บลจ.ฟินันซ่า ออกกองทุนพันธบัตรภาครัฐโปรตุเกส 11 เดือนคาดผลตอบแทน 2.40%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 3, 2010 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหาร บลจ. ฟินันซ่า เตรียมเสนอขาย IPO "กองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้ต่างประเทศ 11เดือน1" (FAM FFI11M1) ในระหว่างวันที่ 4-10 พ.ย. 53 ซึ่งมีนโยบายเน้นลงทุนในตั๋วเงินคลังหรือพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกส อายุประมาณ 11 เดือน โดยจะทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนที่ประมาณ 2.40% ต่อปี

กองทุน FAM FFI11M1 เป็นกองทุนพันธบัตรโปรตุเกสกองที่ 2 หลังจากที่บริษัทได้ออก "กองทุนเปิดฟินันซ่าตราสารหนี้ต่างประเทศ 12 เดือน 1/10" อายุประมาณ 12 เดือน โดยครั้งนั้นมีอัตราผลตอบแทนที่ประมาณ 3.00% ต่อปี ซึ่งยังคงมีผู้ลงทุนให้ความสนใจสอบถามเข้ามาอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะปิดเสนอขายกองแรกไปแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทได้ติดตามตลาดของประเทศโปรตุเกสอย่างใกล้ชิด และพบว่านักลงทุนทั่วโลกมีความเชื่อมั่นต่อความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสมากขึ้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสและค่าความเสี่ยงด้านเครดิตในตลาด Credit Default Swap ของประเทศโปรตุเกส อายุ 1 ปี ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้การไปเยือนโปรตุเกสของนายกรัฐมนตรีจีนในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิการยน และการเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลโปรตุเกสของประเทศจีนจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนความมั่นใจของนักลงทุนได้อีกทางหนึ่ง

นายธีรพันธุ์ กล่าวอีกว่า ประเทศโปรตุเกสยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่ระดับ A1 (Moody’s) และมีความเสี่ยงด้านความไม่มั่นคงด้านต่างๆ ต่ำ (Event Risk) เนื่องจากเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง และระบบเศรษฐกิจที่กระจายตัว ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่นเกาหลี Moody’s เห็นว่าประเทศโปรตุเกสมีความน่าเชื่อถือดีกว่าเนื่องจากมีความมั่นคงทางการเมืองมากกว่า

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 53 ตลาดคาดว่าร่างงบประมาณ ปี 2554 ของรัฐบาลโปรตุเกสจะผ่านรัฐสภาภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยพรรคฝ่ายค้านอาจงดการออกเสียงแทนการคัดค้านเพื่อให้งบประมาณปี 2554 ผ่านสภาในที่สุด

โดยร่างงบประมาณดังกล่าวปรับลดงบประมาณขาดดุลในปี 2554 ให้เหลือเพียง 4.6% ของ GDP เพื่อแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศ ตามที่ได้เสนอต่อ ECB (The European Central Bank) โดยมาตรการดังกล่าว มีนโยบายลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ เช่น ลดเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างของรัฐ ลดสวัสดิการทางด้านการรักษาพยาบาล ชะลอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มรายได้ของรัฐ โดยขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 21% เป็น 23% ในปี 2554


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ