FSS คาดสิ้นปี53 SET แตะ 1,100 จุด, ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่ในตลาดหุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 8, 2010 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ บล.ฟินันเซียไซรัส(FSS) คาดว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 53 อยู่ที่ 1,100 จุด หลังสหรัฐฯออกมาตรการ QE รอบ 2 ทำให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อ

ส่วนแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยสิ้นปี 54 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1,300 จุด ซึ่งถึงแม้หลายๆฝ่ายอาจมีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีปี 54 จะเติบโตเพียง 4-5% แต่ในภาพรวมก็ยังมองว่าบริษัทจดทะเบียนต่างๆในตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีอัตราการขยายตัวของกำไรอยู่ที่ระดับ 18-19%

"ปีนี้สบายมาก เรามองดัชนีที่ 1,100 จุด ซึ่งก่อนหน้านี้หลายๆฝ่ายคาดว่าอัตราการเติบโตของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 15% ส่วนตลาดฯคาดที่ 18% แต่ปัจจุบันหุ้นขึ้นไปแล้วกว่า 40% ซึ่งส่วนที่เกินมาหลักๆก็มาจากการที่ต่างชาติเข้ามาซื้อต่อเนื่อง"นายวรุตม์ กล่าว

ทั้งนี้บริษัทยังไม่เห็นสัญญาณเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากมองว่าที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยถือว่าค่อนข้างที่จะ Laggard เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ และการที่ตลาดฯปรับตัวขึ้นในช่วงนี้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค ประกอบกับค่า P/E ในปัจจุบันอยู่ที่ 25 เท่า ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในระดับที่จะเกิดฟองสบู่

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเริ่มเห็นสัญญาณเกิดฟองสบู่ในบางกลุ่มเช่น กลุ่มคอนโดมิเนียมที่เริ่มมีอุปทานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังเชื่อว่าภาวะฟองสบู่จะยังคงไม่เกิดในเร็วนี้ๆ ในส่วนของภาพรวมของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มองว่ายังไม่เกิดภาวะฟองสบู่เช่นกัน เนื่องจากราคาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก ทั้งนี้การปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์คิดเป็น 8-10% ของสินเขื่อทั้งหมด ซึ่ง 3-4% เป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการคอนโดมิเนียมซึ่งมองว่ายังเป็นส่วนน้อยถ้าเทียบกับการปล่อยสินเชื่อทั้งหมด

ในส่วนของทิศทางค่าเงินบาทสิ้นปี 53 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และสิ้นปี 54 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมองว่าค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าต่อ เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงไม่ฟื้นตัวและค่าเงิน ดอลลาร์สหรัฐฯยังคงอ่อนค่า

ทั้งนี้คาดว่าทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมีมาตรการออกมาเพื่อควบคุมปัญหาค่าเงินบาทและควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติเพิ่มเติม ซึ่งก็คงเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชีย และในส่วนของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในครั้งต่อไปก็คงจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ แต่เชื่อว่าก็ยังไม่เพียงพอที่จะสกัดกลั้นการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างชาติได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังไม่ฟื้นตัว โอกาสที่เม็ดเงินจากต่างชาติจะไหลเข้ามาทำกำไรในตลาดหุ้นอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็ยังมีอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ