บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO)ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทซึ่งเป็นที่ยอมรับในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทย รวมทั้งประสิทธิภาพของโรงงานทั้งในด้านการกลั่นน้ำมันและการผลิตอะโรเมติกส์ ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนที่ดีจาก Exxon Mobil Corporation และบริษัทในเครือ (ExxonMobil)
ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความผันผวนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี รวมถึงราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่มีความผันแปรสูง ตลอดจนกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้นของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคเอเชียด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะที่แข็งแกร่งทั้งในส่วนของผลประกอบการและการตลาดในธุรกิจปิโตรเลียมในประเทศไทยเอาไว้ได้ นอกจากนี้ยังคาดว่าบริษัทจะดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอและรักษาฐานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ดีเพื่อรองรับความผันผวนของธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
ESSO เป็นบริษัทในเครือ ExxonMobil โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทเป็น 1 ในโรงกลั่นทั่วโลก 38 แห่งของ ExxonMobil ปัจจุบันผู้ถือหุ้นของบริษัทประกอบด้วย ExxonMobil ในสัดส่วน 66% กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ในสัดส่วน 7.3% และนักลงทุนทั่วไป 26.7%
บริษัทประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) ด้วยกำลังการผลิตสูงสุดที่ 177,000 บาร์เรลต่อวัน และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 16% ของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของไทย ในขณะที่มียอดขายผ่านสถานีบริการน้ำมันภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เอสโซ่" จำนวน 2,500-3,000 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งคิดเป็น 15%-18% ของยอดขายปลีกน้ำมันต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
การดำเนินธุรกิจที่ครบวงจรทั้งโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานอะโรเมติกส์ทำให้ ESSO มีความยืดหยุ่นในการเลือกผลิตผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าระหว่างผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และด้วยเทคโนโลยีและการดำเนินงานตามปรัชญาของ ExxonMobil จึงส่งผลให้โรงกลั่นของบริษัทได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและมีหน่วยผลิตที่มีความพร้อมสูงในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับประโยชน์จากขีดความสามารถระดับโลกของ ExxonMobil ในการจัดหาน้ำมันดิบและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย ในปี 2552 ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัทประกอบด้วยน้ำมันดีเซล (33.8%) น้ำมันเบนซิน (19.3%) รีฟอร์เมต (13.5%) น้ำมันเตา (11.1%) น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (7.7%) และอื่น ๆ (14.6%)
โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยที่ 68.3% ลดลงจากระดับ 79.4% ในช่วงเดียวกันของปี 2552 เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นตามกำหนดในเดือนมีนาคม
นอกจากนี้ ค่าการกลั่นของทั้งอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันจากกำลังการกลั่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นในระหว่างปี 2552-2553 ก็มีส่วนทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของบริษัทลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากบริษัทไม่มีแผนการซ่อมบำรุงในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 รวมทั้งอุปสงค์ของน้ำมันก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ส่วนการผลิตพาราไซลีนก็ลดลงเป็น 154,000 ตันในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 โดยลดลง 22.6% จากช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะอุปทานส่วนเกินและกำไรที่ค่อนข้างต่ำของทั้งอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันนั้น บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่จัดจำหน่ายผ่านสถานีบริการเพิ่มขึ้นจาก 16.64% ในปี 2552 เป็น 17.42% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 แม้บริษัทจะยังมีเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันภายใต้ตราสัญลักษณ์ “เอสโซ่" คงเดิมที่ 537 แห่งก็ตาม
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 บริษัทมียอดขาย 89,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแม้ปริมาณขายจะลดลงก็ตาม โดยยอดขาย 91% มาจากธุรกิจการกลั่นและจัดจำหน่ายน้ำมัน ส่วนอีก 9% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปเทียบกับราคาน้ำมันดิบมีมูลค่าสูงกว่าในปี 2552 ทำให้ค่าการกลั่นของทั้งอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ดีกว่าในปี 2552 เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีค่าการกลั่นที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ซึ่งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับ 5.60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2552 เนื่องจากการบันทึกผลขาดทุนจากการประเมินมูลค่าสินค้าคงเหลือในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับการบันทึกผลกำไรในปี 2552
ฐานะทางการเงินของบริษัทยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ว่าบริษัทจะประสบผลขาดทุนสุทธิ 55 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 4,450 ล้านบาทในปี 2552 อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในระดับดีที่ 2,389 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เมื่อเทียบกับ 3,939 ล้านบาทในปี 2552
ณ เดือนมิถุนายน 2553 บริษัทมีเงินกู้รวม 27,471 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่ 54.26% ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงการลงทุนในโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้ได้ตามมาตรฐานใหม่ (Euro IV) ในปี 2553-2554 งบลงทุนของโครงการอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยบริษัทเตรียมจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการดังกล่าวจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและเงินกู้เพิ่มเติม ส่วนวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนมูลค่า 54,000 ล้านบาทจาก ExxonMobil ก็ช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่งพอที่จะรองรับภาวะผันผวนของราคาสินค้าทั้งในส่วนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมีได้