอัตรากำไรจากธุรกิจโรงแรมและการทำสัญญารับบริหารโรงแรมแห่งใหม่ซึ่งใช้เวลานาน ทั้งนี้ อัตรากำไรที่จะลดลงในอนาคตอาจลดทอนสภาพคล่องของบริษัทในการลงทุนพัฒนาโรงแรมซึ่งส่งอาจผลต่อความสามารถในการแข่งขันและชื่อเสียงของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ