(เพิ่มเติม) RATCHเจรจาลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในลาวอย่างน้อย 2 แห่ง ลงทุนราว 1.1 แสนลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 1, 2010 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว อย่างน้อย 2 โครงการ รวมกำลังการผลิตติดตั้ง 1,000- 1,500 เมกะวัตต์ คาดมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 1.1 แสนล้านบาท หรือ 3,750 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทได้ศึกษาความเป็นไปได้แล้ว 2 โครงการโดยจะร่วมทุนพันธมิตรซึ่งบริษัทจะลงทุนสัดส่วนไม่เกิน 50%

"เราคิดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 54 อย่างน้อย 1 โครงการ เรากำลังคุยกับพันธมิตร โดยเราจะเข้าร่วมลงทุน สัดส่วนจะไม่เกิน 50% การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำจะมีต้นทุน 2.5-3 ล้านเหรียญสหรัฐ/เมกะวัตต์" นายนพพล กล่าว

ปัจจุบัน RATCH มีโครงการที่ดำเนินการแล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนารวมประมาณ 5,490 เมกะวัตต์

ส่วนแผนลงทุนโรงไฟฟ้า และ เหมืองถ่านหิน ในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ออสเตรเลีย ในปีนี้ยังไม่ได้ข้อยุติในการเจรจาตามที่คาดไว้ แต่คาดว่าในปี 54 จะสามารถสรุปผลการเจรจาได้สำเร็จ

"การซื้อกิจการในต่างประเทศกำลังคุยกันในรายละเอียด อาจจะยังไม่ได้ในปีนี้ เพราะสู้ต้นทุนไม่ได้"

นายนพพล กล่าวว่า การเจรจาเข้าซื้อโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ 2 โครงการโดยแห่งแรกอยู่ระหว่างเจรจาต่อรอง ส่วนอีกแห่งอยู่ระหว่างการประมูล

ทั้งสองโครงการเป็นโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว จึงยังไม่แน่ใจว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้หรือไม่ เพราะยอมรับว่า การเจรจาต้องใช้เวลานานรวมทั้งมีปัจจัยหลายอย่าง

ส่วนในอินโดนีเซีย มีการเจรจาทั้งโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน ก็ยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา

ขณะที่เวียดนาม บริษัทเห็นว่าคงต้องเรียนรู้อีกมาก หลังจากที่เคยเจรจามาแล้ว ซึ่งมองว่าการลงทุนในเวียดนามไม่ได้ง่ายอย่างที่คาดไว้ ส่วนในออสเตรเลีย มีการเจรจาลงทุนทั้งในโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหิน

ทั้งนี้สอดรับกับกลยุทธ์ของบริษัทขยายกำลังการผลิตทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติมเโดยมีเป้าหมายให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 7,800 เมกะวัตต์ ในปี 59 จากปัจจุบันที่ 5,473 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นการขยายกำลังการผลิตในต่างประเทศ ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ขึ้นไป และพลังงานทดแทน 100 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาท จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 20%

"นับจากนี้ไปหรือใน 5 ปีนี้ คิดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ขยายกำลังการผลิตไปตามเป้าหมาย 7,800 เมกะวัตต์ ซึ่งเราจะใช้ทุกวิธี อาจจะซื้อกิจการ ทั้งการพัฒนาโครงการเอง หรือซื้อกิจการโรงไฟฟ้า ที่ยื่นข้อเสนอดีๆให้เรา โดยการเข้าซื้อกิจการทำให้ให้เราติบโตได้ดี มีสัญญาซื้อขายไฟแน่นอน เพราะไม่มีความเสี่ยง"นายนพพล กล่าว

โดยแหล่งเงินทุนบริษัทจะมาจากเงินสดที่มีจำนวน 10,464 ล้านบาท กำไรสะสม 28,464 ล้านบาท หุ้นกู้ที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้วจำนวน 7,500 ล้านบาท ซึ่งพร้อมออกทุกเมื่อ รวมทั้งเงินกู้สถาบันกาเริงน ซึ่งมัอัตราหนี้สินต่อทุนระดับต่ำที่ 0.58 เท่า

*ปี54 ตั้งงบลงทุน 6 พันลบ.

กรรมการผู้จัดการ RATCH เปิดเผยว่าในปี 54 บริษัทตั้งบลงทุนไว้จำนวน 6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 53 ที่ตั้งงบไว้ 4 พันล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการน้ำงึม 2 , น้ำงึม 3, เซเปียนเซน้ำน้อย, หงสา , โครงการ SPP

ทั้งนี้ โครงการ SPP บริษัทได้ยื่นไป 4 โครงการๆละ 120-130 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ในภาคกลางและตะวันตก คาดหวังจะได้ 1-2 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศผลการประมูลในธ.ค. 53- ม.ค. 54 ทั้งนี้โครงการ SPP บริษัทได้มีพันธมิตรร่วมทุนด้วย

นายนพพล กล่าวว่า โครงการน้ำงึม 2 (ถือหุ้น 25%)กำลังการผลิต 615 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในธ.ค.นี้ ซึ่งอยู่ระหว่างทดสอบระบบอยู่ โดยคาดว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้ให้บริษัทปีละ 500 ล้านบาทซึ่งจะรับรู้เต็มปีในปีหน้า

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ในปี 53 จะสูงกว่าประมาณการ จากที่เคยคาดไว้ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท โดยในงวด 9 เดือนมีรายได้ 3.4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการน้ำงึม 2 หากเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนธ.ค.นี้ ประกอบกับในปีนี้โรงไฟฟ้าราชบุรี เดินเครื่องทดแทนในช่วงน้ำแล้งและน้ำล้น ทำให้บริษัทได้มีรายได้ดีค่อนข้างสูง เพราะได้เดินเครื่องเต็มที่

สำหรับโครงการน้ำงึม 3 (ถือ 25%) กำลังการผลิต 440 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ในปี 54 และอยู่ระหว่างคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการโดยจะเปิดซองราคาในสิ้นปี 53 กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ประมาณปี 60

โครงการเซเปียนเซน้ำน้อย (ถือ 25%) กำลังการผลิต 440 เมกะวัตต์ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว กำหนดเสร็จในปี 60 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา (ถือ 40%) กำลังการผลิต 751 เมกะวัตต์ ได้ลงนามเงินกู้แล้ว 2,783 ล้านเหรียญ จากนั้นจะมีการลงนามสัญญาบริการวิศวกรรมและบริหารงานก่อสร้างกับกฟผ. ซึ่งจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 54 โดยทั้ง 4 โครงการในสปป.ลาวบริษัทใช้เงินลงทุนประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวม 2.16 แสนล้านบาท

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า บมจ.บ้านปู (BANPU) จะขายหุ้นRATCHออกหมดทั้ง 15% นั้น นายนพพล กล่าวว่า หากมีการขายออกมาจริงจะไม่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัท และการซื้อขายหุ้นขึ้นกับกลยุทธ์ของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ