(เพิ่มเติม) บลจ.กรุงไทย เปิดขายกองทุน CHINA พ.ย.53 เน้นลงทุน A-Share ในจีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 26, 2010 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย (KTAM) เปิดเผยว่า บริษัทจะนำกองทุนเปิดดับเบิลยูไอเอสอี เคแทม ซีเอสไอ 300 ไชน่า แทร็กเกอร์ (CHINA) กองทุนอีทีเอฟที่สะท้อนผลตอบแทนของกองทุนหลักที่มุ่งให้ผลตอบแทนก่อนหักค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับราคาหุ้นที่ซื้อขายในสกุลเงินหยวน และซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ หรือที่เรียกกันว่าหุ้น A-Shares เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้นักลงทุนไทยทั่วไปมีโอกาสรับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น 300 บริษัทชั้นนำของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่

กองทุน CHINA คาดว่าจะเปิดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ในเดือน พ.ย.53 โดยมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท กองทุนมีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน W.I.S.E. — CSI 300 China Tracker (กองทุนหลัก) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน กองทุนหลักจัดตั้งและจัดการโดย บีโอซีไอ-พรูเด็นเชียล แอสเส็ท แมเนจเมนท์ ลิมิเต็ด ประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบีโอซีไอ แอสเส็ท แมเนจเมนท์ ลิมิเต็ด (ถือหุ้น 100% โดยบีโอซี อินเตอร์เนชั่นแนลโฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด) และบริษัทพรูเด็นเชียล คอร์เปอร์เรชั่น โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด

W.I.S.E. — CSI 300 China Tracker ซึ่งเป็นกองทุนหลักเป็นกองทุนดัชนีที่จดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี CSI 300 ซึ่งประกอบด้วยหุ้น A-Shares 300 บริษัท โดยหุ้น A-Shares คือหุ้นบริษัทจีนที่ซื้อขายในรูปสกุลเงินหยวนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ และตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น และอนุญาตให้ลงทุนได้เฉพาะผู้มีถิ่นฐานในสาธารณรัฐประชาชนจีนและนักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น (Qualified Foreign Institutional Investor (QFII)

นายสมชัย กล่าวต่อไปว่า กองทุน CHINA เปิดโอกาสให้นักลงทุนได้รับประโยชน์จากประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.65 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ กองทุนนี้จะเป็นประตูให้นักลงทุนไทยสามารถรับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของกองทุนหลักที่สะท้อนดัชนีราคาหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่หรือหุ้น A-Shares ได้ นอกจากนี้การที่สัดส่วนราคาของหุ้น A-Shares ที่เคยสูงกว่า H-Shares หายไป ส่งผลให้หุ้น A-Shares เริ่มมีความน่าสนใจกว่าหุ้น H-Shares ซึ่งมีความสมดุลในการกระจายตัวในแต่ละภาคอุตสาหกรรมน้อยกว่าหุ้น A-Shares โดยหุ้น H-Shares นั้นประกอบด้วยหุ้นภาคการเงินสูงถึงกว่า 50% ของตลาด

กองทุน CHINA เป็นการร่วมมือกันระหว่า KTAM และบริษัทจัดการลงทุนที่เป็นที่ยอมรับในด้านประสบการณ์ในการบริหารกองทุนอีทีเอฟ โดยผู้บริหารจัดการกองทุนหลัก ได้แก่ บริษัทบีโอซีไอ-พรูเด็นเชียล แอสเส็ท แมเนจเมนท์ ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของฮ่องกง และมีงานด้านการจัดการลงทุนในตลาดต่างๆซึ่งรวมถึงจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน บริษัทบีโอซีไอ-พรูเด็นเชียล แอสเส็ท แมเนจเมนท์ ลิมิเต็ด ได้รับรางวัล “Lipper Hong Kong Fund Awards 2010", “AsianInvestor Investment Performance Awards 2010" , “Best China A-Shares Award 2010 และ Best Asia Asset Management", “Best of the Best Awards 2009", “Hong Kong — Most Innovation Product 2009" และ “ETF Manager of the Year 2009.

ส่วนที่ปรึกษาของกองทุน ได้แก่ บริษัทโพลาริส อินเตอร์เนชั่นแนล ซิเคียวริตี้ส์ อินเวสเมนท์ ทรัสต์ คอมปานี ลิมิเต็ด (พีเอสไอทีซี) มีความเชี่ยวชาญในตลาดทุนของจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และไต้หวัน โดยในปี 2003 ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ออกกองทุนอีทีเอฟกองทุนแรกในไต้หวันและประสบความสำเร็จอย่างมากโดยสามารถสร้างสถิติโลกในการเป็นกองทุนที่ระดมทุนได้สูงที่สุดในการเสนอขายครั้งแรก นอกจากนี้บริษัทยังได้รับรางวัล “ETF Performance Award — Asia" จากนิตยสาร Asian Investor และ “ETF Manager of the Year — Asia" จากนิตยสาร Asia Asset Management Magazine ในปี 2009

ทั้งนี้ กองทุนอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์สหรัฐฯ และหยวนจีน (สำหรับกองทุนหลัก) และดอลลาร์ฮ่องกงเทียบกับสกุลเงินบาท เนื่องจากกองทุนไม่มีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

นายสมชัย กล่าวอีกว่า การเลือกลงทุนใน กองทุน CHINA เนื่องจากมองว่า ปัจจุบันการลงทุนในจีนมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 2 แซงญี่ปุ่น และหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะนำหน้าสหรัฐ ประกอบกับ ราคาหุ้นในตลาดหุ้นจีนยังถูก โดยค่าพีอีตลาดหุ้นจีนขณะนี้อยู่ที่ 13 เท่า จากที่เคยขึ้นไปถึง 30 เท่า เมื่อปี 50 ขณะที่ค่าพีอีตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 12 เท่า

กองทุนดังกล่าวเหมาะสำหรับการลงทุนในระยะกลาง-ยาว แต่อาจมีความผันผวนบ้าง เนื่องจากเป็นตลาดเกิดใหม่ ส่วนค่าเงินหยวน มองว่าทุกประเทศอาจกดดันให้จีนลดค่าเงิน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเงินบาทของไทย และเงินหยวนของจีนจะมีค่าใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และหากเงินหยวนแข็งค่ากว่าเงินบาท จะยิ่งมีส่วนต่างที่เป็นกำไรได้

"กอง CHINA มีทนจดทะเบียนเริ่มแรก 3 พันล้านบาท โดย ตลาดหลักทรัพย์ ร่วมลงทุน 20 ล้านบาท แต่หากมีนักลงทุนสนใจจำนวนมาก มีโอกาสที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 5 พันล้านบาทได้" นายสมชัย กล่าว

และ ในต้นปี 54 บริษัทเตรียมเปิดขายกองทุนอีทีเอฟต่างประเทศ กองทุน 2 และจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ยังไม่ได้กำหนดประเทศลงทุน แต่จะมีขนาดกองทุนใกล้เคียงกองแรกที่ 3,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ