นายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการสายงานการเงินและบริหาร บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC)คาดว่า อัตรากำไรขั้นต้น(gross profit margin)เฉลี่ยในปี 53 จะใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 2/53 อยู่ที่ 10.4% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 5 ปี เป็นการปรับตัวดีขึ้นมาตามลำดับหลังจากอัตรากำไรของบริษัทติดลบในปี 49 จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลดำเนินงานขาดทุนในปีดังกล่าว
ดังนั้น บริษัทจึงเชื่อว่าในปีนี้กำไรสุทธิจะสูงขึ้นจากปีก่อน และมีโอกาสจ่ายเงินปันผลสูงขึ้นด้วย ภายใต้คาดการณ์การรับรู้รายได้เพียง 8 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนที่มีรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้งานใหม่เข้ามาล่าช้า โดยเฉพาะงานภาครัฐที่หายไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
บริษัทคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะรับรู้รายได้ราว 4 พันล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกรับรู้รายได้ไปแล้ว 4 พันล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 4/53 รายได้น่าจะจะสูงกว่าในไตรมาส 3/53 จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางใหญ่-บางซื่อ)ที่ทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งปีนี้จะรับรู้รายได้โครงการดังกล่าวเพียง 1 พันล้านบาท รวมทั้ง ยังรับรู้รายได้งานก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 3 โรง จาก 7 โรงที่บริษัทเพิ่งได้รับงาน มูลค่ารวม 6 พันล้านบาท
"รายได้ปีนี้จะ bottom แล้ว จาก Backlog เดิมที่ไม่ได้มีเข้ามาช่วง 3 ปี แต่ปัจจุบัน Backlog เรามีอยู่ 4.1 หมื่นล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา และเรายังมีโอกาสได้งานขนาดใหญ่อีก ส่วน gross profit margin เชื่อว่า maintain ได้ในระดับที่น่าพอใจ น่าจะอยู่ระดับเดียวกับไตรมาส 2/53 แต่ปีต่อไปจะ slightly drop"นายวรพันธ์ กล่าว
นายวรพันธ์ กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีงานใหม่เข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง ตั้งแต่ระดับ 2.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นงานก่อสร้างอาคาร หรืออาจจะมีเข้ามาสูงจนถึง 6 พันล้านบาท หากได้รับงานด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเข้ามาเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทมีงานที่รอเซ็นสัญญาแล้ว 1.64 หมี่นล้านบาท เป็นงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 1.25 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือน พ.ย.นี้ , งานก่อสร้างอาคารศาลฎีกา 2.36 พันล้านบาท และอีก 3 งาน ส่วนงานในมือ(Backlog)ปัจจุบันอยู่ที่ 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทในปี 54 และในปี 55 จะรับรู้รายได้ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท
นายวรพันธ์ ยอมรับว่า ในปีหน้าอัตรากำไรชั้นต้นจะลดลงมาเหลือประมาณ 8% เพราะมีงานภาครัฐเข้ามามากเป็นสัดส่วน 70% โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง คาดว่ารับรู้รายได้ 4 พันล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่เชื่อว่าในปี 55 อัตรากำไรขั้นต้นจะกลับมาเติบโต จากงานภาคเอกชน โดยเฉพาะงานโรงไฟฟ้าที่มีมาร์จิ้นดี
*ปี 54 ตั้งเป้างานใหม่เข้า 2.4-2.8 หมื่นลบ.ผลักดันให้รายได้โตต่อเนื่อง
นายวรพันธ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าว่าจะมีงานใหม่เข้ามาแต่ละปีต้องมี 2 เท่าของเป้าหมายการรับรู้รายได้ในแต่ละปี โดยปี 54 คาดว่าจะมีงานใหม่เข้ามา 2.4-2.8 หมื่นล้านบาท จากรายได้รับที่จะรับรู้ 1.2-1.4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ งานที่บริษัทเตรียมร่วมประมูล ได้แก่ งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จะเปิดให้ประมูลงานโยธา สัญญา 1 มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท และ สัญญาที่ 2 มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 ซึ่งานวางรางและตัวรถไฟฟ้า คาดว่าจะเปิดประมูลปีหน้า
นายวรพันธ์ กล่าวว่า บริษัทจะเข้าประมูลงานดังกล่าวทั้ง 3 สัญญา โดยสัญญา 1-2 จะเข้าประมูลเองในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ แต่สัญญาที่ 3 จะหาพันธมิตรต่างชาติที่มีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าร่วมประมูล คาดว่าจะรู้ผลราวไตรมาส 3/54 หากเป็นไปตามตารางเวลาที่ต้องใช้เวลา 7-9 เดือน
ส่วนสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ คาดว่าจะเปิดประมูล ไตรมาส 2/54 และ สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ คาดเปิดประมูลไตรมาส 4/54 สายสีชมพู ช่วงปากเกร็ด-มีนบุรี งบลงทุน 3.3 หมื่นล้านบาท เป็นระบบโมโนเรล ภาครัฐเร่งประมูลคาดว่าน่าจะเปิดประมูลได้ปลายปี 54 และสายสีส้ม ช่วงบางบำหรุ-มีนบุรี งบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
รวมทั้งยังมีงานก่อสร้างโรงไฟฟ้า 4 แห่ง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2 โรงๆละ 800 เมกะวัตต์ ได้แก่ โรงไฟฟ้า จะนะ 2 และ โรงไฟฟ้าวังน้อย 4 ซึ่งจะเปิดประมูลเดือน ธ.ค.นี้พร้อมกัน และคาดว่าจะรู้เซ็นสัญญาและก่อสร้างได้ปลายปี 54 ยังไม่นับรวมการก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP ตามแผนของกฟผ. และโรงไฟฟ้าของภาคเอกชน 2 แห่ง โดยมีกำลังการรผลิตแห่งละ 1,600 เมกะวัตต์ คาดว่าแห่งแรกจะเริ่มก่อสร้างและเว็นสัญญาต้นปี 54 และอีกแห่งคาดว่าจะเซ็นสัญญาในต้นปี 55
"ใน 4 โรง ผมว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่เราจะได้งามา อย่างน้อยน่าจะได้ 2 โรง" นายวรพันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีงานศาลรัฐสภาแห่งใหม่ มูลค่างาน 1.1 หมื่นล้าบาท งานสร้างสะพานนนทบุรี มูลค่า 3,700 ล้านบาท และงานรถไฟรางคู่
นายวรพันธ์ กล่าวว่า Backlog ที่บริษัทรับได้เต็มที่ขณะนี้จะแปลงเป็นรายได้ปีละ 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้บริษัทเตรียมเพิ่มวิศวกรเข้ามาอีก 50-100 คนเพื่อรับงานเพิ่มขึ้น และขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เพราะบริษัทยังมีเงินสดหมุนเวียนประมาณ 1 พันล้นบาท และหากไม่พอสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ เพราะปัจจุบันบริษัทไม่มีเงินกู้
"งาน Mass Transit จากนี้ไปจะมีงานออกไปถึง 20 ปี โดยจะมีงานทุกปี และแต่ละสายแบ่งออกเป็นหลายสัญญา ทำให้ไม่มีแรงกดดันในการแข่งขันราคามาก...5 ปีจากนี้ไป ผมคิดว่าเป็นช่วง cycle งานก่อสร้างจะกลับมาเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่จะมา ให้มีงานต่อเนื่องไปที่จะมีงานเข้ามาสม่ำเสมอ ยังไม่พูดถึงงานเอกชน ที่เรื่อง EIA HIA ชัดเจนแล้ว" นายวรพันธ์ กล่าว