บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ แก่ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) (ICBCT) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ ICBCT สะท้อนถึงสัดส่วนการถือหุ้นเกือบทั้งหมดของผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ Industrial and Commercial Bank of China (หรือ ICBC ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ ‘A’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการสนับสนุนจาก ICBC ในกรณีที่มีความจำเป็น โดยอันดับเครดิตดังกล่าวเทียบได้กับอันดับเครดิตที่ต่ำกว่า 2 ระดับจากอันดับเดรดิตสากลของ ICBC
ICBCT ซึ่งมีขนาดที่เล็กเมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์รวมของ ICBC ยังได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายสาขาต่างประเทศของ ICBC ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยมีขนาดของสินทรัพย์รวม 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐและมีส่วนแบ่งของตลาดเงินฝากอยู่ที่ 17% ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2553
ฟิทช์มองว่าอันดับเครดิตของ ICBC สะท้อนถึงความสำคัญที่มีต่อระบบธนาคารของประเทศจีนและคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนที่มีในระดับสูงจากรัฐบาลจีนในกรณีที่มีความจำเป็น ปัจจุบันรัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 75% ใน ICBC
นอกจากที่ ICBCT มีการใช้ชื่อ ICBC ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ธนาคารยังได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจของ ICBC ทั้งนี้ ICBCT กำลังอยู่ระหว่างติดตั้งระบบ Core Banking คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2554 และจะสามารถทำให้ ICBCT เข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐานของ ICBC ซึ่งรวมถึงระบบในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการด้านต่างๆ
ICBCT ได้มีการปรับกลยุทธ์ในระยะยาวให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของ ICBC โดยเฉพาะการสนับสนุนลูกค้าซึ่งทำธุรกิจระหว่างประเทศไทยและจีน ในส่วนของคณะผู้บริหารทาง ICBC ได้มีการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงเพื่อเข้ามาดูแลการดำเนินงานและยังควบคุมการบริหารงานในระดับคณะกรรมการธนาคาร ฟิทช์มองว่า ICBCT จะยังคงได้รับการการสนับสนุนด้านเงินทุนและสภาพคล่องอย่างเต็มที่จาก ICBC ซึ่งรวมถึงการให้วงเงินที่สามารถกู้ยืมได้กับ ICBCT ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตของ ICBCT
ภายหลังจากนี้ 10 ปี เพื่อไม่ให้ขัดกับข้อกำหนดเรื่องการถือหุ้นของต่างชาติไม่เกิน 49% ICBCT อาจถูกจำกัดเรื่องการเพิ่มทุนใหม่ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์มองว่าข้อจำกัดดังกล่าวไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการเพิ่มทุนของ ICBCT หากมีความจำเป็นในกรณีที่ธนาคารประสบปัญหาทางการเงิน
แม้ว่าสภาวะของธุรกิจในประเทศไทยจะมีความผันผวนสูง ICBCT ยังสามารถมีผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีส่วนสนับสนุนมาจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ในช่วงปี 2551-2552 และการขยายตัวที่สูงของพอร์ทสินเชื่อประเภทเช่าซื้อรถยนต์ (ซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท ลิสซิ่งสินเอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ทาง ICBCT ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด) ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
ICBCT มีกำไรสุทธิปรับตัวสูงขึ้นมาที่ระดับ 526 ล้านบาทในปี 2552 จาก 361 ล้านบาทในปี 2551 และยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 457 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ROA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่อปี) และ ROE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นต่อปี) อยู่ที่ระดับ 0.9% และ 4.6% ตามลำดับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553
อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินทรัพย์ของ ICBCT มีแนวโน้มด้อยลง โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.4 พันล้านบาท (7.17% ของสินเชื่อรวม) ณ ไตรมาส 2/2553 จากระดับ 2.3 พันล้านบาท (หรือ 5% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2551 นอกจากนี้อัตราส่วนการสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ประมาณ 50% ซึ่งมีความเสี่ยงในการที่จะต้องตั้งสำรองเพิ่มอีกและอาจส่งผลกระทบต่อกำไร
แม้ว่าระดับเงินกองทุนของ ICBCT อยู่ที่ระดับ 1.27 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 ซึ่งเป็นระดับของเงินกองทุนที่เล็กเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น แต่ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 แข็งแกร่งที่ระดับ 23.33% แต่อัตราส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่ลดลงจากการขยายตัวของสินทรัพย์ในอนาคต ฟิทช์มองว่าผลประกอบการของ ICBCT น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้าหลังจากการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจของ ICBC และยังมีปัจจัยเสริมจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงระดับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของ ICBC การเปลี่ยนแปลงใดๆในการถือหุ้นของ ICBC รวมทั้งข้อผูกพันและการสนับสนุนของ ICBC ที่มีต่อ ICBCT อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ ICBCT เนื่องจากอันดับเครดิตภายในประเทศเป็นการจัดอันดับในเชิงเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของ ICBC หรืออันดับเครดิตสากลของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของ ICBCT ได้เช่นกัน
ICBCT ก่อตั้งขึ้นในปี 2510 โดยเริ่มจากเป็นบริษัทเงินทุนและได้เปลี่ยนเป็นธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2548 โดยใช้ชื่อธนาคารสินเอเชีย (ACL) ICBC ได้เข้าซื้อหุ้นของธนาคารสินเอเชียในเดือนเมษายนปี 2553 ในสัดส่วน 97.24% หลังจากได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังให้ถือหุ้นในธนาคารแห่งนี้ได้เกินเพดาน 49% และได้เปลี่ยนมาเป็นชื่อที่ใช้ในปัจจุบันในเดือนพฤษภาคมปี 2553 ICBCT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีใบอนุญาตเต็มรูปแบบที่มีขนาดสินทรัพย์เล็กที่สุดของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากน้อยกว่า 1%
ICBCT มีสาขาทั้งหมด 19 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและมีพนักงานกว่า 500 คน