(เพิ่มเติม) THCOM รับรู้รายได้ไอพีสตาร์ในอินเดียตั้งแต่ ก.ย.53,จีนล่าช้าไปปีหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 27, 2010 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไทยคม (THCOM) เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มรับรู้รายได้จากการให้บริการไอพีสตาร์ในประเทศอินเดียแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา และจะทยอยรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ส่วนบริการไอพีสตาร์ในประเทศจีน ยอมรับว่าคงจะล่าช้าไปเป็นต้นปี 54

ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่ามีผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนของบริการไอพีสตาร์ในต่างประเทศ แต่ยังหวังว่าในปีนี้จะมีกำไรได้

"ยอมรับตอนนี้ค่าเงินบาทที่เงินบาทแข็งค่ากระทบบริษัทเต็มๆ เพราะเรารับรู้รายได้เป็นดอลลาร์เกือบทั้งหมด และบางส่วนก็ส่งผลกระทบต่อลูกค้า อย่าง พม่าที่มีสัญญากู้เงินเป็นสกุลบาท แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการผิดนัดชำระแต่อย่างใด แต่ยังเชื่อว่าปีนี้จะเห็นกำไรสุทธิ เพราะรับรู้รายได้ก้อนใหญ่จากอินเดีย แต่ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้"นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีวิชัยกุล รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายงานการตลาดและการขาย THCOM กล่าว

สำหรับการให้บริการไอพีสตาร์ในจีนคาดว่าจะล่าช้าไปเป็นปีหน้า แม้ว่าจะติดตั้งสถานีฐานแล้วเสร็จไปแล้วก็ตาม แต่ยังไม่มีการเซ็นสัญญา เนื่องจากยังคงมีการศึกษาในรายละเอียด และรัฐบาลจีนมีความกังวลเรื่องปัญหาการเมืองในไทยในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้สัญญาล่าช้า แต่คาดว่าต้นปีหน้าน่าจะเซ็นสัญญาได้ และจะสร้างรายได้ให้ทันที

อย่างไรก็ตาม รายได้จากจีนจะน้อยกว่าประเทศอินเดีย เพราะจำนวนผู้ใช้บรอดแบรนด์ต่ำกว่า รวมถึงกฎหมายของรัฐบาลจีนก็มีความเข้มงวดกว่าอินเดีย

นายยงสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนดาวเทียมไทยคม 6 ยังไม่ได้รับคำตอบจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)ว่าจะให้ดำเนินการสร้างใหม่ หรือ ให้เช่าดาวเทียมดวงอื่นมาใช้แทน ซึ่งส่งผลให้บริษัทสูญเสียลูกค้าบางส่วนไป หากดาวเทียมไทยคม 2 จะหมดอายุกลางปี 54 และดาวเทียมไทยคม 5 ก็ยังไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ

"การลงทุนไทยคม 6 เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และกว่าจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลา 2-3 ปี รัฐจึงต้องมีความชัดเจนว่าจะให้บริษัทสามารถให้บริการดาวเทียมไทยคม 6 ได้หรือไม่ เพราะการสร้างดาวเทียมรัฐก็ได้ประโยชน์จากค่าสัมปทานด้วย"

นอกจากนี้ นายยงสิทธิ์ ย้ำว่าภาครัฐไม่สามารถยึดคืนหรือซื้อดาวเทียมไทยคมทั้งหมดไปเป็นของภาครัฐได้ เนื่องจาก ไทยคม เป็นบริษัทจดทะเบียน และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยกว่า 1.3 หมื่นราย และสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ของบมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น(SHIN) มีอยู่ 41% และกลุ่มรายย่อย 59% ดังนั้น เชื่อว่าการอ้างเรื่องความมั่นคงของประเทศเป็นเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับสัมปทานของบริษัท เพราะกองทุนเทมาเสกของสิงคโปร์ ไม่ได้ถือหุ้นในไทยคม และไม่มีอำนาจการบริหารด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ