ทริสเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร-ตราสารหนี้ DTAC เป็น AA- แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 15, 2010 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) เป็นระดับ “AA-" จาก “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่เข้มแข็งซึ่งจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่บริษัทยิ่งขึ้น ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงระบบโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กว้างขวาง

ตลอดจนความสามารถของคณะผู้บริหารมืออาชีพที่ยังคงทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งและรักษาตำแหน่งทางการตลาดให้มั่นคงอย่างต่อเนื่อง จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากความไม่แน่นอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม ตลอดจนภาวะอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง และความต้องการเงินลงทุนจำนวนมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้ รวมถึงดำรงผลประกอบการให้อยู่ในระดับดี และรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่งด้วยระดับสภาพคล่องที่เพียงพอแม้บริษัทจะมีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการพัฒนาเทคโนโลยี 3G ในอนาคตก็ตาม

สถานะทางธุรกิจของ DTAC สะท้อนถึงการมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่มั่นคงในฐานะผู้ประกอบธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับ 2 ของไทยทั้งในด้านรายได้และฐานลูกค้า ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 บริษัทมีลูกค้าทั้งสิ้นจำนวน 20.6 ล้านคนและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้อย่างมั่นคงที่ระดับ 30%

สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทมีรายได้และกระแสเงินสดที่แน่นอนซึ่งปรากฎให้เห็นถึงฐานะทางการเงินที่อยู่ในระดับดี ความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทยังคงได้รับแรงหนุนจากตราสินค้าที่มีชื่อเสียงและบริการที่มีคุณภาพผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมซึ่งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์ในรูปของความช่วยเหลือทางด้านบริหารจัดการจาก Telenor ASA ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมจากประเทศนอร์เวย์ด้วย

DTAC มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มีความสามารถในการชำระหนี้ที่ปรับตัวดีขึ้น และมีระดับสภาพคล่องที่ดีเยี่ยม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทมีรายได้ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge :IC) เพิ่มขึ้น 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลมาจากการเติบโตของฐานลูกค้าระบบเติมเงิน (Prepaid) และบริการสื่อสารด้านข้อมูล (Non-voice) ที่มีอัตราการเติบโตสูง

บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (รวมค่า IC) ต่อรายได้จากการขายในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 34.1% เปรียบเทียบกับ 29.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน การควบคุมต้นทุนการดูแลรักษาระบบโครงข่ายและต้นทุนการบริหารที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนผลประกอบการให้ดีขึ้น

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงเรื่อยมาจากระดับ 37% ในปี 2550 เป็น 23.3% ในปี 2552 และ 21% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 ทั้งสถานะสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทก็ยังคงดีเยี่ยม เงินทุนจากการดำเนินงานยังคงความแข็งแกร่งที่ระดับ 18,417 ล้านบาทในปี 2551 และ 16,722 ล้านบาทในปี 2552

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานถึง 10,322 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่ระดับ 60.6% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และอยู่ที่ระดับ 65.6% ณ สิ้นปี 2551 และ 88.1% ณ สิ้นปี 2552 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 11 เท่าในปี 2551 เป็น 14 เท่าในปี 2552 และ 24 เท่าสำหรับ 6 เดือนแรกของปี 2553

บริษัทมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและฐานะทางการเงินที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับความต้องการเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้งแผนการลงทุนโครงข่าย และการชำระหนี้ได้เป็นอย่างดี งบประมาณการลงทุนเพื่อรองรับเทคโนโลยี 3G คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตระยะปานกลาง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทจะสามารถรองรับแผนการลงทุนสำหรับเทคโนโลยี 3G ได้ในอนาคต

จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรในประเทศไทยถึงระดับ 100% เมื่อสิ้นปี 2552 สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 นั้นรายได้อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ไม่รวมค่า IC) เติบโตประมาณ 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2553 อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่น่าจะเติบโตที่ระดับประมาณ 3%-5% ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตในระดับสูงของรายได้จากบริการเสริม (Value-added Service) โดยการแข่งขันในตลาดน่าจะยังคงรุนแรงแต่เป็นไปในทิศทางที่สมเหตุสมผล

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมุ่งเน้นบริการสื่อสารด้านข้อมูลมากยิ่งขึ้นเนื่องจากกระแสความนิยมในการใช้โทรศัพท์แบบ Smart Phone ตลอดจนสังคมเครือข่ายที่ติดต่อสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต (Social Network) และการใช้บริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Internet) อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบยังคงเป็นปัจจัยลบที่สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ