ส.ประกันชีวิตเผย 9 เดือนเบี้ยประกันรับรวมโต 13.2% ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 10, 2010 11:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สิ้นไตรมาส 3/53 (ม.ค.-ก.ย.) ธุรกิจประกันชีวิตไทยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 13.2 ต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย โดยสมาคมได้กำหนดเป้าหมายในปี 53 อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมจะอยู่ที่ประมาณ 15% ทั้งนี้ เนื่องจากบ้านเมืองเผชิญปัญหาหนักจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.53 และความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจยังคงมีอยู่

สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับรวม(Total Premium) มีทั้งสิ้น 212,189.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระยะเวลาเดียวกันจำนวน 24,663.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.2% เป็นเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก(First Year Premium) 43,875.9 ล้านบาท อัตราการเติบโต 6.2% เบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 22,273.3 ล้านบาท ลดลง 2.8% และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่อไป(Renewal Premium) 146,040.6 ล้านบาท อัตราการเติบโต 18.4% หรือคิดเป็นอัตราความคงอยู่ 89%

บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 บริษัท อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนลแอสชัวร์รันส์ จำกัด(เอไอเอ) จำนวน 64,695.2 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาด 30.5% อันดับที่ 2 บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด จำนวน 25,787.4 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาด 12.2% อันดับที่ 3 บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด จำนวน 22,189.4 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาด 10.5% อันดับที่ 4 บมจ.ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต(SCNYL) จำนวน 18,740.4 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาด 8.8% และ อันดับที่ 5 บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด จำนวน 18,201.9 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนการตลาด 8.6%

หากจะพิจารณาถึงการขยายงานของบริษัทประกันชีวิตต่างๆ สมาคมจะพิจารณาจากเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ (New Business Premium) ซึ่งสิ้นไตรมาส 3/53 มีทั้งสิ้น 66,152.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในระยะเวลาเดียวกันจำนวน 1,942.5 ล้านบาท อัตราการเติบโต 3.0% แยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 43,875.9 ล้านบาท และเบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียว 22,273.3 ล้านบาท

บริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่รวมสูงสุด หรือมีการขยายงานสูงสุด ณ วันสิ้นไตรมาส 3/53 นี้ 5 อันดับแรก คือ อันดับที่ 1 เอไอเอ 13,595.9 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาด 20.6% อันดับ 2 เมืองไทยประกันชีวิต 9,415.1 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 14.2% อันดับ 3 SCNYL จำนวน 6,522.6 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 9.9% อันดับ 4 ไทยประกันชีวิต 6,221.3 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด 9.4% และ อันดับ 5 กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต 5,813.5 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 8.8%

ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาการขยายงานของบริษัทประกันชีวิตต่างๆ แล้ว พบว่าการขายผ่านธนาคารนั้น นับเป็นช่องทางที่สดใสที่สุดในเวลานี้ เพราะจำนวนเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ที่ขายผ่านธนาคารสูงกว่าช่องทางการขายอื่นๆ ติดต่อกัน 7 ไตรมาสแล้วตั้งแต่สมาคมประกันชีวิตไทยได้เก็บรวมรวมข้อมูลเมื่อต้นปี 52 โดยสิ้นไตรมาส 3/53 จำนวนเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ที่ขายผ่านธนาคารสูงถึง 36,051.2 ล้านบาท มีสัดส่วน 54.3%ของเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ทั้งหมด (52 : 50.4%)

ขณะที่เบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จากการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต (Agency) มากเป็นอันดับสองจำนวน 25,710.0 ล้านบาท สัดส่วน 38.8% (52 : 41.1%) ส่วนเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่จากการขายผ่านทางโทรศัพท์หรือไปรษณีย์ (direct marketing) มีจำนวน 1,937.4 ล้านบาท สัดส่วน 2.9% (52 : 4.2%) และเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ที่ขายผ่านช่องทางอื่นๆ (other) อีก 2,636.5 ล้านบาท สัดส่วน 4.0% (52 : 4.4%) แต่หากพิจารณาในภาพรวมของเบี้ยประกันชีวิตรับรวมทั้งหมด ปรากฎว่าช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต ยังคงมีสัดส่วนมากที่สุด คือ 61.5% (52 : 65.4%)

ผู้อำนวยการสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า สมาคมประกันชีวิตไทยมีความหวังว่าเบี้ยประกันชีวิตรับรวมตลอดทั้งปี 53 จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 330,000 ล้านบาท หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถจัดสรรเงินสำรองของเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญได้ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน คปภ. แทนจัดสรรตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากรที่ 65% ของเบี้ยประกันภัย นอกเหนือจากที่ได้อนุญาตให้ผู้เอาประกันภัยที่ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตจากกรมธรรม์ประกันชีวิตดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้เพิ่มอีก 200,000 บาท แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้ทั้งปี รวมเป็นปีละไม่เกิน 300,000 บาท

แต่ทั้งนี้ การช่วยเหลือทั้งสองประการ ทั้งการแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องเงินสำรองฯ และเรื่องการเพิ่มการลดหย่อนด้านภาษีจะเอื้อประโยชน์ให้จำนวนเบี้ยประกันชีวิตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15% ได้ต่อเมื่อภาครัฐได้ประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนภายในเดือน พ.ย.53 เพื่อภาคเอกชนจะได้ทำการประชาสัมพันธ์จูงใจให้ประชาชนสนใจทำการประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้นได้ทันภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยรัฐทางอ้อมในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุของประเทศต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ