(เพิ่มเติม) ฟิทช์คงอันดับเครดิต IDR ของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ BBB+

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 8, 2010 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term foreign Currency Issuer Default Rating ) ของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ BBB+ โดยให้แนวโน้มมีเสถียรภาพ และยังประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ที่ระดับ C

อันดับเครดิตของ SCB สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งระดับสำรองหนี้สูญและเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งในความเห็นของฟิทช์น่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบ หากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานมีการอ่อนแอลงอย่างรุนแรง ฟิทช์คาดว่า SCB จะสามารถรักษาระดับการทำกำไรที่แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ธนาคารมีการดำเนินธุรกิจทางการเงินแบบครบวงจร แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศจะมีความผันผวน อัตราส่วนที่ใช้วัดความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับใกล้เคียงกัน

สินเชื่อด้อยคุณภาพของ SCB ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 เนื่องจากการจำหน่ายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ อย่างไรก็ตามสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท หรือ 3.3% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551 จาก 1.5 หมื่นล้านบาท (1.7%) ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่บางรายที่ปรับตัวอ่อนแอลง ด้วยสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2553 ที่ปรับตัวดีขึ้น และการปรับปรุงคุณภาพสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงมาอยู่ที่ 4.4 หมื่นล้าน (4.5% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 เทียบกับ 4.5 หมื่นล้านบาท หรือ 4.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552 ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษอยู่ในระดับคงที่ที่ 3.1 หมื่นล้านบาท ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่ปล่อยในช่วงที่เกิดวิกฤติทางการเงินในเอเชีย และสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เกิดใหม่มีปริมาณค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามฟิทช์ให้ข้อสังเกตว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะปรับตัวลดลงอีกเมื่อสภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

ความสามารถในการระดมทุนและสภาพคล่องของ SCB ยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากเครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีฐานเงินฝากลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก โดยอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 95% (รวมตั๋วแลกเงิน) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 สถานะเงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 12.7% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 16.8% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 ขณะเดียวกัน อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 11.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553

เนื่องจากขนาดและความสำคัญของ SCB ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่าไม่น่าจะมีความจำเป็นดังกล่าว เนื่องจากการทดสอบภายใต้สมมติฐานที่เข้มงวด (stress test) ของฟิทช์แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ปัจจุบันอยู่ในอันดับเดียวกันกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย และสูงกว่าอันดับเครดิตสกุลเงินต่างประเทศของประเทศ (‘BBB’) อยู่ 1 อันดับ เนื่องจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคาร ซึ่งน่าจะทำให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบ หากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานมีการปรับตัวตัวอ่อนแอลงอย่างรุนแรง และการถือครองพันธบัตรรัฐบาลในระดับที่ไม่สูงนัก (10% ของสินทรัพย์รวม) รวมทั้งการที่มีการถือหุ้นโดยรัฐบาลในจำนวนที่จำกัด ทั้งนี้หากสถานะทางการเงินมีการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการปรับลดเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร ในขณะเดียวกันการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์เทียบกับธนาคารอื่นในภูมิภาค และความสามารถในการรักษาระดับเงินกองทุน อาจมีผลในเชิงบวกต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน การจัดอันดับเครดิตของตราสารหนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานในการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ดังกล่าวที่ยังสามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ