นายสุรัตน์ เตศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดทุน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายในการนำ บมจ.เนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเทนเม้นท์ หรือ NINE เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้น NINE ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย.53 ในราคาหุ้นละ2.40 บาท มีความต้องการจองซื้อสูงกว่าจำนวนหุ้นที่เสนอขายถึง 5 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
ทั้งนี้ NINE ผู้สร้างธุรกิจจากเนื้อหาสื่อสำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์ที่ให้ความรู้และความบันเทิง และสื่ออื่นๆ เสนอขายหุ้นสามัญ 19 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 15 ล้านหุ้น เสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในกลุ่มเนชั่นกรุ๊ปตามสัดส่วนการถือหุ้น 9 ล้านหุ้น ส่วนอีก 6 ล้านหุ้นเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป
ขณะที่บมจ. เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) ได้นำหุ้นเดิมที่ถืออยู่อีก 4 ล้านหุ้น ออกเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป ส่งผลให้จำนวนหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปมีจำนวนทั้งสิ้น 10 ล้านหุ้น
“ต้องยอมรับว่ากระแสตอบรับดีเกินกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหุ้นที่เสนอขายมีจำนวนไม่มาก โดยมีเพียงแค่ 10 ล้านหุ้น แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด อยู่ที่นักลงทุนมั่นใจในศักยภาพการเติบโตของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มเนชั่นว่า จะมีโอกาสขยายธุรกิจได้อีกมาก ทั้งจากแรงสนับสนุนของภาครัฐที่ต้องการให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการที่ NINE มีแผนจะขยายเข้าสู่ธุรกิจ New Media ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภครุ่นใหม่ นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นที่คึกคัก ก็เป็นปัจจัยสนับสนุนเช่นกัน" นายสุรัตน์กล่าว
ขั้นตอนหลังจากนี้เมื่อผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวมทั้งผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายอีก 2 บริษัท ได้แก่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส และ บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ดำเนินการจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนที่จองซื้อเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำหุ้น NINE เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai และคาดว่าจะเข้าซื้อขายได้ในวันที่ 17 พ.ย.53
ด้านนางเกษรี กาญจนะวณิชย์ กรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ NINE กล่าวว่า เงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้กว่า 31 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในการขยายธุรกิจไปสู่สื่อใหม่ๆ ที่มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และจะทำให้บริษัทก้าวเข้าสู่การเป็น Content Provider ที่มากกว่าการจับต้องได้ในรูปแบบของสื่อสิ่งพิมพ์รวมทั้งการข้าถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อาทิ การออกนิตยสารการ์ตูนฉบับใหม่ การพัฒนาธุรกิจบนสื่อใหม่ (New Media) ที่สามารถนำลิขสิทธิ์ที่ได้จากนักเขียนทั้งในและต่างประเทศไปขยายให้บริการแก่ผู้อ่านผ่านสื่อใหม่ ทั้งเว็บไซต์ โทรศัพท์มือถือ รวมถึงการลงทุนพัฒนาระบบสารสนเทศและพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารคลังสินค้า ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้กับบริษัท