ฟิทช์ฯ คงอันดับเครดิต KBANK แนวโน้มมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 9, 2010 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกสิกรไทย(KBANK) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ รายละเอียดอันดับเครดิตอื่นๆ ซึ่งฟิทช์ประกาศคงอันดับเช่นกัน แสดงอยู่ด้านล่าง

อันดับเครดิตของ KBANK สะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไร คุณภาพสินทรัพย์ และฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร รวมทั้งเครือข่ายการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้ารายย่อย นอกจากนี้ฐานะเงินกองทุนและระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งของ KBANK น่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถรองรับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของคุณภาพสินเชื่อ

ทั้งนี้ในความเห็นของฟิทช์ ปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาคงอันดับเครดิตของธนาคาร ณ อันดับเครดิตในปัจจุบัน นอกจากนี้ KBANK มีสถานะทางการเงินที่อยู่ในระดับที่ค่อนค้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านความสามารถในการทำกำไร

แม้ว่าสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานจะมีความอ่อนแอและมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความสามารถในการทำกำไรของ KBANK ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2553 ผลการดำเนินงานของ KBANK มีกำไรสุทธิ (งบการเงินก่อนตรวจสอบและรวมส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) เพิ่มขึ้นเป็น 15.2 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 36% จากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552) โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินและการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง

อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรวมผลการดำเนินงานของบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินรวมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2552 อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมและอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของ KBANK จึงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.4% และ 14.8% ตามลำดับ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2553 (เทียบกับ 1.2% และ 12.5% สำหรับปี 2552)

ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของ KBANK จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเมื่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งฟิทช์ได้มีการปรับประมาณการการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยขึ้นเป็น 7.2% สำหรับปี 2553 และ 4.3% สำหรับปี 2554

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 KBANK ยังคงเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่ำที่สุดในประเทศไทย โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงลดลงต่อเนื่องเป็น 33.5 พันล้านบาท หรือ 3.3% ของสินเชื่อรวม (เทียบกับ 37.3 พันล้านบาท หรือ 4% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการตัดบัญชีหนี้สูญ

นอกจากนี้สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของธนาคารได้ปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยทรงตัวอยู่ที่ 20 พันล้านบาท หรือ 2% ของสินเชื่อรวม (2.1% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2552) KBANK มีสำรองหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 36.4 พันล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญและหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 108.7% (91.2% ณ สิ้นปี 2552) เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งของ KBANK ปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่ม

การระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KBANK ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายสาขาของธนาคารที่มีฐานเงินฝากที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ประมาณ 93% (รวมตั๋วแลกเงิน หรือ B/E) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 นอกจากนี้ธนาคารยังคงมีการพึ่งพาแหล่งเงินจากตลาดทุนอยู่ในระดับต่ำ เงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 10.6% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 15.4% ของสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (เทียบกับ 10.3% และ 15.2% ณ สิ้นปี 2552) ธนาคารมีอัตราส่วนส่วนผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์อยู่ที่ 9.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (9.7% ณ สิ้นปี 2552)

เนื่องจาก KBANK มีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านเงินฝากที่สูงและมีความสำคัญต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทย ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หากมีความจำเป็น อย่างไรก็ตามภายใต้การทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress test) ธนาคารยังมีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะรองรับสมมุติฐานที่ใช้ในการทดสอบ ดังนั้น ฟิทช์เชื่อว่าความจำเป็นดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้น

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term foreign currency IDR) ปัจจุบันอยู่ในอันดับเดียวกันกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทยและอยู่สูงกว่าเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยที่ ‘BBB’ อยู่ 1 อันดับ เนื่องจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคาร รวมทั้งการถือครองพันธบัตรรัฐบาลที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก (15% ของสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553) และการที่มีการถือหุ้นโดยรัฐบาลในจำนวนที่จำกัด ทั้งนี้หากสถานะทางการเงินมีการปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีการปรับลดเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร ในขณะเดียวกันอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจได้รับการปรับเพิ่ม หากผลกำไรและคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในภูมิภาค รวมทั้งการที่ธนาคารสามารถรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

อันดับเครดิตของตราสารหนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องและมาตรฐานของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ดังกล่าวที่ยังสามารถชำระดอกเบี้ยได้ตามปกติ

KBANK ซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลล่ำซำ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 16% (ณ สิ้นปีเดือนกันยายน 2553) บริษัทลูกที่สำคัญของธนาคารประกอบธุรกิจบริหารกองทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจประกัน ในปี 2552 KBANK ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคาร (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ในบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตขึ้นเป็น 38.3% ในปี 2552 จาก 7.5%

ปัจจุบันหุ้นของ KBANK ได้มีการกระจายการถือหุ้นออกไปในวงกว้าง โดยนักลงทุนต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน) มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันที่ 49% อย่างไรก็ตามตระกูลล่ำซำยังคงมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารในธนาคารและมีตัวแทนเป็นกรรมการในคณะกรรมการของธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ