ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดบวก 6.13 จุด ขณะตลาดจับตาประชุมเฟด-เลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 2, 2010 06:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (1 พ.ย.) เพราะได้แรงหนุนจากดัชนีภาคการผลิตที่ขยายตัวแข็งแกร่งของสหรัฐและจีน อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายในตลาดเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนมีท่าทีระมัดระวังก่อนที่การสหรัฐจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสช่วงกลางสมัยในวันที่ 2 พ.ย. และก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 2-3 พ.ย. ซึ่งนักวิเคราะห์เชื่อว่าทั้งสองเหตุการณ์จะมีอิทธิพลต่อภาวะการซื้อขายในการตลาดการเงินสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดบวก 6.13 จุด หรือ 0.06% แตะที่ 11,124.62 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 1.12 จุด หรือ 0.09% แตะที่ 1,184.38 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 2.57 จุด หรือ 0.10% ปิดที่ 2,504.84 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 3.9 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในสัดส่วน 15 ต่อ 14

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ตลาดหุ้นนิวยอร์กดีดตัวขึ้นหลังจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตเดือนต.ค.ขยายตัวขึ้นสู่ระดับ 56.9 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 54.0 จุด หลังจากขยายตัว 54.4 จุดในเดือนก.ย. ซึ่งดัชนีที่เคลื่อนไหวเหนือระดับ 50 จุดบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐมีการขยายตัว

นอกจากนี้ ISM ระบุว่า ดัชนีการจ้างงานในภาคการผลิตขยายตัวขึ้นแตะระดับ 57.7 จุดในเดือนต.ค. จากเดือนก.ย.ที่ระดับ 56.5 จุด ขณะที่ดัชนีการสั่งซื้อสินค้าใหม่ในภาคการผลิตพุ่งขึ้นแตะระดับ 58.9 จุดในเดือนต.ค. จากเดือนก.ย.ที่ระดับ 51.1 จุด

ขณะที่สมาพันธ์โลจิสติกและการจัดซื้อแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนต.ค.อยู่ที่ระดับ 54.7 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน เพิ่มขึ้น 0.9% จากเดือนก.ย.ที่ระดับ 53.8 จุด และนับเป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกันแล้วที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนขยายตัวเหนือระดับ 50 จุด

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นไปอย่างซบเซา เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีท่าทีระมัดระวังก่อนที่การสหรัฐจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสช่วงกลางสมัยในวันที่ 2 พ.ย. และก่อนที่คณะกรรมการเฟดจะจัดประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 2-3 พ.ย. โดยคาดว่าทั้งสองเหตุการณ์จะมีอิทธิพลต่อการตลาดการเงินสหรัฐ นอกจากนี้ ยังเป็นที่คาดการณ์ในวงกว้างว่า คณะกรรมการเฟดจะประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ และจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่ 0-0.25% ในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายยังถูกกดดันหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคเดือนก.ย.ขยับขึ้นเพียง 0.2% น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4% เนื่องจากรายได้ส่วนบุคคลเดือนก.ย.ปรับตัวลดลง 0.1% ซึ่งเป็นสถิติที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่ารายได้ส่วนบุคคลจะเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.ย. ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้สนับสนุนกระแสคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะประกาศใช้มาตรการ QE เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพุธ ADP Employer Services จะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนทั่วประเทศสหรัฐประจำเดือนต.ค. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยยอดสั่งซื้อของโรงงานเดือนก.ย. สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคบริการและดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจเดือนต.ค. และสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์

วันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และเฟดจะเปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนแรงงานต่อหน่วยเบื้องต้นประจำไตรมาส 3 ส่วนวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนต.ค. และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติจะเปิดเผยยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนก.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ